เปิดตัว Acer Aspire S5 Ultrabook, New S3, Timeline U และ Slimnote
Share | Tweet |
….สำหรับวันนี้นอกจากจะเป็นการอัพเดตข่าวคราวจากทางไต้หวันแล้ว ผมเองก็ขอนำทุกท่านกลับมาชมบรรยากาศในเมืองไทย ที่เรียกได้ว่ากำลังคึกคักกันเลยทีเดียวหลังจากที่อินเทลได้เผย Intel Core 3rd generation processor ไปสักระยะก่อน ซึ่งในช่วงเทศกาลนี้ก็ถือได้ว่าเป็นช่วงของการเปิดตัว 3rd generation ของอินเทลในส่วนของ mobile platform (ที่งาน Computex ที่ไต้หวันก็เปิดตัวพร้อมๆกับเรานี่แหละครับ) และแน่นอนว่าเทรนด์ส่วนใหญ่ของปีนี้นั้นคงจะหนีไม่พ้นเรื่องของ Ultrabook ซึ่งสำหรับบทความในวันนี้จะเป็นเรื่องราวของทาง Acer ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ยอดขายเครื่องโน๊ตบุ๊กอันดับ 1 สำหรับคอนซูเมอร์ ในไทยตลอดกาล มาให้ได้ชมกันครับ ซึ่งก็ต้องขอเปรยๆกันอีกนิดนึงว่า สำหรับบทความในวันถัดไปนั้นผมจะพาท่านไปชม showcase จากทาง Intel โดยตรง ที่จริงๆแล้วเป็นงานแถลงข่าวของวันนี้วันที่ 6 แต่ผมไม่สามารถนำบทความขึ้นได้ทันนั้นเองครับ
“นายนิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายบริหารการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด กล่าวว่า เอเซอร์พร้อมแล้วที่จะให้ลูกค้าได้สัมผัสกับประสบการณ์ของที่สุดแห่งความบาง พร้อมรุกตลาดอัลตร้าบุ๊ก แบบฟูลไลน์ด้วย Aspire S5 UltrabookTM, New Aspire S3 UltrabookTM และ Aspire M5 Timeline U UltrabookTM โดยชูธง Aspire S5 UltrabookTM ซึ่งเป็นวิวัฒนาการที่ก้าวไปอีกขั้น หลังจากที่เอเซอร์ได้เปิดตัว”
หลายท่านคงจะยังจำกันได้กับบรรยากาศในช่วงที่ Aspire S3 เพิ่งเปิดตัวไปหมาดๆ และสำหรับวันนี้ Acer ก็ได้มาพร้อมกับตัวเลือกสำหรับผู้ใช้ในตลาดโน๊ตบุ๊กอีกขั้นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น Ultrabook รุ่นใหม่อย่าง S5 อัลตราบุคในตระกูล Timeline (Timeline U) ตลอดจนเปิดเซกเมนท์ใหม่อย่าง Slimnote หรือโน๊ตบุ๊กปกติที่มีขนาดบางและเบา ในขณะที่ยังคงประสิทธิภาพเหมือนๆกับโน๊ตบุ๊กไซส์ปกติ
…เอาล่ะครับเรามาเริ่มกันที่ไฮไลท์ที่หลายๆท่านน่าจะเฝ้าคอยกันนั้นก็คืออัลตราบุครุ่นใหม่อย่าง Aspire S5 ถ้ามองกันด้วยกลุ่ม Ultrabook ด้วยกันทั้งหมด ตอนนี้ก็จะกล่าวได้ว่า Aspire S3 นั้นจะถูกเฟดลงไปเป็น Ultrabook ที่อยู่ในกลุ่มเริ่มต้นที่ผู้ใช้ต้องการเน้นขนาดบางเบาและประสิทธิภาพการตอบสนองที่ดีในแบบฉบับ Ultrabook และ S5 จะมาสำหรับผู้ที่ต้องการความบางเบาและมีสมรรถนะที่ดียิ่งขึ้นกว่าตัว S3 อย่างเช่นใน S3 เราจะพบว่ามีรุ่นที่มีฮาร์ดไดร์ฟแบบ SSD + HDD และรุ่นที่เป็น SSD เพียวๆ แต่ใน S5 นั้นทาง Acer ลงทุนติดตั้ง SSD ขนาด 128GB ที่มีการคอนฟิคมาแบบ RAID0 และพอร์ตแห่งอนาคตอย่าง Thunderbolt ก็มีมาให้ใช้แล้วใน S5 ครับ ตลอดจนซีพียูและชิปเซ็ต แน่นอนว่าเป็น 3rd generation อย่าง Core i7 3517U (ดูอัลคอร์) และชิป UM77 กราฟฟิค Intel HD4000 ที่สนับสนุน DX11 เรียบร้อยแล้วอีกด้วย !
…ดีไซน์โดยภาพรวมแล้วผมคิดว่ายังไม่ได้หนีไปจากตัว S3 มากนักในแง่เส้นสายและวัสดุ อาจจะมีหลายๆมุมที่ S5 ให้ความรู้สึกที่ premium กว่า เพราะแน่นอนว่าทาง Acer เคลมมาเองเลยว่า S5 ใช้แมกนีเซียมอะลูมินัม ทั้งตัวเครื่อง ส่วนปัญหาเดิมๆที่ผมเคยรู้สึกก็คือเรื่องแป้นคีย์บอร์ดที่ถึงแม้จะมีการวาง spacing และเลย์เอาท์มาลงตัว แต่มีจังหวะการกดคีย์ที่ค่อนข้างสั้นไป ก็ยังคงพบได้ใน S5 เหมือนเดิมครับ
พลิกไปพลิกมาก็ตื่นเต้นในความบาง เพียงแค่ 11 มิลลิเมตร (บางกว่า S3 ที่เคยทำไว้ที่ 13 มิลลิเมตร) ก็พบว่าเคล็ดลับวิชาของ Acer นั้นคือ Magic Flip I/O port ที่จะเป็นการซ่อนพอร์ตเชื่อมต่อที่จำเป็นไว้ด้านในตัวเครื่อง
…ซึ่งเมื่อหลังจากกดปุ่มพอร์ตเชื่อมต่อ (ปุ่มข้างๆคีย์บอร์ดที่มีไฟสีฟ้า) พอร์ตด้านหลังเครื่องนี้ก็จะทำการยื่นออกมาด้วยกลไกมอเตอร์ภายใน ในลักษณะที่เป็นคล้ายๆกับฐานรองเครื่อง ทำให้ตัวเครื่องนั้นมีความชันขึ้นมาเล็กน้อย
…แน่นอนว่าพอร์ตเชื่อมต่อท่านจะเห็นได้ว่า S5 มาพร้อมกับ USB3.0 ทั้งสองพอร์ต และ Thunderbolt ซึ่งคร่าวๆที่ได้มีการแสดงที่งาน Computex ไปนั้นมันคือพอร์ตเชื่อมต่อความเร็วสูงคล้ายๆ USB จากแหล่งข่าวที่ผมทราบมาทราบว่าความเร็วมันจะประมาณ PCI Express 1 หรือ 2X ซึ่งในอนาคตอินเทลวางไว้ให้มันเป็น industrial standard เหมือนๆกับ USB นี่แหละครับ ประโยชน์ของมันก็คืออาจจะมีไว้สำหรับเชื่อมต่ออุปกรณ์ที่ต้องการแบนด์วิทสูงๆอย่างพวก storage สมัยใหม่ หรืออุปกรณ์เพิ่มสมรรถนะเครื่องอย่างกราฟฟิคการ์ด ซึ่งถึงแม้ว่าชื่อจะเหมือนกับเจ้าพอร์ต Thunderbolt ในเครื่องทางฝั่ง Apple แต่อุปกรณ์เดิมที่เคยใช้ได้กับ Thunderbolt ของ apple ไม่สามารถที่จะนำมาใช้งานกับเครื่องพีซีได้ โดยที่ไม่มี Certified driver นะครับ ซึ่งเรื่องนี้ก็คงต้องทดลองใช้งานในแง่การใช้งานจริงกันต่อไป
…มาถึงในอีกส่วนหนึ่งนั้นก็คือ Aspire M5 Timeline U ที่หลายท่านน่าจะยังจำกันได้กับชื่ออย่าง “Timeline” ที่แสดงถึงไลน์อัพของโน๊ตบุ๊กจากค่าย Acer ที่เน้นความสามารถในการใช้งานแบตเตอร์รี่ที่ยาวนาน Timeline U นั้นก็เป็นซีรียส์ที่เป็น “UltrabooK” ของ Timeline นั้นเองครับ ในขณะที่ Aspire S series Ultrabook จะมาพร้อมกับจอขนาด 13.3″ ซึ่งเป็นขนาด concept สำหรับอัลตราบุคที่อินเทลมักจะพูดถึงบ่อยๆ แต่ Aspire M5 นั้นจะมาพร้อมกับขนาดหน้าจอที่เหมาะสมกับการใช้งานที่ซีเรียสกับงานที่ต้อง ใช้การแสดงผลมากนิดหนึ่ง คือ 14″ แต่ยังคงความละเอียดไว้ที่ 1366×768 เหมือนกับ S series ที่มีขอเล็กกว่าอย่างไรอย่างงั้นเลย ซึ่งความบาง ด้วยความที่เป็นเครื่องขนาด 14 นิ้วที่เน้นสมรรถนะการประมวลผลมากกว่า S series เล็กน้อย จึงมีขนาดอยู่ที่ 20 มิลลิเมตร ในขณะที่ข้อกำหนดของทางอินเทลนั้นบอกไว้ว่าสำหรับเครื่องขนาดเล็กกว่า 14 นิ้วให้มีขนาดที่ 18มิลลิเมตรลงไป ส่วนขนาด 14 นิ้วขึ้นไป ให้มีความหนาไม่เกิน 21 มิลลิเมตร ซึ่งก็ถือว่ายังคงอยู่ในเกณฑ์ที่เป็น Ultrabook ที่ไซส์ขยับขึ้นมีอีกขั้นหนึ่งจาก S series นั้นเอง
…Aspire M5 นั้นมาพร้อมกับ 3rd generation ทุกๆโมเดลครับ โดยในขั้นแรกนั้นจะมีสองรุ่นให้เลือกคือรุ่้นที่เป็น Core i5-3317U และ Core i7-3517U โดยทั้งสองรุ่นนั้นจะมาพร้อมกับ storage ขนาด 500GB ที่เป็นฮาร์ดดิสก์จานหมุนที่มีความบางเป็นพิเศษ ตลอดจนชิปกราฟฟิคทรงพลังอย่าง GeForce GT640M 1gb ติดมาให้อีกด้วย ส่วนแบตเตอร์รี่นั้นทาง Acer เคลมมาว่าในขณะที่ S series นั้นจะมีระยะเวลาการใช้งานอยู่ที่ 5-6 ชั่วโมง แต่ใน Timeline U นี้จะได้ถึง 8 ชั่วโมงด้วยกัน ตามคอนเซ็ปต์ของ Timeline
เท่าที่ได้ลองสัมผัสดูก็พบว่าวัสดุโดยภาพรวมแล้วอยู่ในเกณฑ์ดีครับ ผมไม่ได้โฟกัสในความรู้สึกอะไรมากนัก แต่คร่าวๆก็พบว่าบานพับจอนั้นแข็งแรงดี และวัสดุด้านหลังบานพับ ก็ให้ความรู้สึกพรีเมียมในระดับหนึ่งเลยทีเดียว
…มาถึงเพื่อนเก่าในวันใหม่อย่าง Aspire S3 ที่เราคุ้นเคยกันดี ณ วันนี้ก็ได้มีการอัพเดตรายละเอียดเล็กน้อย ด้วยการเปลี่ยนเสื้อผ้าหน้าผมนิดหน่อยจากเดิมที่เป็นสีเงิน มาเป็นสีบรอนซ์ทอง โดดเด่นขึ้นมาอีกเล็กน้อย ตลอดจนมีการนำเอาซีพียู 3rd generation มาใช้ ซึ่งในเบื้องต้นตามเอกสารที่ผมได้รับมามีแต่ Core i7-3517U เท่านั้นครับ ซึ่งก็จะมีให้เลือกทางเลือกของฮาร์ดไดร์ฟสองอย่างคือเป็น SSD 128GB หรือจะเป็น HDD จานหมุนขนาด 500GB แบบ slim type
…ปิดท้ายด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์สลิมโน้ต (Slimnote) ที่เปิดตัวครั้งแรกก่อนใคร กับ Aspire V5 Slimnote Series ด้วยความบางกว่าโน้ตบุ๊กปกติถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และเบาลง 10 เปอร์เซนต์ ด้วย slim type HDD 7 ม.ม. และ slim optical drive 9 ม.ม. หน้าจอขนาด 14 นิ้ว ด้วยความบางเพียง 21 ม.ม. และหน้าจอ 15 นิ้ว บางเพียง 23 ม.ม. ตัวเครื่องถูกออกแบบให้มีสีสันแบบโมเดิลแนสติก จัดมาให้เลือก อาทิ สีฟ้า (Airy Blue) สีเงิน (Misty Silver) และ สีม่วง (Hazy Purple) คีย์บอร์ดแบบ chicklet (ปุ่มแยก) และแน่นอนว่ามีทัชแพดที่กว้างขึ้นรองรับการใช้งาน Windows® 8 Metro UI อีกด้วย
…วัสดุุโดยรวมแล้วจะให้เรียกง่ายๆ มันก็คือบอดี้พลาสติกธรรมดานี่แหละครับ แต่เท่าที่ได้สัมผัสแล้วก็จะพบว่า Acer มีพัฒนาการของบอดี้แบบนี้มาค่อนข้างดีพอสมควร ตัวที่ผมได้สัมผัสนั้นเป็นตัวสีเงิน พบว่าถึงแม้ตัวเครื่องจะมีความเงาวาวพอสมควร แต่ก็ไม่ก่อให้เกิดรอยนิ้วมือกระดำกระด่างได้ง่ายเหมือนเช่นแต่ก่อน
…ถ้ากล่าวถึงการใช้งานจริงๆผมก็ยังคงรู้สึกว่า Slimnote นั้นก็ยังคงเหมือนๆกับโน๊ตบุ๊กทั่วไปอยู่มากครับ การเปลี่ยนแปลงสร้างแบรนด์อย่าง Slimnote ขึ้นมาผมเข้าใจว่าเพื่อเป็นการให้ผู้ใช้รับรู้ถึงความมุ่งมั่นของ Acer ที่จะต้องการสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีแก่ผู้ใช้ในแง่ของการพกพาและการใช้งานเครื่องในแบบ traditional notebook แบบเดิมให้ดียิ่งขึ้น ออฟติคัลไดร์ฟก็ไม่ได้ถูกตัดออก แน่นอนว่า Slimnote นั้นจะเป็นกลุ่มแบรนด์ที่ค่อนข้างกว้าง มีตัวเลือกซีพียูให้เลือกตั้งแต่ Celeron , Pentium ไปจนถึง Core i3 และ i5 เลยทีเดียว ส่วนกราฟฟิคก็จะมีทั้งแบบ Intel HD ในตัวชิปเองหรือว่าจะเป็นชิปแยกจาก NVIDIA ก็มีอีกเช่นกัน
…ส่วนแนวโน้มของ Aspire One ที่เป็นโน๊ตบุ๊กไซส์ประมาณ 10-11.6″ นั้นก็ค่อนข้างชัดเจนครับว่าทางผู้บริหารของทาง Acer ต้องการที่จะให้ผู้ใช้ได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยในอนาคตเราคงจะไม่ได้เห็น Aspire One ที่เป็นชิป Atom อีกต่อไปแล้ว เพราะจะมีแต่ Pentium และ Celeron เท่านั้นครับที่จะลงมาอยู่ใน Aspire One และจะวางตัวให้เป็น Mini Notebook ที่สามารถหาซื้อได้ในราคาที่ไม่รุนแรงมาก ใช้งานสะดวก และมีประสิทธิภาพที่ดีพอสมควร ซึ่งในตรงนี้ทางอินเทลเองในงานวันนั้นก็กล่าวชัดเจนครับว่า Atom นั้นจะโฟกัสไปที่อุปกรณ์ขนาดเล็กอื่นๆที่ไม่ใช่พีซีมากขึ้น อย่างสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต
.
.