ยกทัพ Ultrabook เฟสสอง ขุมพลัง Intel Core 3rd generation : Page 1 (1/1)
...เมื่อวานนี้อินเทลประเทศไทย ก็ได้จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวแพลตฟอร์ม Ultrabook ในเฟสที่ 2 ซึ่งมีการนำเอาเทคโนโลยีโปรเซสเซอร์อย่าง Intel Core i 3rd generation มาบรรจุลงไปในแพลตฟอร์ม Ultrabook อย่างเป็นทางการ พร้อมๆกันกับที่ไต้หวันในงาน Computex ไปเรียบร้อยแล้วครับ สำหรับวันนี้ผมก็จะกลับมากล่าวถึง Ultrabook ในเฟสที่สอง หลังจากที่เราน่าจะพอได้ทราบกันไปบ้างแล้วในบทความรีวิวเครื่อง Ultrabook ก่อนหน้านี้หลายๆชิ้นที่ผมได้เคยเขียนขึ้นไปแล้ว ส่วนรายละเอียดของซีพียูในตระกูล 3rd generation หรือ Ivy-bridge ท่านก็สามารถหาได้จากบทความเก่าๆของเราเช่น ซึ่งในบทความนั้นจะกล่าวถึงเวอร์ชั่นเดสก์ทอพที่จะมีเรื่องราวที่คล้ายคลึงกับเรื่องราวในวันนี้ครับ
ภายในงานนั้นมีการจัดแสงสีและเวทีอย่างสวยงาม น่าประทับใจ และสร้างสรรค์มากเลยทีเดียว เริ่มจากการแสดงที่สื่อถึงความสามารถในการตอบสนองและการทำงานของ Ultrabook ให้ได้ชมกันก่อน
คุณเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ ประธานกรรมการผู้จัดการบริษัท อินเทล ไมโครอิเลกทรอนิกส์ ประเทศไทย ก็ได้มาบรรยายเกี่ยวกับภาพรวมและรายละเอียดของ Ultrabook ในเฟสที่ 2 นี้ด้วยตนเองเกือบจะตลอดงานแถลงข่าวเลยทีเดียวครับ
...อินเทลได้พูดถึงภูมิหลังของ Ultrabook ที่เราได้ทราบกันดี เมื่อปี 2011 ได้ถือกำเนิด ultrabook โดยอินเทลได้ทุ่มเงินลงทุนถึงกว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อตั้งเป็นงบประมาณในการออกแบบและวิจัยให้ผู้ผลิตโน๊ตบุ๊กแพลตฟอร์ม ultrabook ทั้งในเรื่องของตัวชิปซีพียูเอง และเรื่องของระบบระบายความร้อน ส่งผลให้มีต้นทุนในการพัฒนาสำหรับผู้ผลิต OEM หลายๆเจ้าถูกลง และสามารถออกสู่ตลาดได้เร็วยิ่งขึ้น
...องค์ประกอบหลักๆของ Ultrabook นั้นก็อย่างที่ผมได้เคยบอกไปแล้วคือความหนาไม่เกิน 18 มิลลิเมตร สำหรับเครื่องไซส์ต่ำกว่า 14 นิ้ว และสำหรับ 14 นิ้วขึ้นไปจะต้องไม่เกิน 21 มิลลิเมตร ซีพียูรุ่นที่ optimize มาสำหรับ ultrabook นั้นจะไม่มีซอกเก็ต จะใช้วิธีการเชื่อมติดลงบนแผงเมนบอร์ด ตลอดจนฮาร์ดไดร์ฟทั้งแบบ HDD และ SSD ที่มีขนาดบางลง รวมไปถึงหน้าจอที่มีขนาดบางกว่าแต่ก่อนเป็นอย่างมาก
...ในเฟสที่สองนี้อินเทลได้กล่าวไว้ว่าพวกเขาประสบความสำเร็จในการพัฒนา ultrabook โดยในเฟสที่สอง มีผู้ผลิตโน๊ตบุ๊กผลิต ultrabook มากกว่า 110 โมเดล และหลังจากนี้ก็จะเริ่มมี ultrabook สำหรับกลุ่มลูกค้าองค์กรจากผู้ผลิตชั้นนำ ตลอดจนมีขนาดหน้าจอให้เลือกใช้หลากหลาย และมีราคาที่ถูกลง คุณเอกรัศมิ์ ได้กล่าวว่า ถ้าพูดถึงราคาในไทย ในเฟสแรกเราจะเห็นเริ่มต้นกันที่ 29900 หรือแพงกว่านั้น แต่สำหรับเฟสที่สอง เราอาจได้เห็นตัวเลข 25900 หรือ 26900 สำหรับราคาเริ่มต้นครับ
...ซึ่งสิ่งที่เราๆท่านๆทราบกันดีในกลุ่มชิปที่เป็น 3rd generation ของอินเทลนั้นก็คือเทคโนโลยีการผลิตระดับ 22 นาโนเมตร ตัวแรกของอินเทล ตลอดจนเทคนิคการผลิตแบบ Tri-gate transistor แบบแรกในโลก ส่งผลให้มีประสิทธิภาพการประมวลผลดียิ่งขึ้น รวมไปถึงหน่วยประมวลผลกราฟฟิคภายในซีพียูตัวใหม่อย่าง Intel HD4000 ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและสนับสนุน DirectX 11 ตัวชิปเซ็ต ซีรียส์ 7 ที่มีการสนับสนุน USB 3.0 ด้วยคอนโทรลเลอร์ภายในตัว และเรื่องของ Thunderbolt ที่เป็นพอร์ตเชื่อมต่อความเร็วสูงแบบใหม่ ที่ให้แบนด์วิดท์สูงเกือบเท่าๆ PCI-Express 1-2x ซึ่งเท่าที่ผมทราบ Thunderbolt นั้น ในอนาคตอินเทลวางไว้ให้มันเป็น industrial standard เหมือนๆกับ USB นี่แหละครับ ประโยชน์ของมันก็คืออาจจะมีไว้สำหรับเชื่อมต่ออุปกรณ์ที่ต้องการแบนด์วิ ทสูงๆอย่างพวก storage สมัยใหม่ หรืออุปกรณ์เพิ่มสมรรถนะเครื่องอย่างกราฟฟิคการ์ด
...นอกจากนี้ก็ยังมีการสาธิตฟีเจอร์ใหม่ๆอย่าง Anti theft ที่เป็นระบบกันขโมยโดยที่จะทำการล็อคและสามารถติดตามตัวเครื่องได้ผ่านระบบออนไลน์และจะมีการล็อคเครื่องในระดับ ชิปเซ็ตและไบออส กล่าวคือหากท่านนั่งทำงานอยู่ร้านกาแฟแล้วเครื่องถูกขโมยไป เครื่องที่มี Anti-Theft นั้นจะรู้ตัวว่าตัวเองถูกขโมยก็ต่อเมื่อตัวมันเริ่มรู้สึกได้ว่าสัญญาณจาก wireless accesspoint ที่เชื่อมต่ออยู่อ่อนลง หลังจากนั้นมันก็จะร้องเตือนว่าถูกขโมย และล็อคตัวเอง ทางเดียวที่จะปลดล็อคคือต้องเข้าไปทำการใส่รหัส master password เองก่อนที่เครื่องจะทำการ boot ขึ้นมา Anti-Theft นั้นเป็นฟีเจอร์ในระดับชิปเซ็ต ที่ต้องมีการเปิดทำงานด้วยซอฟท์แวร์จากผู้ให้บริการรายย่อย ซึ่งในตอนนี้อินเทลก็ได้เปิดให้บริการนี้แล้วครับ นอกจากอินเทลแล้วก็ยังมีผู้ผลิตซอฟท์แวร์ชั้นนำอย่าง Mcafee หรือ Norton ที่ให้บริการในทำนองนี้อีกด้วยเช่นกัน
...ส่วนถัดมาก็จะเป็นการแสดงสมรรถนะของกราฟฟิค Intel HD4000 เทียบกับ Intel HD3000 ในการเล่นเกม Far-cry โดยภาพรวมแล้วก็พบว่าลื่นไหลกว่ากันพอสมควร ตลอดจนมีการแสดงความสามารถในการทำ Quick-Sync ที่ปกติแล้วใน 2nd gen นั้นจะมี Quick-Sync ก็เพียงแค่ในชิปเซ็ตและซีพียูบางรุ่นเท่านั้น แต่ใน 3rd gen อินเทลได้ยืนยันว่า หากใช้งานกราฟฟิคอินติเกรต Intel HD สามารถใช้งาน Quick sync ได้ในทุกๆรุ่นแน่นอนครับ Quick-Sync คือเทคนิคที่อินเทลใช้ในการเพิ่มความเร็วให้กับการประมวลผลที่ซับซ้อนอย่างเช่นการแปลงไฟล์วีดีโอ โดยใช้ตัวประมวลผลกราฟฟิคที่มีคุณสมบัติในการประมวลผลงานจำพวกนี้ได้ดีกว่า ช่วยในการทำงาน
ภายในงานนอกจากการแถลงข่าว ก็ยังมีขบวนพาเหรด ultrabook และ notebook ตลอดจนการสาธิตแสดงสมรรถนะของ Intel Core 3rd generation ให้ได้ชมกัน
อันนี้ก็คือ Zenbook ที่เราคุ้นเคยกันดี
Acer Aspire S5 ที่เปิดตัวไปเมื่อวันก่อน
Toshiba ก็นำเอา Ultrabook มาโชว์เช่นกัน
.
.