Asus F8VR-4P008C กับพลัง Centrino 2
Share | Tweet |
กลับมาสวัสดีท่านผู้อ่านอีกรอบกับบทความต่อเนื่องในรอบสองสัปดาห์นะครับ วันนี้วีมอดเทคเราก็ขอนำเสนอ สินค้าที่อาจจะดูแปลกตาจากพื้นที่รีวิวในเว็บของเราไปบ้าง นั้นก็คือ โน๊ตบุ๊กครับ และในครั้งนี้ เราก็ได้รับโน๊ตบุ๊ก Asus F8VR ที่มีขุมพลัง Centrino2 ที่กำลังเป็นที่กล่าวขานกันในปัจจุบันนี้ มาให้ท่านผู้อ่านได้ชมกันครับ ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องขอขอบคุณ AsusTek Thailand ด้วยนะครับที่เอื้อเฝื้อเครื่องทดสอบมาให้ได้ทำการรีวิวและทดสอบประสิทธิภาพกันที่วีมอดเทคแห่งนี้ครับ
CPU | Intel Mobile Core2 Duo P8600 “Penryn” (45nanometre) 2.4ghz FSB1066 3mb of L2 cache |
Ram | DDR2 2gb 800mhz |
Chipset | Intel mP45 + ICH9M |
Graphics | ATI Mobility Radeon HD3470 plus 256mb (dedicated) |
Display | WXGA+/WXGA 14.1″ (Crystal) |
Wiress Connection | Bluetooth 2.1, Intel WIMAX/WIFI link 5100 (IEEE802.11n) |
Storage | SATA 5400rpm 250GB (Hitachi) |
Optical Drive | DVD-RW |
Videocamera | 1.3megapixel |
Battery | 6 cells 4800mAh |
Port | USB2.0 x5ports HDMI, eSATA, VGA, Minifirewire, SD/MMC cardreader, spdif out |
Diemension | 34×24.4×3.72 cm 2.6kg(W/batt) |
ดูจากเสป็คแล้ว ต้องบอกได้เลยว่า มาแบบครบสูตรสำหรับโน๊ตบุ๊กแห่งอนาคตเลยทีเดียวครับ กับแพลตฟอร์ม Centrino 2 ครับ ซึ่งโดยจริงๆแล้วเนี่ย ทาง Asus นั้นได้วางเจ้า F8 series ไว้ให้เป็นซีรียส์ของ Portable ครับ คือโน๊ตบุ๊กที่ใช้งานแบบพกพา (แต่ก็ไม่ถึงกับเล็กจิ๋ว) กล่าวคือ เป็นกลุ่มที่มีความพอดีทางด้านขนาดรูปร่าง และประสิทธิภาพในการทำงานมากที่สุด แต่จะเป็นยังไงต่อไป อดใจรอ ชมผลการทดสอบ แล้วเดี้ยวผมจะสรุปให้ได้ทราบกันทีเดียวเลยก็แล้วกันนะครับ ตอนนี้เดี๋ยวเรามาชมรูป รายละเอียดของตัวเครื่องกันต่อเลยดีกว่าครับ
ตัวถังของเจ้า Asus F8VR นั้น ทำมาจากพลาสติกครับ แต่ไม่ใช่พลาสติกเกรดกะหล่งก๊งแต่อย่างไร มีความเงางาม แต่ก็เปื้อนเป็นรอยนิ้วมือได้ง่าย และหากสังเกตดีๆ เจ้าตัวรุ่นสีดำนี่ จะมีลายเส้นสีขาวๆ พาดอยู่เป็นระยะๆ บนฝาด้วยนะครับ (ลองคลิกดูรูปใหญ่)
เมื่อทำการแง้มกาบ เอ้ย แง้มฝาเครื่องออกมาแล้ว สิ่งที่ผมค้นพบก็คือ Asus เครื่องนี้ สามารถใช้มือเพียงข้างเดียวในการยกบานพับจอขึ้นมาได้ โดยที่ตัวฐานเครื่องไม่มีการลอยตามขึ้นมาด้วยครับ ผมถือให้ตรงนี้เป็นข้อดี และการันตีได้ว่า Asus นั้นใส่ใจในรายละเอียดมาดีพอสมควรเลยทีเดียวครับ ตัวฝา ไม่สามารถที่จะกางได้ถึง 180 องศานะครับ (กางได้มากสุดแค่ในรูปด้านซ้ายนั้นแหละ)
การวางตำแหน่งของทัชแพดและคีบอร์ดนั้นตรงนี้ผมไม่อยากว่าอะไรมากครับ ในจุดนี้ผมอยากให้ผู้ใช้ทุกคนที่กำลังจะซื้อโน๊ตบุ๊ก ได้ดูด้วยครับ ว่าตัวเองชอบมั้ย เพราะความถนัดและขนาดมือแต่ละคนไม่เหมือนกันครับ ตัวนี้จะมีปัญหาเล็กน้อยเครื่อง scroll ในทัชแพดที่มันจะไม่อยู่ตรงริมสุดครับ (ผมลองใช้ๆแล้ว scroll ไม่ค่อยจะโดน) แต่ถ้าทำความคุ้นเคยสักพัก ก็ไม่ปัญหาอะไรครับ และเท่าที่เห็นในรูปขวามือ บางที จอกระจก ก็ทำให้รำคาญตาได้ในบางโอกาสครับ เนื่องด้วยแสงไฟที่สะท้อนไปๆมาๆ (ถ้าคุณต้องเคลื่อนย้ายไปนอกอาคาร อาจจะเจอปัญหามากกว่านี้) แต่ก็ต้องยอมรับครับว่าจอกระจกนั้นให้ภาพที่ใสเคลียร์ มากกว่าจอ LCD แบบปกติครับ
ฝาพับ ทำออกมาได้ค่อนข้างดีครับในสายตาผม การเปิดฝาไม่มีการล็อค แค่ใช้มือยกขึ้นมาก็ได้เลย และด้านข้างจุดหมุนของฝาพับ ก็จะมีช่องระบายอากาศ และปุ่มสวิทช์เปิดปิดเครื่องอยู่ดังรูปครับ
Port & Connectivity
ดังที่ได้ว่ากันไปแล้วในสเปคครับ พอร์ตเชื่อมต่อ ด้านซ้ายมือ ก็จะมี Audio out ทั้งหลาย USB 2.0 1 พอร์ต IEEE1394 แบบหัวเล็กอีกหนึ่ง และพอร์ตสำหรับ PCIExpress การ์ด(สำหรับโน๊ตบุ๊ก) อีกหนึ่งพอร์ต ที่มาแทนพอร์ต PCMCIA แบบเก่าครับ นอกจากนี้ก็ยังมี SD/MMC (micro compatible) Cardreader อยู่เหนือไดร์ฟ DVD-RW อีกด้วยครับ
ส่วนพอร์ตด้านหลัง (รูปซ้ายมือ) ก็จะมี USB ให้อีกสองช่อง แถมยังมี VGA out คู่กับพอร์ต HDMI แถมให้ eSATA อีกเอ้า (ครบสูตรจริงๆครับ) และด้านขวามือก็มี USB มาให้อีกสองพอร์ตด้วยกันครับ
ไมโครโฟนและเว็บแคมวางมาในตำแหน่งที่ดีครับ อยู่ตรงบริเวณแป้นคีย์บอร์ด ส่วนเว็บแคม 1.3mp นั้นสามารถหมุนกลับหัวไปด้านหลังได้ ครับ
Inside the ASUS F8VR
เปิดฝาหลังฝาหลักมา ก็จะพบฮีทไปป์ทองแดง กับพัดลมโบลวเวอร์หนึ่งตัว ขดกันอยู่ท่ามกลางแรม การ์ดจอ และซีพียูครับ อ้อ สังเกตดูนะครับ F8 นั้นใช้ฮีทไปป์ชุดเดียวกันกับซีพียู ในการระบายความร้อนการ์ดจอ HD3470 นะครับ ส่วนแรม DDR2 800mhz CL6 นั้นเป็นชิปของ Qimonda ครับ
สำหรับฮาร์ดดิสก์ ภายในโน๊ตบุ๊กตัวนี้ ก็มีการปิดฝามาอย่างดีครับ มีฟองน้ำกันกระแทกอยู่ 4 ชิ้น ดังรูปด้านขวามือ ฮาร์ดดิสก์ที่เลือกใช้เป็น Hitachi SATA 250gb 5400rpm ครับ
The Test
สำหรับในการทดสอบโน๊ตบุ๊กในสไตล์วีมอดเทคเรา ในบทความชุดนี้ ผมขอแบ่งการทดสอบเป็น 2 พาร์ตด้วยกันนะครับดังนี้
1.) เป็นพาร์ต Daily Use & Mobility คือจะทำการทดสอบความอึดของแบตเตอร์รี่ ในการใช้งานจริงที่โน๊ตบุ๊กมันควรจะเป็น
2.) ส่วนพาร์ตที่สอง คือ Performance ทำการทดสอบ ในทำนองคลองเดียวกับรูปแบบการทดสอบอุปกรณ์คอมพิวเตอร์อื่นๆที่วีมอดเทคได้เคยทำการทดสอบมาครับ คือด้วย Benchmark และ Gametest (แต่ในบทความนี้ไม่สามารถทำ Gametest ได้ทันท่วงที ต้องขออภัยด้วยนะครับ)
Software ที่ใช้ในการทดสอบ
OS | Windows Vista X86 Ultimate |
CPU monitor | CPUz 1.47 |
Media player | Power DVD suit (Asus Bundled) |
Benchmark | 3Dmark03, 3Dmark05, 3Dmark06, PCmark05 SisoftSandra, Everest Ultimate, Cinebench2003, CineBench R10, Super PI XS 1.5 |
1st Part
จะทำการทดสอบสามครั้ง เพื่อทดสอบในสภาพการทำงานที่แตกต่างกัน
1.) WIFI internet serve ชาร์จแบตเตอร์รี่จนเต็ม และนำเครื่องไปใช้งาน โดยใช้อินเตอร์เน็ท (Internet Explorer7) ผ่าน wireless lan ไปเรื่อยๆ สลับกับการเปิด browse ภาพในเครื่อง จนกว่าเครื่องจะ Hibernate (ที่ประมาณแบตเตอร์รี่ 3 %) โดยตั้ง Power plan ไว้ที่ Balance (เดิมๆของวิสต้า) ซึ่งจะมีการลดความสว่างของ Backlight ให้พอมองเห็นในระดับที่สบายตา (เกือบเท่ากับขณะเสียบปลั๊ก)
2.) Continous Media playback ทำการเล่นไฟล์ AVI ที่ริบมาจาก DVD 8 ไฟล์ โดยตั้ง Powerplan และเปิด wireless แบบข้อที่หนึ่งจนกว่าแบตจะเหลือ 3% และตัดเข้าสู่ Hibernate
3.) Continous Gameplay ทำการรันโปรแกรม 3Dmark06 loop จนกว่าแบตจะเหลือ 3% และตัดเข้าสู่ Hibernate
ขณะทำการทดสอบ วินโดวส์โชว์ขณะที่แบตเตอร์รี่อยู่ที่ 96% ที่ เกือบ 2 ชั่วโมงครับ
ผลค่อนข้างเหลือเชื่อครับ กับโน๊ตบุ๊กที่มีการ์ดจอแยกแบบนี้ สามารถเล่นเน็ทได้ถึงสองชั่วโมงเลยทีเดียว (ซู๊ดยอดครับ) และสามารถเล่นเกมภาพสามมิติ โหลดหนักๆได้ต่อเนื่องถึง หนึ่งชั่วโมงกับอีกสิบเก้านาที ไม่ธรรมดาแล้วครับ งานนี้ หุหุ ที่เห็น DVD playback ต่างกับ Wifi Internet use อยู่หลายนาที ผมคิดว่า เพราะว่าตอนที่ผมทำการเทสเล่นดีวีดี คงจะมีบางช่วงที่ติดโหลด ตอนเปลี่ยนไฟล์หนัง (เพราะเล่นหนังจากฮาร์ดดิสก์) น่ะครับ
Part 2 “Performance”
มาดูในส่วนของผลการ Benchmark ต่างๆที่พวกเราชาววีมอดคุ้นเคยกันดีนะครับผม เริ่มจาก Sisoft กันก่อนเลยครับ
เมื่อดูคะแนนแล้วก็อยู่ในมาตรฐานของซิสเต็มในชิปเซ็ต MP45 นะครับ และหากสังเกตอีก ก็จะพบว่า Memory Bandwidth นั้นเพิ่มขึ้นจากชิป P965 mobile ตัวเก่าอย่างเห็นได้ชัดเจนเลยทีเดียวครับ ส่วนซีพียูนั้น ตัวนี้ยังไม่ใช่รุ่นใหญ่มากนักในตระกูล Penryn จึงยังไม่เห็นผลชัดเจนนักเมื่อเทียบกับ Centrino เจนเนอเรชั่นเก่าๆครับ
Everest Ultimate
โปรแกรมนี้มีอะไรพิเศษนิดนึงครับ ตรงที่ในบางการทดสอบในส่วนของ Memory Read/Write/Copy นั้น จะมีการใช้ซีพียูเพียงแค่คอร์เดียว จะสังเกตได้ว่า โปรแกรมฟ้องว่ามีการ Overclock มา 3% สอดคล้องกับข้อมูลที่ผมได้รับแว่วๆมาจากท่าน Venom-Crusher ที่ไปแซะๆข้อมูลมาจากงาน press release ของ Intel Centrino 2 ว่าเจ้า Penryn ตัวใหม่เนี่ย จะมีการ OC ตัวเองขึ้นมา จากบัส 266 จะมาวิ่งแตะๆที่ 273-276mhz ครับ หากแอพพลิเคชั่นที่ท่านใช้ ไม่รองรับ Multi core เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด (ขณะใช้งานเพียงแค่คอร์เดียวครับ)
สำหรับ Everest นั้น ผลก็ออกมาไปในแนวทางเดียวกันกับ Sisoft ครับ แต่จะไม่มีซิสเต็มแบบ Notebook ให้เทียบเป็น reference แต่ก็สามารถสังเกตได้ครับว่า ความแรงนี่ พอๆกับซีพียูเดสทอปตัวท๊อปรุ่นเก่าๆอย่าง E6700 เลยทีเดียวครับ สำหรับในส่วนนี้จะเป็นการทดสอบของโปรแกรมในตระกูล Future mark ประกอบไปด้วย 3Dmark 03 05 06 และ PCmark05 ที่ใช้วัดประสิทธิภาพการใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวันครับ คะแนนออกมาก็อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานโน๊ตบุ๊กครับ กับการ์ดจอรุ่นเล็ก ซีพียูรุ่นกลาง อาจจะไม่จี้ดเหมือนเดสทอพแรงๆ แต่ถ้าเอาไปเล่นเกมจริงๆ ก็พอเสียวซ่านได้นะครับ หุหุ Other Benchmark อันนี้ภูมิใจเสนอมากครับ SuperPI 1mb 20วินาทีต้นๆ เทียบชั้นกับเดสทอปได้ไม่อยากเลยครับแบบนี้ คงจะเพราะได้อานิสงส์ FSB1066 และ DDR800 ด้วยครับ เสียดายว่าเป็น CL6 ถ้าได้สัก CL5 ล่ะอาจจะมีแรงกว่านี้ครับ หุหุ WinRAR ที่ดูน้อยๆ เพราะผลพวงจากแรม CL6 ครับ แต่ก็ถือว่าไม่ช้ามากนะครับ สำหรับโน๊ตบุ๊กระดับนี้ ใช้เวลาเรนเดอร์เพียงแค่ 31 วินาทีเท่านั้นครับท่านผู้ชม สำหรับ Cinebench10 ผมลองๆทดสอบดู เหมือน OPENGL Test อันอื่นจะมีปัญหากับวิสต้าและไดร์เวอร์ของผม เลยไม่ได้ทำการทดสอบมาให้ดูครับ กับ Burst Rate 56mb/s และ Seektime 18ns ก็ถือว่าไม่เลวครับ
FutureMark Series
สรุป
Asus A8VR นั้น ด้วยราคาเปิดตัวที่ 40xxx.- นั้น ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นโน๊ตบุ๊กที่คุ้มค่ามากเลยทีเดียวครับ ได้เทคโนโลยีใหม่ๆอย่าง Centrino 2 การ์ดแลนไวเรส 802.11n สมบูรณ์แบบ และที่สำคัญ ซีพียูโค้ดเนมใหม่อย่าง Penryn 45นาโนเมตร ซึ่งถึงแม้จะใช้ชุดระบายความร้อนร่วมกับ GPU ก็ยังมีความร้อนที่ออกมาไม่มากนัก ลองเล่นไปนานๆแล้วจะรู้เลยครับ ว่าตรงบริเวณฝ่ามือ คีบอร์ด มันไม่ค่อยร้อนเท่าไหร่ (ตรงนี้ก็ต้องขออภัยที่ไม่ได้ลง Speed fan แล้วจับ temp ให้ดูอีก) ส่วนดีไซน์นั้น ก็ถือว่างดงามมากครับ นอกจากสีดำแล้ว ยังมีสีอื่นๆให้เลือกอีกมากมาย คือสีน้ำเงิน แดงเลือดหมู ชมพู ขาว ถ้าไม่ถือ ว่าบอดี้จะเป็นลายนิ้วมือได้ง่าย ก็ถือว่างามหยดย้อยมากๆครับ การวางคีย์บอร์ด ก็มีลักษณะที่ลาดเอนลงมาในระดับหนึ่ง ซึ่งผมใช้งานอยู่ราวเกือบสองชั่วโมง ก็ไม่มีความรู้สึกเมื่อยมากนัก (ใช้ทัชแพด) และฝาเปิดปิด ก็ทำมาได้ดี ขนาดไม่ต้องมีล็อค ยังสามารถเปิดฝาได้ด้วยมือเดียว โดยที่ตัวฐานเครื่องไม่มีการลอยตามขึ้นมาแต่อย่างใดครับ
ส่วนประสิทธิภาพ จัดว่าจัดจ้านในระดับหนึ่ง ถ้าจะบอกว่านี่คือโน๊ตบุ๊กในกลุ่ม Portable ตอนแรกผมก็ไม่ค่อยอยากจะเชื่อครับ ถ้าดูจากเสป็ค เพราะมี GPU แยกมาให้อีกต่างหาก และอัตตราการบริโภคพลังงานกับ Battery life นั้น อยู่ได้ถึงสองชั่วโมง ถือว่าสุดยอดมากแล้วครับสำหรับโน๊ตบุ๊กจอ 14นิ้วการ์ดจอแยก(อีกต่างหากแน่ะ) และหากมองถึงชื่อเสียงของ Asus ที่มีชื่อในการทำ Mainboard ประสิทธิภาพเยี่ยมยอดมาเป็นเวลานาน ก็ถือเป็นเครื่องการันตีได้อีกอย่างครับว่าชิ้นส่วนภายในของ F8 ทาง Asus น่าจะได้รับอานิสงส์จากประสบการณ์การผลิตเมนบอร์ดมานาน
และสุดท้ายท้ายสุด ก็เป็นอัน จบการทดสอบครับสำหรับ Asus F8VR Centrino2 ในวันนี้ สิ่งที่ผมอยากจะทิ้งท้าย เมื่อรีวิวอุปกรณ์อะไรที่มันมีความเหมือนๆกันในท้องตลาด ก็คือ Media อย่างพวกเราไม่ใช่ผู้ที่ตัดสินว่าอะไรดีที่สุด ทุกๆอย่างขึ้นอยู่กับผู้ใช้ครับ โดยเฉพาะโน๊ตบุ๊ก ต้องลองไปสัมผัสด้วยตัวเองก่อนครับ ว่าเข้ากับฝ่ามือ สรีระ และความต้องการความชอบของเราหรือไม่ และ นอกจากนี้ ก็ ต้องขออภัยท่านผู้อ่านเป็นอย่างสูง ที่ทำการทดสอบแบบตกๆหล่นๆ เพราะเรามีเวลาทดสอบเพียงแค่วันเดียว ก็ทำการทดสอบกันถึงเที่ยงคืนเลยทีเดียวครับ ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องขอบคุณท่าน Venom-Crusher ด้วยนะครับ ที่อุตส่าห์ทดสอบอะไรบางอย่างกับเครื่องนี้ให้ผมถึงเที่ยงคืนเลยทีเดียว วันนีก็ลากันไปก่อนนะครับ สวัสดีครับ ………
ขอขอบคุณ AsusTek ประเทศไทย ที่ได้นำโน๊ตบุ๊กตัวทดสอบเครื่องนี้มาให้ได้ชมกันครับ
ขอขอบคุณ Intel Microelectronics ประเทศไทย
คลิกที่นี่ เพื่อร่วมวิจารณ์บทความนี้