Introduction
สวัสดีครับ เพื่อนๆชาว Vmodtech.com ในที่สุดเวลาที่ใครๆหลายคนรอคอยก็มาถึงกันเสียทีนะครับ นั่นก็คือ การเปิดตัวซีพียู Intel Core i7 ซึ่งเป็นซีพียูตระกูลใหม่ล่าสุดของอินเทล
จุดเด่นของซีพียู Core i7 จาก Intel คือ มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และ ประหยัดพลังงาน
ก่อนที่เราจะไปชมผลการทดสอบอันร้อนแรงของทางเว็บ ผมขออนุญาตพาท่านไปรู้จักกับเทคโนโลยีใหม่ๆที่มาพร้อมกับซีพียู Core i7 กันก่อน เพื่อที่ท่านจะได้ทราบว่าอะไร คือ สาเหตุที่ทำให้ Core i7 เป็นซีพียูที่มีประสิทธิภาพสูง และประหยัดพลังงานครับ
คำศัพท์ที่ควรรู้ เกี่ยวกับ Core i7
ก่อนที่เราจะกล่าวถึงซีพยู Intel Core i7 เราควรจะมารู้จักคำศัพท์ที่สำคัญๆ สักเล็กน้อยกันก่อนนะครับ
Nehalem คือ ชื่อที่ใช้เรียกซีพียู ที่ใช้สถาปัตยกรรม Core Microarchitecture ใหม่ ที่ได้รับการพัฒนาปรับปรุงให้ดีกว่าสถาปัตยกรรม Core Microarchitecture เดิม ที่เคยใช้ในซีพียูตระกูล Core 2 ครับ ดังนั้นเพื่อป้องกันการสับสน ผมจะขอเรียก สถาปัตยกรรม Core Microarchitecture ใหม่ ว่า สถาปัตยกรรม Nehalem ก็แล้วกันนะครับ
Core i7 คือซีพียูที่ใช้สถาปัตยกรรม Nehalem หรือสถาปัตยกรรม Core Microarchitecture ใหม่ นั่นเองครับ
Bloomfield คือ ชื่อที่ใช้เรียกซีพียูกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในตระกูล Core i7 ครับ
ซึ่งซีพียูในตระกูล Core i7 นี้ จะมีกลุ่มซีพียูย่อยๆลงไปอีกเช่น Bloomfield, Lynfield, Havendale และ อื่นๆอีกมากมายครับ (สำหรับซีพียูที่เว็บเรานำมาทดสอบให้ชมกันในครั้งนี้คือ Bloomfield)
สาเหตุที่ต้องแบ่งซีพียูตระกูล Core i7 เป็นกลุ่มย่อยๆนั้นก็เพราะ ผู้ใช้งานจะได้สามารถเลือกซื้อซีพียูให้เหมาะสมกับขนาดของงานที่ตนเองต้องการใช้นั้นเองครับ
สีของโลโก้ Intel Core i7
สีฟ้า หมายถึง ซีพียู Core i7 รุ่นปกติ
สีดำ หมายถึง ซีพียู Core i7 รุ่น Xtreme Edition หรือ ที่ภาษานักโอเวอร์คล๊อคเรียกกันว่า “ซีพียูระดับเทพ” นั้นเองครับ
สำหรับ Core i7 ที่ทางเว็บ Vmodtech ได้รับมามี 2 ตัว คือ
- Intel Core i7 965 Extreme Edition ใช้โลโก้ สีดำครับ
- Intel Core i7 920 ใช้โลโก้ สีฟ้าครับ
เลขบอกประสิทธิภาพ คือตัวเลขที่บอกประสิทธิภาพการทำงานของซีพียูครับ ซึ่งตัวเลขยิ่งมากก็หมายความว่า ประสิทธิภาพของซีพียูก็จะมากขึ้นตามตัวเลขครับ
เช่น Intel Core i7 965 จะมีประสิทธิภาพสูงกว่า Intel Core i7 920 ครับ แต่จะแตกต่างกันขนาดไหน เดี๋ยวทางเว็บเราจะทดสอบให้ดูภายในบทความนี้ล่ะครับ
สิ่งใหม่ๆที่เพิ่มเข้ามาในซีพียู Core i7
- ตัวความคุมหน่วยความจำ (RAM) ชนิด Tri-channels DDR3 ซึ่งเป็นแบบอินทิเกรตเข้าไปไว้ในdieเดียวกับซีพียู(Integrate Memory Controller)
- QuickPath Interconnect(QPI) เป็นเทคโนโลยีที่เพิ่มประสิทธิภาพของระบบบัส
- หน่วยความจำ แคช(Cache) ระดับ 3 ขนาด 8 MB
- Simultaneous Multi-Threading (SMT)
- Loop Stream Detector ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นให้ดีกว่าของเดิม ที่เคยใช้อยู่ในซีพียูตระกูล Core 2
- ชุดคำสั่ง SSE 4.2
- ปรับปรุงคุณภาพของ Branch Target Buffer ให้ดีขึ้น
- ปรับปรุงคุณภาพของ Translation Look-aside Buffer (TLB)
- ใช้ตัวควบคุมการใช้พลังงานซีพียู(Power Control unit)แบบใหม่
- ใช้เทคโนโลยีการผลิต 45 นาโนเมตร
Tick Tock Development Model
Tick Tock Development Model คือ แบบจำลองที่ทางอินเทลใช้สำหรับวางแผนในการพัฒนาซีพียูครับ รูปแบบของแบบจำลอง Tick Tock คือการสลับกันระหว่าง การพัฒนาสถาปัตยกรรมของซีพียู และการลดเทคโนโลยีการผลิตของซีพียูครับ
ที่มาของคำว่า Tick Tock มาจากเสียงของนาฬิกาเดินครับ เมื่อนาฬิกาเดินจะมีเสียง ติ๊ก(Tick) สลับกับเสียงต๊อก(Tock)ครับ
ตัวอย่างเช่น
ในปี 2006 (หรือปี Tock) มีการพัฒนาสถาปัตยกรรม Intel Core Microarchitecture ที่ใช้ในซีพียูตระกูล Core 2 ขึ้นมา แต่ยังคงใช้ใช้เทคโนโลยีการผลิต 65 nm เหมือนใน Pentium D โดย Core 2 รุ่น 65 nm ใช้ Code Name ชื่อ Conroe
ในปี 2007 (หรือปี Tick) ได้มีการลดเทคโนโลยีการผลิตของซีพียู Intel Core 2 ลงมาจาก 65 nm มาเป็น 45 nm และได้ใช้ Code Name เรียกซีพียู Core 2 ในรุ่นนี้ว่า Penryn ครับ แม้ว่า Penryn จะโดนลดเทคโนโลยีการผลิตลงแต่ยังคงใช้สถาบัตยกรรม Intel Core Microarchitecture เหมือนกับที่ใช้อยู่ใน Conroe ครับ การลดเทคโนโลยีการผลิตให้เล็กลงมีข้อดีคือ ลดปริมาณความร้อน, ลดอัตราการใช้พลังงาน และ ลดอัตราการหน่วงเวลาในการเดินของกระแสไฟฟ้าทำให้ซีพียูทำงานได้เร็วขึ้น แถมยังเพิ่มขนาดL2Cacheให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมอีก50%ด้วยอีกต่างหาก
ในปี 2008 (หรือปี Tock) ยังคงใช้เทคโนโลยีการผลิต 45 nm เท่าเดิม แต่มีพัฒนาปรับปรุงสถาปัตยกรรม Intel Core Microarchitecture ให้ดีขึ้นและได้ใช้ชื่อว่าสถาปัตยกรรมนี้ว่า Nehelem ครับ และสถาปัตยกรรม Nehalem นี้ก็ได้มาอยู่ในซีพียู Intel Core i7 แล้วครับ
สรุป คือ ปี Tock จะเป็นปีสำหรับการพัฒนาพัฒนาสถาปัตยกรรม ส่วนปี Tick คือปีสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต และก็จะสลับกันพัฒนาเป็นปี Tick ปี Tock แบบนี้ไปเรื่อยๆครับ
ข้อดี การพัฒนาในรูปแบบ TickTock Development Model จะทำให้การพัฒนาซีพียูของอินเทลเป็นไปอย่างรวดเร็วครับ เพราะไม่ว่าจะเป็นการลดเทคโนโลยีการผลิต หรือการเปลี่ยนสถาปัตยกรรม ทั้งคู่ต่างก็มีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพของซีพียูด้วยกันครับ
เอาล่ะครับเราคงนึกภาพ TickTock Development Model ออกกันแล้วนะครับ ไปต่อกัน