ปัญหาเกมส์ออนไลน์กับสังคมไทย

/ บทความโดย: admin , 08/12/2004 21:09, 2,600 views / view in EnglishEN
Share

 


      สวัสดีครับพี่ๆ น้องๆ ชาว Vmodtech ทุกท่าน วันนี้ถึงตาเสนาธิการแก๊งถั่วเขียวฯอย่างผมออกโรงมั่งแล้ว!!!  วันนี้ขอหลบเรื่อง โคตร-ร้อน-แรง-รุม-กระทำ-ชำแหละ โม แบบพี่ๆ webmaster คนอื่นนะครับ


      เรื่องที่จะเอามาคุยกันก็ไม่ใช่อะไรมากหรอกครับ เป็นเรื่องใกล้ๆ ตัวชาวคอมๆ อย่างเรานี่แหละ แต่เพื่อนๆ หลายคนคงไม่ค่อยจะได้สนใจ แต่ความจริงแล้วเป็นปัญหาใหญ่นะครับ ไม่ใช่อะไรครับ เกมส์ออนไลน์นั่นเอง !


      ผมเชื่อว่าเพื่อนๆ หลายๆ เคยเล่นเกมส์ออนไลน์เหมือนกับผมแต่ละคนอาจจะติดงอมแงมกันมากบ้างน้อยบ้างตามแต่สำนึกในชีวิตของตน แต่สภาพที่เราเห็นในสังคม ประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันอย่างหนักหน่วงก็คือ อาการติดเกมแบบติดยาเสพย์ติดของเด็กไทยในปัจจุบันจนต้องหาร้อยแปดพันเก้ามาตราการมาแก้ไข


ผมได้ยินคำพูดเหล่านี้บ่อยเหลือเกิน - -”


“เด็กไทยติดเกมส์ออนไลน์ประหนึ่งติดยาเสพย์ติด มีทั้งเล่นจนตายคาเครื่อง ปล้นเงิน ขโมยของเอามาเล่นเกมส์ รวมไปถึงร้านเกมส์ หรือร้านอินเตอร์เน็ตเป็นแหล่งมั่วสุมของเยาวชน!!!! “


อะไรกันเนี่ย ?????


ผลที่ตามมาคืออะไร ?? อย่างที่ทุกๆ ท่านเห็นเหมือนกับผมนั่นหละครับ มีการออกกฏหมาย ออกข้อห้ามต่างๆ มากมายสารพัดวิธีในการ “ห้าม” ไม่ให้เด็กเล่นเกมส์


เป็นต้นว่า


กฏ :: .เด็กอายุต่ำกวา 18 เล่นได้ไม่เกิน 4 ทุ่ม ส่วนผู้ใหญ่ที่เกิน 18 เล่นได้ 24 ชั่วโมง                                                           


ผลลัพธ์ :: ล้มเหลวอย่างแรงนิ                                                


สาเหตที่ล้มเหลว :: เด็กมีพ่อแม่ผู้ปกครองเพื่อน ที่สามารถขอใช้รหัสบัตรประชาชนมาลงทะเบียนได้ แม้กระทั่งของทางเกาหลีผู้ผลิตเกมส์เองยังมีโปรแกรมเมอร์สร้างโปรแกรมจำลอง ID บัตรประชาชนเพื่อใช้ลงทะเบียนเล่นเกมส์ได้


กฏ :: ห้ามร้านอินเตอร์เน็ตให้เด็กเข้าเล่นเกมส์เกินเวลา 4 ทุ่ม


ผลลัพธ์ :: ล้มเหลวอีกเช่นกันนิ                                               


ยกตัวอย่าง :: ลองไปเดินดูตามร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ หรือร้านบริการเกมส์ออนไลน์อย่างเดียว คุณก็ยังสามารถพบเจอเด็กๆ ตัวกะเปี๊ยกเท่าเม็ดถั่วยันผู้ใหญ่แบบแก่โคตร เล่นกันโต้รุ่ง 3 วันไม่ออกจากร้าน อยากกินข้าวสั่งเข้ามา อยากกินน้ำสั่งเข้ามา เล่นกันแบบไม่ลุกเลย


กฏ (ล่าสุด) :: ป้องกันไม่ให้เด็กเล่นเกมส์เกิน 3 ชั่วโมงต่อวัน


ผลลัพธ์ :: ไม่อยากจะคิด                                                      


ยกตัวอย่าง :: ดูลูกหลานและเพื่อนๆ ของเราได้


            เราลองมาวิเคราะห์กันดูหน่อยกับปัญหาโลกแตกนี้ รวมถึงการแก้ปัญหาต่างๆ ของทางภาครัฐด้วย(ตามความรู้งูๆ ปลาๆ ของผม)



1.เกาไม่ถูกที่คัน :: ไม่ต้องคิดอะไรมากมายให้ปวดหัวครับ การห้ามให้เด็กไม่ได้เล่นอะไรสักอย่างที่เขาต้องการก็เหมือนจับเขาใส่ตะราง ธรรมชาติของเด็กก็คือต้องเล่น !! เด็กบ้าที่ไหนไม่เล่น จะเล่นอะไรก็ช่างเหอะ จะเล่นรถพลาสติก เล่นหุ่นยนต์ เล่นม้าก้านกล้วย เล่นกระโดดยาง ฯลฯ เพียงแค่พวกเราไม่เข้าใจว่า ในชั่วโมงนี้เทคโนโลยีมันพัฒนาไปเร็วขนาดไหน เรายังคงยึดติดกับหลักเหมือนกับสมัยก่อน โดยไม่ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงในสังคมเรา ทุกวันนี้เด็กที่เกิดมาแทบจะทุกคน ลืมตามาพร้อมกับคอมพิวเตอร์วางอยู่ตรงหน้าแล้ว แหล่งบันเทิงมันวางอยู่ตรงหน้าเขา ผู้ปกครองหามาประเคนเพื่อหวังว่าจะเป็นเครื่องมือพัฒนาลูกของตัวเอง หน้าบ้านเขาไม่ได้มีป่ายาง ไม่มีสวนกล้วย ไม่มีนาข้าว หรือสระน้ำให้โดดน้ำตูมๆ ตอนนี้เขามีทีวี มีอินเตอร์เน็ต มีเกมส์คอมพิวเตอร์ มีเอ็มทีวี มีมือถือ มีรายการโทรทัศน์ให้ส่ง sms เข้าแสดงความคิดเห็น หน้าบ้านเขาเป็นลานซีเมนต์กับสี่แยกมีแต่รถวิ่งผ่านไปมา จะออกนอกบ้านก็เจอแต่ห้างสรรพสินค้า ร้านอินเตอร์เน็ต เขาไม่มีโอกาสมาเล่นเป่ากบ เล่นการ์ดหรือจับแบงก์กาโม่ !?


               แล้วสื่อบันเทิงสมัยใหม่มันมีความดึงดูด ตอบสนองผู้เล่นได้ สร้างความอยากให้กับผู้บริโภคและต้องแสวงหามันเรื่อยๆ มันก็คือหลักการตลาด ของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมมิใช่หรอกหรือ ?


               ถ้าเราเข้าใจเสียว่าเด็ก-เกิด-มา-ต้อง-เล่น ในชั่วโมงของเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ขี่เครื่องบินเจ็ทตามยังไม่ทันเลย เราก็คงมีวิธีในการแก้ปัญหาที่ดีกว่านี้ ไม่จำเป็นต้องเอางานวิจัยจากต่างประเทศมาอ้างนู่นอ้างนี่เช่น เล่นเกมส์แล้วโง่ลง เล่นเกมส์แล้วจะเป็นเด็กเก็บกดชอบความรุนแรงจนถึงหยิบปืนมาฆ่าคน ซึ่งฟังแล้วดูสะอิดสะเอียนจนถึงขั้นกระดากหูว่าคนพูดเอาติ่งไหนมาคิด??


             ทำไมไม่เปิดใจให้กว้างๆ บ้างว่า เด็กของพวกเราที่เก่งคอมพ์จนมายืนกันบนจุดนี้ได้เขาผ่านอะไรมาบ้าง แรงดึงดูดแรกของการศึกษาศาสตร์คอมพิวเตอร์( หรือคณิตศาสตร์ประยุกตร์ดีๆ นี่เอง) ของเด็กๆ ไม่ได้มาจากเกมส์หรอกหรือ? ลองไปถามเหล่านักโอลิมปิควิชาการตัวน้อยๆ ที่เราภาคภูมิใจกันหนักหนาเป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศดูสิครับ พวกเขาล้วนผ่านการเล่นเกมส์มาก่อนทั้งนั้น



2.การศึกษาสอนให้เราโง่???


             ประเด็นไม่ได้อยู่ที่เล่นหรือไม่เล่นเกมส์ มันอยู่ที่เราไม่เข้าใจและไม่รู้ เด็กที่มีปัญหาออกข่าวกันโครมๆ ฆ่าคนนู้นมั่งหละ ขโมยตังค์มาเล่นมั่งหละ ต้นเหตุมันไม่ได้อยู่ที่ “สำนึก” หรอกหรือครับ ถ้าผมจะบอกว่า เด็กส่วนใหญ่คิดไม่เป็นน่าจะเข้าใจง่ายกว่า


            ระบบการศึกษาประเทศไทยไม่ได้พัฒนาสมองส่วนไหนของเด็กเลย พวกเราเรียนกันตั้งแต่ตีห้ายันห้าทุ่ม เราเรียนกัน เรียนๆๆๆๆ จนคิดว่าตัวเองเก่ง ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรเลย เรายึดกันที่เปลือก เรามัวแต่ดูชื่อว่าเราสอบเอ็นท์ติดคณะอะไรกันบ้าง มหาวิทยาลัยไหนบ้าง เราสักแต่ท่องจำ เราสักแต่ทำโจทย์ คณิต ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ เรากระเสือกกระสนหาภาษาที่สามมามาเชิดหน้าชูตาตัวเอง เราสอนให้เด็กรับๆๆๆ แล้วก็จำๆๆๆ ไม่สอนให้คิดๆๆๆ เอนทรานซ์คือชีวิตของเด็ก ถ้าเอ็นท์ไม่ติดก็โง่กว่าควาย เป็นตราบาปไปทั้งชีวิต !?              


             สิ่งเหล่านี้คืออัตลักษณ์ของเด็กเดี๋ยวนี้งั้นหรือ ตัวตนที่สังคมคาดหวังในเด็กคือแบบนี้หรอกหรือ เด็กที่คิดไม่เป็น เก่งแต่วิชาการ เรื่องทางสังคมไม่ได้เรื่อง


             แล้วเด็กจะไปรู้ได้ไงครับว่าเล่นเกมส์กี่ชั่วโมงถึงพอดี เล่นเกมส์กี่ชั่วโมงถึงไม่โง่ หรือเล่นแล้วจะเลิกเมื่อไร?


             ถ้าจะไปด่าเด็กว่าไร้สำนึก คงต้องหันกลับไปถามคนพูดหละครับว่า สำนึกที่ “ว่าดี” นั้นใครเป็นคนสอน ? 


            อาการที่เด็กเล่นเกมส์แอคชั่น ฆ่ากันโหดร้ายเลือดสาดกระจายแล้วหยิบปืนขึ้นมายิงคนนั้นมันมีสักกี่คนในโลก ออกข่าวกันมากี่ครั้ง ? แน่นอนว่าเห็นแล้วก็อนาถใจแต่เราจะไปโทษเกมส์ทั้งหมดเสียก็ไม่ได้ เราต้องดูถึงสภาพแวดล้อมของเขาด้วย ต้องดูครอบครัว ดูการศึกษา มันมีหลายปัจจัยมาประกอบกัน ไม่ใช่เห็นว่ามีข่าวออกมาทีว่าเด็กไปทำนู่นทำนี่ซึ่งสาเหตุนั้นอ้างว่ามาจากเกมส์ ก็เลยออกมาตั้งกฏกันใหม่ตามรายสะดวก พอไม่มีเรื่องก็ปล่อยวาง ทำเฉย นี่หรือการแก้ปัญหาของไทยเรา ?? นี่ยังไม่ต้องพาลไปถึงเรื่องอื่นๆ อย่างการพัฒนาบุคลากรทางด้าน IT หรือการแก้ปัญหา Cd เถื่อน, การสนับสนุนการพัฒนาวงการ IT ในบ้านเรา อีกต่างๆ นาๆ แค่ประเด็นเกมส์ออนไลน์ก็ไม่อยากจะเอามาคิดแล้วครับ มันไม่ต่างอะไรเลยกับการใช้มือถือถ่ายรูปโป๊ลงอินเตอร์เน็ต เด็กวัยรุ่นบ้าช๊อบปิ้งกับบ้าโทรศัพท์ ติดโทรศัพท์งอมแงม มันก็โรคเดียวกันทั้งหมด


             คำถามสุดท้ายคือ แล้วใครเล่าที่สนับสนุนผลักดันเทคโนโลยีการสื่อสาร ทั้งมือถือ ทั้ง Wireless Connection ทั้ง Broadband Internet ??? นักลงทุนเหล่านั้นคิดอะไรบ้างมั้ยว่าเมื่อมีเทคโนโลยีเหล่านี้จะสร้างผลกระทบต่อสังคมเราอย่างไร จะมีอะไรตามมาบ้างและควรรับมืออย่างไร หรือคิดแต่ว่าเงินคือพระเจ้า ?? เห็นอย่างนี้แล้วก็น่าเป็นห่วงครับ สังคมไทยเราชักจะอาการหนักขึ้นทุกวัน


3.ทางออกที่ดี :: มีด้วยหรือ ??


            ครับ ก็อ่านกันมาจนตาลาย จนหลายคนนึกด่าว่าผมเขียนอะไรมากมายอ่านแล้วตาลายคล้ายจะเป็นลม ปัญหาที่เด็กเราติดเกมส์กันเยี่ยงนี้ก็คงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งตัวผู้ปกครอง ผู้ให้บริการเกมส์ และตัวเด็กเองด้วยแต่ทั้งหลายทั้งปวงในการแก้ปัญหานี้มันก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุนั่นหละครับ อย่างที่ผมกล่าวไปข้างต้น 2-3 ข้อ มันเป็นปัญหาที่ตัวระบบซึ่งมีปัจจัยมาจากทั้งการศึกษา การเลี้ยงดู และระบบเศรษฐกิจของเรารวมถึงสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปด้วยนั่นแหละครับ ถ้าเราหันมาเข้าใจและเอาใจใส่ พินิจพิจารณาต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหา ไม่ใช่ว่าอะไรก็โยนให้เกมส์กับเด็กเป็น “แพะ” ไปเสียหมด ลองนึกกลับกันว่าถ้าไม่มีการโหมประโคมโฆษณาสนับสนุนการลงทุนภาคการสื่อสารอย่างไม่คิดชีวิตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?


              ถ้าคนมันไม่เห็นมันก็ไม่อยากถูกมั้ยครับ ถ้าเด็กวัยรุ่นไม่เห็นมือถือรุ่นใหม่ ไม่เห็นโปรโมชั่นลดกระหน่ำ โทรฟรีนาทีละบาท (ดูเหมือนคุ้มแต่ก็ทำให้คนขายมันได้กำไรอยู่ดี) ไม่เห็นมือถือถ่ายรูปได้ ถ่ายวิดีโอได้ จะมีปัญหาเหล่านี้ตามมามั้ย ? ถามเหมือนขวานผ่าซากทั้งๆ ที่มันเป็นไปไม่ได้จริงมั้ยครับ เรารับมาได้แต่เราก็ควรจะแก้ปัญหาจากสิ่งที่เรารับมาได้ด้วยไม่ใช่สักแต่รับ



              วันนี้ผมนาย Chobits น้อยๆ ขอลาเพื่อนๆ ชาว Vmodtech ไปก่อนครับ ถ้าพาดพิงหรือแรงไปก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ .. อิอิ บายครับผม วันหลังจะหาเรื่องชวนปวดหัวมาให้อ่านกันอีกคร้าบบบ

ขอเชิญเพื่อนสมาชิกทุกท่าน ร่วมวิจารณ์บทความนี้โดยการ คลิกที่นี่ครับ

Bookmark บทความ : Zickr Kudd Duocore Techkr aJigg Oncake Lefthit Meetgamer Siamcollective TagToKnow Dunweb Digza