ภาพบรรยากาศงาน g-able เปิดเกมรุก Corporate Digital Transformation
Share | Tweet |
คุณสุเทพ อุ่นเมตตาจิต กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทจีเอเบิล ให้เกียรติเป็นผู้บรรยายท่านต่อมาครับ
คุณสุเทพ อุ่นเมตตาจิต กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทจีเอเบิล เปิดเผยว่า “ในปีนี้บริษัทฯ มุ่งเน้นไปที่ 3 ไอทีโซลูชั่น คือ “คลาวด์ (Cloud)” “บิ๊ก ดาต้า (Big Data)” และ “ซีเคียวริตี้ (Security)” หัวใจสำคัญที่จะช่วยลูกค้าปฏิรูปองค์กรธุรกิจสู่ยุคดิจิตอล ได้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุด โดยเริ่มจาก Cloud (คลาวด์) ซึ่งในต่างประเทศมีอัตราการเติบโตของการใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี 2015 อยู่ที่ 51% และคาดการณ์ในปี 2016 ที่ 71% แต่เมื่อเทียบกับอัตราการใช้บริการคลาวด์ในประเทศไทย เรากลับพบว่าอัตราการเติบโตของการใช้คลาวด์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เพราะเมื่อพูดถึงเทคโนโลยีคลาวด์ สำหรับหลายๆ คน มักจะหมายถึงเฉพาะการจัดเก็บข้อมูล หรือ Cloud storage เป็นหลัก ซึ่งศักยภาพของ คลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud computing) สามารถทำได้มากกว่านั้น โดยคาดว่าในปีนี้ คลาวด์จะเริ่มเติบโตมากขึ้น และในระยะยาวประมาณ 3-5 ปี ภาคธุรกิจจะให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณด้านไอทีเพื่อการลงทุนด้านคลาวด์ไม่น้อยกว่า 20-25% ซึ่งจะส่งผลทำให้มูลค่าการลงทุนด้านคลาวด์เพิ่มขึ้น หรืออาจกล่าวได้ว่า คลาวด์จะกลายเป็นองค์ประกอบหลักของโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีขององค์กร
Big Data (บิ๊ก ดาต้า) เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มความได้เปรียบเชิงธุรกิจให้กับทุกองค์กร ในประเทศไทยมีการคาดการณ์ถึงความต้องการบุคลากรด้านบิ๊ก ดาต้า จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและพันธมิตรทางธุรกิจ ในการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ‘Big Data Experience Center’ หรือ BX ซึ่งเปิดตัวไปในปีที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนและเป็นตัวเร่งให้นำเอาเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา BX ได้จัดฝึกอบรมและสัมมนาฟรีไปแล้วกว่า 40 ครั้ง มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมมากกว่า 6,000 คน มีการเข้าเยี่ยมชมเพื่อรับคำปรึกษาในการเตรียมความพร้อมในด้านเทคโนโลยีจำนวน 26 หน่วยงานจากภาครัฐและภาคเอกชน นอกจากนี้ BX ได้สร้างระบบต้นแบบโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายไปแล้วเป็นจำนวน 12 โมเดล
Security (ซีเคียวริตี้) จากงานวิจัยของบริษัท Intel Security (McAfee) ระบุว่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจที่เกิดจากอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์ มีมูลค่าสูงถึง 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 14 ล้านล้านบาท ในปี 2015 (ประมาณความเสียหายรวมกันทั่วโลก) งานวิจัยเดียวกันระบุอีกว่า ผลสำรวจจากหลายประเทศยอมรับว่าความเสียหายจากอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์มีสูงถึง 2% ของ GDP อีกทั้งปัญหาจากการโจมตีในโลกไซเบอร์ต่างๆ เช่น Ransomeware หรือโจรเรียกค่าไถ่ออนไลน์ การข่มขู่ด้วยเทคนิคประเภท DDoS (Distributed Denial of Service) ที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานต่างๆ ล้วนมีสาเหตุมาจากเทคโนโลยีที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการด้านความมั่นคงมีความเข้มข้นขึ้น
จากแนวโน้มดังกล่าว จีเอเบิลจึงมีการลงทุนในด้านการวิจัย เพื่อพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ได้อย่างรัดกุมและทรงประสิทธิภาพ ตอบโจทย์องค์กรเชิงรุก ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุน รวมถึงการตัดสินใจบริหารความเสี่ยงและจัดการภัยไซเบอร์ได้อย่างตรงจุด ระบบซีเคียวริตี้ที่จีเอเบิลมุ่งเน้น คือ 1) Security Consulting Service 2) Security Implementation Service 3) Security Managed Service และ 4) Security Sustainability Service ซึ่งมีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอย่างครบครันกว่า 40 คน ถือเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของไทยในปัจจุบันที่ให้บริการด้านซีเคียวริตี้ตั้งแต่ต้นจนจบ พร้อมช่วยให้องค์กรธุรกิจสามารถเดินหน้าได้อย่างมั่นใจ ว่าทรัพยากรและระบบได้รับการดูแลอย่างมั่นคง ปลอดภัย และมีความน่าเชื่อถือ