Intel Core i7 3960X the first 6 cores Sandy Bridge processor
Share | Tweet |
…ปีแล้วปีเล่าที่เราได้เห็นพัฒนาการของไมโครโปรเซสเซอร์จากยักษ์ใหญ่แห่งวงการเซมิคอนดักเตอร์อย่างอินเทล ถ้าคุณเป็นผู้ที่สนใจในเทคโนโลยี หรือเป็นคนที่ชอบใฝ่หาความแรงในโลกพีซีที่ไม่เคยมีที่สิ้นสุด ผมว่าเราอาจจะสังเกตได้ว่า ครั้งแรกที่อินเทลเปิดตัว Core micro architecture ในเจเนอร์เรชั่นแรก (Nehalem) หรือ Core i ในรุ่นแรกนั้น อินเทลเริ่มจากการเปิดตัวโมเดลท๊อปสุดที่เป็นซีรียส์ 9 ในซอกเก็ต LGA1366 แล้วเป็นเวลาเกือบหนึ่งปีให้หลัง อินเทลได้เปิดตัว Core i5 และ i7 ที่อยู่บน mainstreme platform อย่าง 1156
…แต่ในรอบปีนี้ เราเริ่มต้นศักราชใหม่กันด้วย Sandy-bridge ที่เปิดตัวมาในแพลตฟอร์มระดับเมนสตรีมอย่างซอกเก็ต 1155 ใช้เมมโมรีแค่ 2 channel ซึ่งในขณะนั้นที่ตัว Sandy Bridge มันเปิดตัวมา ผมเชื่อว่าไม่มีใครสนใจจะคิดหรอกครับว่ามันจะยังคงมี “ก๊อกสอง” ที่อินเทลคอยจ่อคิวรอเปิดตัวไว้เพื่อมาทดแทนรุ่นพี่ Nehalem ในซอกเก็ต 1366 เพราะในตอนนั้นถือได้ว่า Sandy Bridge สามารถทำประสิทธิภาพได้ดีเพียงพอ เร็วพอที่จะไม่มีคนถวิลหาความแรงที่สุดโต่งไปมากกว่านั้น
…ซึ่งในวันนี้จะเป็นวันที่เราจะได้พบกับซีพียูระดับ ultra-high-end สำหรับเดสก์ทอพอย่าง Core i7 3960X หรือเรียกกันในโค้ดเนม Sandy Bridge-E ที่จะเป็นตัวตายตัวแทนของซีพียูในซีรียส์ 9 ภายใต้สถาปัตยกรรม Nehalem โดย Sandy Bridge-E มาพร้อมกับชิปเซ็ต X79 ใหม่และเมนบอร์ดมาตรฐานจากทางอินเทล ซึ่งเราจะมาดูรายละเอียดกันในวันนี้ครับ
…เวลาเราคุยกันเรื่องพัฒนาการของไมโครโปรเซสเซอร์ในฝั่งของอินเทล เราก็คงจะต้องยกรูปแบบนี้มาให้ชมกัน คือวัฏจักร Tick-Tock โดย Tock คือจังหวะที่อินเทลเปลี่ยนสถาปัตยกรรมครั้งใหญ่ โดย Sandy Bridge-E นั้นเราจะยังคงไม่ถือว่าเป็นการพัฒนาในขั้นกว่าของโคงสร้าง Micro Arctitechture หลัก กล่าวคือยังไม่มีการปรับปรุงไปใช้กระบวนการผลิตที่เล็กกว่า ยังคงเป็น 32nm แบบเดียวกับที่มีการเปิดตัว Sandy Bridge ในครั้งแรกครับ กล่าวคือ “E” เหมือนเป็นส่วนต่อขยายของ SND 32nm ก่อนที่เราจะได้ก้าวเข้าสู่ 22nm ในโค้ดเนม Ivy Bridge กัน
…คุณสมบัติของ Core i7 ในซอกเก็ต LGA2011 หรือ Sandy Bridge-E นี้คือมี 6 Cores พร้อม HT ทำให้มี 12 Threads การทำงาน มี Turbo boost 2.0 และที่สำคัญไปกว่านั้นคือเมมโมรีคอนโทรลเลอร์แรมแบบ DDR3 สนับสนุนการทำงานถึง 4 Channel (Quad-Channel) ที่ความเร็ว DDR3 1600MHz นอกจากนี้ยังมีส่วนควบคุมบัส PCI-E มากถึง 40 เลน (มากกว่า Sandy Bridge เกือบสองเท่า) นอกจากนี้ฟีเจอร์อย่าง AVX หรือชุดคำสั่งที่ช่วยเรื่องของการประมวลผลทางด้านทศนิยม (Floating Point) ได้ดีขึ้น ก็ยังคงมีอยู่ใน Sandy Bridge-E แต่ที่น่าสังเกตก็คือ การที่อินเทลตัดเอากราฟฟิคอินติเกรตภายในซีพียูออกไป นั้นหมายความว่ามันเป็นการตัดความสามารถในการทำ Quick-Sync ซึ่งมันคือฟีเจอร์ที่จะช่วยในเรื่องของการตัดต่อวีดีโอ โดยจะนำเอา Shader unit ในตัวประมวลผลกราฟฟิคภายในมาช่วยในการประมวลผลวีดีโอ (สนับสนุนในชิป H67 และ Z68)
…เอาล่ะ เรามาดูภายในจริงๆกันครับ หากใครเป็นผู้ช่างสังเกตสักหน่อย ที่ผมได้กล่าวไปในตอนแรกว่า Core i7 3960X นั้นจะมี 6 แกนประมวลผล แต่ให้ดูในรูป die shot ดีดีครับว่ามันมีแกนประมวลผล (ช่องว่างๆ) ตามภาพด้านบนนี้ นับกันจริงๆได้ถึง 8 แกนด้วยกัน โดยมีสองแกนถูกปิดการทำงานอยู่ เหมือนเป็นการส่งสัญญาณเป็นนัยๆว่าอินเทลนั้นน่าจะกำลังเตรียมจะเปิดตัว Sandy Bridge-E ที่เป็น Xeon version แบบ 8 แกน มาให้เราได้สัมผัสกันในเร็ววันนี้ โดยใน i7 นี้มันยังคงถูกปิดการทำงานเอาไว้อยู่ครับ
…มัวแต่มานั่งจับผิดกันจนลืมเข้าประเด็น ประเด็นจริงๆมันอยู่ที่ แกนหลักของ Sandy Bridge-E โดยหลักๆแล้วนั้นไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจาก Sandy Bridge ตัวก่อนเลยครับทั้งชุดคำสั่ง L1, L2 Cache ยังคงมีขนาดเท่าเดิม ที่เปลี่ยนไปมีเพียงขนาดของ L3 cache ที่ใช้แบ่งกันระหว่างแกนประมวลผลทั้งหกแกน และเมมโมรีคอนโทรลเลอร์และชุดควบคุมระบบบัสความเร็วสูงภายใน die ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ขนาดที่ใหญ่ขึ้นนั้นอินเทลได้จัดแจง ผ่าตัดเอากราฟฟิคแบบอินติเกรต ออกไปจาก Sandy Bridge-E และแทนที่ด้วยแกนประมวลผลอุปกรณ์ที่เป็นหมัดเด็ดอย่าง Memory controller DDR3 Quad Channel และ PCI-E 40Lanes
…อย่างไรก็ดี Sandy Bridge-E นั้นก็ยังคงมีขนาดที่ถือได้ว่าค่อนข้างใหญ่มากสำหรับซีพียูเดสก์ทอพมาตรฐาน โดยมีขนาด die จริงๆถึง 20.8 mm x 20.9 mm
…นับวันแพลตฟอร์ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ก็จะเริ่มรวมเอาทุกสิ่งทุกอย่างเข้าไปในซีพียูมากขึ้น และลดความสำคัญของชิปเซ็ตลงไปทีละน้อย ในแพลตฟอร์ม X79 นั้นตัวชิป X79 ที่เป็นชิปเซ็ตแบบ single chipset ทำหน้าที่ดูแลระบบบัสความเร็วต่ำอย่าง USB, SATA รวมไปถึง PCI Express แบบเวอร์ชั่น 2.0 ที่ความเร็ว 1x ในขณะที่ภายในตัวซีพียูนั้นจะเป็น PCI Express 2.0 มากถึง 40 เลน แบบ 8 และ 16x หรือ 2x ขึ้นอยู่กับการคอนฟิค สามารถดูได้ในไดอะแกรมด้านบน
…เปรียบ เทียบกันระหว่าง Sandy Bridge-E ที่กำลังจะเปิดตัว โดยที่ในตอนเริ่มแรกนี้อินเทลจะมีในรุ่น i7-3960X Extreme Edition และ 3930K Unlocked ที่เป็นแบบ 6 Cores ต่างกันที่ความเร็วและขนาด L3 โดยรุ่นท๊อปสุดจะมีมาให้ถึง 15MB ด้วยกัน และในส่วนตัว 3820 ไม่มีอักษรใดๆต่อท้าย จะเป็นแบบ 4 Cores มี L3 ขนาด 10MB ที่จะเปิดตัวในภายหลัง ซึ่งจะมีรายละเอียดในส่วนของการ Overclock ที่แตกต่างกันไปโดยจะมีการจำกัดการปรับตัวคูณไว้แค่ 43 เท่านั้น ในขณะที่ซีพียูในรหัส X และ K นั้นจะสามารถปรับตัวคูณได้สูงสุดถึง 57 อย่างที่เราๆได้เคยสัมผัสกันไปแล้วใน 2600K หรือ 2500K
…นอกจากนี้ Sandy Bridge-E ยังคงมีรายละเอียดปลีกย่อยบางอย่างอีกเช่นความเร็วของเมมโมรี Quad Channel หากติดตั้งเมมโมรีโมดูลไป 1 โมดูลต่อชาแนล (กรณีใช้ Quad channel ถือว่าใส่ไป 4โมดูล) มันจะสามารถทำงานได้ที่ความเร็ว 1600MHz แต่ถ้าหากติดตั้งเมมโมรี 2 โมดูลต่อชาแนล (8 โมดูล Quad chennel) มันจะสามารถทำงานได้ด้วยความเร็วฐาน(ที่อินเทลรับประกัน) ที่ 1333MHz เท่านั้น
…อย่างไรก็ดี Quad Channel DDR3 ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าจะเข้ามาช่วยเสริมเขี้ยวเล็บให้กับสาย Extreme Edition ของทางอินเทลได้อย่างดี เมื่อเทียบกับในยุคสมัยของ 9 seriesของ Nehalem ที่สนับสนุน DDR3 Triple-Channel
…ส่วนของ Turbo Boost 2.0 นันก็เป็นแบบที่เราคุ้นเคยกันครับ คือเร่งความเร็วการทำงานตามความเหมาะสม แม้กระทั่งขณะที่ซีพียูมีการทำงานอยู่ในทั้ง 5-6 แกนประมวลผล Turbo boost ก็ยังจะพยายามเพิ่มความเร็วให้เหมาะกับค่า TDP ที่ตัวซีพียูมันรองรับได้ อธิบายให้ได้ง่ายๆตามภาพด้านบน โดยในภาพนี้จะเป็นการสาธิตของรุ่น 3960 ที่จะสามารถเพิ่มความเร็วจากความเร็วฐานได้ถึง 600MHz เลยทีเดียว
…เหมือนจะกลายเป็นธรรมเนียมไปแล้วสำหรับซีพียูในตระกูล Extreme Edition ของอินเทลที่บางทีจะไม่แถมฮีทซิงค์ หรือชุดระบายความร้อนมาให้ แต่อย่างไรก็ดี อินเทลมีชุดระบายความร้อน หรือ Thermal Solution ให้ได้เลือกใช้งานกันตามความเหมาะสม ทั้งของอินเทลเองที่มีให้เลือกเป็นชุดระบบน้ำแบบปิด พัฒนาโดย ASETEK หรือจะเป็นพัดลมแบบมาตรฐาน สำหรับองค์กรที่ต้องการซีพียูประสิทธิภาพสูงเฉยๆ แต่ไม่ได้เอาซีพียูไปทารุณกรรมด้วยการโอเวอร์คลอกใดๆแบบที่เหล่า Hardware enthusiast เขาทำกัน
…INTEL THERMAL SOLUTION RTS2011LC เป็นชุดระบายความร้อนด้วยน้ำสำหรับโปรเซสเซอร์จากอินเทล โดยอินเทล พัฒนาโดย ASETEK ประกอบไปด้วยเรดิเอเตอร์ขนาด 120mm และชุดปั้มน้ำและ Water block ที่มีฟินขนาดเล็กๆทำให้ตัวปั้มไม่จำเป็นต้องเป็นปั้มแรงดันสูงมากนัก ก็สามารถรีดของเหลวภายในที่เป็น Propylene Gycol ไปนำเอาความร้อนออกมาถ่ายเทผ่าน Radiator ได้อย่างสะดวก
…หรือใครที่อยากเดินทางสายกลาง หรือเอาไปใช้งานแบบที่ไม่ต้องการเค้นตัวเลข clock speed มากๆนัก ซิงค์มาตรฐานที่ออกแบบมาให้ใช้กับความเร็วเดิมๆ ก็มีให้ได้เลือกสรรกันภายใต้ราคาที่ต่ำกว่า 20USD แน่นอนครับ
…และสุดท้ายนี้ขอเพิ่มเติมนิดหนึ่งว่าอินเทลได้มีพันธมิตร XMP (Extreme Memory Profile) ใหมอย่าง GSkill มาเพิ่มเติมในยุคนี้ โดยเมมโมรีแบรนด์ดังทั้งสี่แบรนด์เหล่านี้ ก็คงจะมีชุดคิต DDR3 Quad Channel ที่ Optimized โปรไฟล์ในเรื่องของไทม์มิ่งต่างๆมาให้เหมาะสมกับ Sandy Bridge-E เพื่อให้ได้ความแรงสูงสุดมาแล้วโดยไม่ต้องมานั่งปรับนั่งงมกันให้ยุ่งยาก
.