ASUS ESSENCE III Review
Share | Tweet |
INTRODUCTION
สวัสดีครับ สวัสดีสมาชิก Vmodtech ทุกท่าน วันนี้ผมมาแปลกตาซักนิดนึงเนื่องจากรีวิววันนี้ไม่เกี่ยวกับการ์ดจอ CPU หรือการแข่งกับตัวเลข MHz แต่อย่างใดเพราะวันนี้จะมาคุยเรื่อง DAC รุ่นใหม่ล่าสุดที่เป็น Flagship ของสายการผลิต Sound Card จากค่ายผู้ผลิตชั้นนำอย่าง ASUS, ASUS ESSENCE III ที่ผมจะคุยให้ฟังวันนี้นั้นเป็นอุปกรณ์ที่มีความสามารถหลากหลาย มันเป็นทั้ง Preamplifier, USB DAC, และเป็น Headphone amplifier ในตัวเดียวกัน สวยงาม หรูหรามีระดับ แต่เราซื้อมาฟังเสียงครับ ดีไม่ดีไม่ได้อยู่ที่หน้าตา เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังครับ
.
ด้วยการออกแบบที่พิถีพิถันเพื่อให้ ESSENCE III นั้นเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีสจากฟีลนึงของ ASUS มันได้ถูกออกแบบให้เป็น DAC ไฮเอ็นด์ของวงการคอมพิวเตอร์ที่คาดหวังให้เสียงที่ดีที่สุด บริสุทธิ์ที่สุดครับ
รายละเอียดเชิงเทคนิคนั้นก็ตามรายละเอียดจาก ASUS ด้านบนครับ
PACKAGE APPEARANCE
กล่องบรรจุตัว ESSENCE III นั้นออกแบบมาได้หรูหรามาก หยิบจับครั้งแรกรู้สึกได้ถึงความพิถีพิถัน
รายละเอียดที่อธิบายไว้ด้านหลังกล่องนั้นจะเป็นคุณสมบัติต่างๆ สเปกของอุปกรณ์ด้านอีเลคทรอนิกส์ และที่สำคัญทีสุดคือรายละเอียดการเชื่อมต่อที่สามารถทำให้เราสามารถเชื่อมต่อได้อย่างไม่สับสนแต่อย่างใด
เปิดฝากล่องออกมาแล้ว สวยงามเหมือนเคย
คู่มือการติดตั้งและสิ่งที่ผมไม่ค่อยจะเคยเห็นคือรายงานการทดสอบด้านเสียงในแล๊ปครับ
บรรดาสายต่างๆที่แถมมา คือครบทุกความต้องการเลย ฟิว และรีโมทที่สามารถควบคุมความดังและเลือก input/output ได้
ตัว ESSENCE III หลังจากยกออกมา มีพลาสติกบางๆติดตัวมาป้องกันรอยนิ้วมือด้วยครับ
มุมมองที่งดงามสไตล์เครืองเสียงชั้นดีทั้งซ้ายและขวา จากซ้ายไปขวานั้นจะเป็น
- ปุ่มเปิด/ปิดตัว DAC
- ปุ่มเลือกปล่อยสัญญาณออกว่าจะเป็นปล่อยทาง Pre-out หรือ Headphone
- Volume สองตัว ตัวนึงจะควบคุม Pre-out ส่วนตัวด้านขวาจะเร่งลดความดัง output ที่ไปออกหูฟัง โดยที่จะใช้งานได้นั้นขึ้นอยู่กับ Output ที่เราได้เลือกไว้ก่อน
- ด้านขวาที่เป็น Headphone output ครับ โดยคู่ด้านซ้ายจะเป็น output แบบ Balanced ที่ต้องต่อผ่านแจ๊คแบบ mini-XLR (มีหัวแปลงแถมมาในกล่อง) ส่วนขวามือนั้นจะเป็นเอาท์พุทแบบ Single End หรือ Unbalanced แบบปกติด้วยแจ๊คขนาดมาตรฐาน 6.3 มม
- ขวาสุดจะเป็นช่องรับสัญญาณจากรีโมทครับ
ตรงแถบไฟแสดงผลกลางรูปนั้นจะเป็นไฟแสดงสถานะของ Input ที่เราต้องการใช้งาน โดยจะมี USB, Coaxial Digital, Toslink, AES, AUX (RCA), และขวาสุดจะติดต่อเมื่อเราปล่อยสัญญาณ Bit Perfect ออกจากโปรแกรมครับ
บรรดาขั้วเชื่อมต่อต่างๆด้านท้าย
SETTING
วันนี้ผมต่อเชื่อมฟังกับชุดเครื่องเสียงบ้านนะครับเนื่องจากไม่มีหูฟังที่เอื้ออำนวย ด้วยความที่ ESSENCE III นั้นเป็นแทบทุกอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งมันมีภาคปรีแอมป์ด้วย ดังนั้นผมจึงต่อด้วยเส้นทางที่สั้นที่สุดโดยเริ่มจากคอมพิวเตอร์ส่งสัญญาณมายัง ESSENCE III แล้วต่อสายไปเข้า Poweramp เลย โดยรายละเอียดของชุดทดสอบจะมีดังนี้
.
- Computer: ASUS MAXIMUS V, Intel Core i7 2600K, RAM 4GB x 2
- Software: JRiver Media Center 19
- DAC: ASUS ESSENCE III
- Power Amp: NAD C270 120W/ch at 8 Ohm
- Speaker: ProAc Tablette 50 Signature
- Power Cable: Supra Rolad
- Interconnect: Cardas Crosslink
- Coaxial Cable: Canare L-5CFB 75 OHM
- Speaker Cable: AlphaCore MI Centerstage + CARDAS Jumper
- Sandbase, Tip-Toe Fine Ceramic
- Connector Cleaning by PROGOLD GP5
ผมทำการ Burn ESSENCE III ไว้ประมาณหนึ่งอาทิตย์ วันละ 24 ชั่วโมงก่อนหน้าที่จะมาทดลองฟังครับ ช่วงแรกนั้นผมเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ผ่านทางสาย USB โดยจุดที่ต้องพิจารณาคือ USB 1.0 นั้นเป็นชนิดเสียบแล้วเสียงออกเลยส่วน USB 2.0 นั้นสำหรับเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ MAC ทั้งหลายครับ แต่ถ้าเราเชื่อมต่อ USB จาก PC และได้ทำการติดตั้ง ASIO Driver เพื่อปล่อยสัญญาณ Bit Perfect ออกมา เราต้องเลือกสวิทซ์ตรงนี้ไปที่ USB 2.0 ครับเสียงถึงจะออกมาปกติ
.
ไฟแสดงสถานะเมื่อเชื่อมต่อผ่านทาง USB และปล่อยสัญญาณ Bit Perfect
.
และในช่วงที่สองนั้นผมได้ทำการเชื่อมต่อสัญญาณจาก PC ผ่านทาง Coaxial S/PDIF
.
Setting เมื่อฟังผ่าน USB Cable
.
Setting เมื่อฟังผ่าน Coaxial S/PDIF
LISTENING
ระยะการจัดวางลำโพงประกอบการทดสอบ ESSENCE III นั้น ผมว่าง Tablette 50 Signature ห่างผนังหลังประมาณ 167 เซนติเมตร ระยะห่างลำโพงวัดจากทวีตเตอร์อยู่ที่ประมาณ 178 เซนติเมตร โทอินเล็กน้อย นั่งฟังห่างประมาณสามเมตร
.
ช่วงแรกหลังจากทำการเบิร์นเสร็จสิ้น ผมทำการทดลองฟังผ่านทางสาย USB เสียงที่ได้นั้นไม่ค่อยน่าพอใจนักครับ คือฟังแล้วเฉยๆเพียงแต่แววดีของมันก็คือว่ารายละเอียดของเสียงนั้นค่อนข้างดี ส่วนมิติ เวทีเสียงนั้นแบนไปเลยครับ ผมเปลี่ยนการเชื่อมต่อมาเป็น Coaxial เสียงที่ได้นั้นแตกต่างกันราวกับเป็นคนละเรื่อง ผมจึงจะพูดถึงเสียงของ ESSENCE III ผ่านทางการเชื่อมต่อ Coaxial เท่านั้น
.
เพลง POP แนวนิวเอจที่เป็นที่คุ้นเคยอย่าง La Fogata จากอัลบัม Give and Take นั้นให้บรรยากาศเสียงที่อบอุ่น ฟังง่ายและลื่นไหลดีครับ
.
เมื่อลองฟัง Percussion Album อย่าง Rhythm Basket ที่หลายๆท่านอาจจะเป็นเจ้าของแผ่นนี้อยู่ เพลง Row, Row, Row Your Boat เสียงของน้ำที่ถูกกวักออกมานั้นมีมวลเสียงใกล้เคียงของจริงครับ การไล่ระดับของเสียงนั้นก็อยู่ในเกณฑ์ปกติเมื่อเทียบกับฟังจากแผ่น CD เสียงกลองเล็กที่เรียงระนาบในแนวเดียวกับลำโพงนั้นน่าสนใจมาก ขนาดของกลองแต่ละชิ้น ระยะเยื้องของการจัดวางรวมถึงอิมแพคเมื่อหนังกลองถูกหวดลงไปนั้นได้แรงปะทะที่สดและสมจริงมาก รูปวง ละอองของ Ambiance นั้นพุ่งออกมาจากระนาบหน้าลำโพง
.
Tchaikovsky Swan Lake Ballet Suite, Symphony No. 5 in E Minor นั้น เสียงแผดขอบทรัมเปดในแทรกที่ 1 ของวง New Symphony Orchestra of London นั้นดุดัน เกรียวกราดมาก มวลเสียง ความคมนั้นชัดเจนเหลือเฟือ ระนาบของชิ้นดนตรีที่ถูกวางใว้ในวงออเคสตราขนาดใหญ่นั้นชัดเจนครับ ไฮไลท์ของ Act นี้นั้นน่าจะอยู่ที่ช่วงเวลา 1.20-2.50 ครับ ที่บรรดาเครื่องเป่า เครื่องสีจำพวกไวโอลินและเชลโล่นั้นแผดและกระหน่ำขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนั้นทำให้รู้สึกได้เลยครับว่า ระนาบของเสียงรวมถึงความสดความสมจริงของเนื้อเสียงนั้นมากมาย timing ของดนตรีนั้นฟังออกได้เลยครับว่าผ่อนสั้นผ่อนยาวตามเนื้อหาและฟีลลิ่งได้เป็นอย่างดีไม่ต่างจาก DAC ชั้นดีสำหรับเครื่องเสียงบ้านเลย ซึ่งตรงนี้ DAC สำหรับคอมพิวเตอร์ตัวอื่นๆจะฟังร้อนรน เร็ว หางเสียงห้วน ไม่มีความกังวาล ทั้งหลายนี้มันเป็นส่วนประกอบและองค์ประกอบหลักที่ทำให้เพลงนั้นน่าฟัง และเคลิบเคลิ้มครับ
.
ฟังเสียงนักร้องบ้าง Janis Ian อัลบัม Breaking Silence นี่ผู้ที่ชอบฟังเสียงร้องของนักร้องหญิงที่มีลีลาในน้ำเสียงบนท้วงทำนองป๊อบที่มีกลิ่นร๊อคหน่อยๆน่าจะมีแผ่นนี้อยู่ในครอบครองแน่นอน แทรกแรก All roads to the river นั้นเจ้า ESSENCE III นั้นสามารถสร้างระนาบเสียงของนักร้อง ความสูงของริมฝีปากได้สูงเทียบเท่ากับคนจริงๆครับ น่าตื่นเต้นมาก ในเพลง Ride me like a wave นั้นจุดเด่นน่าจะเป็นเสียงย้ำเน้นของกระเดื่องกลองในระนาบที่ลึกเข้าไปในวงด้านซ้ายหลังได้เป็นอย่างดี อิมแพคของหัวเสียงนั้นสด สมจริงมาก เสียงกีตาร์โปร่งในแทรกที่ 5 What about the love นั้น สดใส กังวาลด้วยกำทอนที่สมจริงมากๆๆๆ ผมอยากบอกเลยครับว่า เสียงแบบนี้ผมยังไม่เคยได้ยินจากการส่งผ่านโดย DAC ที่ออกแบบมาสำหรับคอมพิวเตอร์เลยซักครั้ง แม้กระทั่ง ASUS XONAR ONE MUSES Edition ที่เคยได้ลองฟังไปคราวที่แล้ว ทีเด็ดจริงๆครับ
.
Meet me in London ที่โชว์เสียงร้องอิ่มๆ มวลหนาๆของซาบิน่า สคูบ้าและกีตาร์คลาสสิกชั้นเชิงสูงจากแอนโตนิโอ ฟอซิโอเน่ แผ่นจากเนมนั้นบันทึกในห้องที่ค่อนข้างเก็บเสียงครับ หางเสียงนั้นอาจจะไม่หวานเท่าไหร่แต่จุดเด่นของมันนั้นอยู่ที่ความเงียบนี่ละที่ทำให้สรรพรายละเอียดจากกีตาร์ เสียงร้อง ลูกเล่นต่างๆนั้นพร่างพรูออกมาจากลำโพงมากมาย น้อยครับที่ DAC คอมพิวเตอร์นั้นสามารถจำลองมวลเสียงที่อิ่มได้เหมือนๆกับฟังจากแผ่นดีๆแบบนี้ Could you believe นั้นเป็นแทรกที่ซาบิน่าโชว์ทักษะการร้องได้ยอดเยี่ยมมากและ ESSENCE III นั้นก็ไม่ได้ทำให้ผมผิดหวังเลยแม้แต่น้อย
.
ทีเด็ดครับเมื่อผมฟัง Benny Waters “Live at the Pawnshop” แผ่นนี้ของ OPUS3 ครับ เสียงนั้นคงไม่ต้องพูดถึงครับสำหรับค่ายนี้ กับแทรคที่คุ้นเคยอย่าง Zig Zig เสียงร้องของเบนนี่นั้นสมจริงมากๆ หนา อิ่ม ฟังแล้วรู้เลยครับว่านักร้องเป็นนักร้องผิวสี เบนนี่เกิดในแมรี่แลนใกล้ๆกับบัลติมอร์ เอกลักษณ์ของโทนเสียง เอกลักษณ์ของการถ่ายทอดสำเนียงของแจ๊สนั้นถือเป็นชั้นเชิงที่ต้องบอกว่าสุดยอดแล้วละครับ นอกเหนือจากนั้นแล้วทีเด็ดของมันเมื่อผมรับฟังผ่านจาก ESSENCE III และลำโพงที่ได้รับการปรับแต่งระยะที่ดีที่สุดในห้องผมแล้วนั้น มันแสดงให้เห็นครับว่า ESSENCE III นั้นถือเป็น DAC เจ้ามิติ ที่ผมแน่ใจครับว่ามีไม่มากครับที่สามารถซิมูเลทรูปวงและมิติได้ยอดเยี่ยมเทียบเท่าเครื่องเสียงบ้านอย่างนี้ Ambiance ที่ถูกต้อง กว้างขวาง เสียงนั้นครอบคลุมออกมาจากระนาบลำโพงจนเกือบบริเวณที่นั่งฟังและถอยหลังออกไปจรดผนังหลังอย่างน่าสนใจมาก ระนาบความสูงนั้นก็สมส่วนครับ คือไม่มีที่ติว่าอย่างนั้น ณ จุดกำเนิดเสียงต่างๆอย่างกลองชุดที่อยู่ด้านหลังขวามือฉีกจากท้ายลำโพงออกไปและด้านหน้าขวาที่เป็นจุดกำเนิดของเสียงแซกโซโฟนหนาๆนั้นสามารถแยกกันได้อย่างชัดเจน เสียงสด หนา สมจริง เสียงฟุ้งงามๆแบบที่หลับตาแล้วมองเห็นควันของบุหรี่ที่ลอยบางๆเคล้ากับวิสกี๊เย็นๆได้ดีมาก
.
ลองกลับมาฟังเพลงไทยจากน้ำเสียงของป๊อบ แคลลอรี่ บลาๆ ครับ ใช่ครับ คุณเดาไม่ผิดครับว่าทำไมผมเลือกแทรกนี้มาฟัง ปฏิเสธไม่ได้ครับว่าเสียงของพี่ป๊อบนั้นมันทำให้หนุ่มน้อยอย่างผมเคลิ๊บเคลิ้มจริงๆ อิอิ เนื้อเสียงเนียน ละเอียด ติดหวานนิดๆ ติดมันพี่ป๊อบหน่อยๆ
.
“ให้บอกเกลียดฉันอีกกี่พันครั้ง ไม่เจ็บเท่าฟังเธอบอกรักใคร” น้องเนยเค้าว่าไว้ครับ หวาน…
.
แล้วมันฟังร๊อก เฮฟวี่ แทรธ สปีด ได้มั๊ย Master of puppets นั้นบอกไว้ได้เกือบหมดครับ ตัวโน๊ตย้ำๆ 220 BPM ดาวน์สโตรคล้วนๆที่สามารถทำให้กล้ามเนื้อคุณเกร็งได้ เสียงความแผดของ EMG 81 ที่โอเวอร์ดับโดย Hatfiled และ Hammett นั้นเชื่อขนมกินได้เสมอไม่ว่าเพลงนี้จะยาวนานแค่ไหน ฟัง Redneck จาก LOG นั้น โน๊ตที่กวนประสาทย้ำไปย้ำมาผ่านทาง ESP signature ขอวิลนั้นสด ห้าวและมีแรงปะทะที่ยอดเยี่ยมสอดคล้องกับเสียงพุ่งๆของ Jackson ของมอร์ตั้นได้เป็นอย่างดี หรือแม้กระทั่งเสียง Drop B ต่ำสะเทือนยมบาลจากเพลง Duality ของ Slipknot นั้นมันสากแสบดากจริงๆและมันแยกระนาบของเสียงกับกระเดืองออกมาอย่างชัดเจน
..
นิดนึงก่อนจบครับ การจัดวาง ASUS ESSENCE III นั้นหากพิถีพิถันเพิ่มขึ้นมาอีกนิดด้วยทิบโทที่ให้เสียงไม่จ้าจนเกินไปนักอย่าง Fine Ceramic นั้นจะให้ผลลัพธ์ที่ดี มวลเสียงหนา แต่ปลายแหลมไม่หลบและไม่คมบาดมากเกินไป
สายไฟ หัวตัวผู้ตัวเมียก็มีผลทั้งนั้นครับ เลือกให้เหมาะสม
ต้นทางสุดครับ ถามว่าจำเป็นมั๊ย บางคนจำเป็นบางคนก็ไม่ แต่ผมก็นำมาใส่เพิ่มให้เพราะมีผู้ชมกระทู้ถามไถ่ถึงอุปกรณ์ประเภทนี้มาครับผม
CONCLUSION
แพงครับ แพงทีเดียวสำหรับการเลือก ESSENCE III มาใช้งาน มันไม่ได้เหมาะกับทุกคนครับ มันแพงเพราะอะไร มันแพงเพราะว่ามันคือศูนย์รวมที่สามารถเรียกว่า Digital convertor Unit ได้เลย มันเป็นทั้ง DAC มันเป็นทั้ง Headphone Amp ชั้นดี มันเป็น Pre Amp ที่เสียงดี มันเป็น Fully Balanced มันสามารถเชื่อมต่อได้แทบทุกอย่างที่คุณต้องการ และเสียงมันไม่มีข้อกังขาเลยครับ ASUS ESSENCE III นั้นถือว่าเป็น DAC เจ้ามิติตั้งแต่ผมเคยได้ยินได้ฟังมา ระนาบเสียง เวทีเสียง มิติเสียงนั้นเหลือเกินครับ บรรยากาศในวงในเวทีเสียงที่มันสร้างขึ้นมานั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพียงจางๆ ที่จุดกำเนินเสียงนั้นมันให้มวลเสียงที่หนา อิ่ม สด สมจริง ละอองเสียง แอมเบียนส์ ความสูงของวงไม่มีที่ติ รูปวงออกเป็นรูปวงกลมเดินหน้าเข้าหาคนฟังและลึกจรดผนังหลัง เสียดายครับที่ Diffuser ทั้งสามชิ้นของผมนั้นสีไม่เข้ากับผนังห้องไม่อย่างนั้นมันจะช่วยให้บรรยากาศนั้นโอบล้อมตัวคนฟังและโฟกัสของเสียงนั้นชัดเจนมากกว่านี้ขึ้นไปอีก
.
โทนเสียงสูงกลางต่ำนั้นตอบสนองได้ดีเต็มย่าน ปลายแหลมนั้นแลว่าจะไปได้ไม่ไกลนักแต่เท่าที่ได้ยินนั้นก็เหลือเฟือ ความถี่กลางเปิด ต่ำเปิดลงได้ลึกพอควร และไม่มีย่านความถี่ไหนที่โดดขึ้นมาเป็นพิเศษ ละอองเสียงมีครับ มันเป็นจุดที่ทำให้เพลงมีหางเสียง ฮาร์โมนิกส์มี ครบ หวานมั๊ย ก็มีแนวว่าหวานครับแต่อาจจะมาจากบรรดาสายที่ผมใช้อยู่ด้วย
.
จุดที่แนะนำ สำหรับ Headphone ผมขอผ่านนะครับ คิดว่ามันต้องทำหน้าที่รายงานเสียงให้คุณได้เป็นอย่างดีอย่างแน่นอน แต่สำหรับชุดเครื่องเสียงบ้าน การจัดลำโพงให้ห่างผนังหลัง ผนังข้างอย่างพอเหมาะ ให้โทนัลบาลานซ์สมดุลย์ที่สุดเท่าที่ลำโพงคุณจะให้ได้ แอมป์พริไฟลเออร์กำลังสำรองสูงๆพอที่จะบู๊สกำลังขับเมื่อโหลดลดต่ำลง ให้รองรับเสียง Deep base หรือออแกนไพพ์ได้ดี ลำโพงดี จัดวางสมบูรณ์ แอมป์ถึง ที่เหลือ ASUS ESSENCE III มันจัดการให้คุณเองครับ
.
.
.
ขอบคุณที่ติดตาม
เชน
.
.
ขอขอบคุณ
ASUS