LGA1366’s Heatpipe Roundup
Share | Tweet |
สวัสดีครับท่านผู้อ่าน วันนี้ผมมาพร้อมกับผลิตภัณฑ์ที่จะนำมานำเสนอให้ท่านๆได้รับชมกันในพื้นที่ของ Review hardware แห่งนี้ กับชุดระบายความร้อน หรือว่า Heatsink ที่ใช้เทคโนโลยี Heatpipe ถึง 4 ตัวด้วยกัน โดยทั้ง 4 ตัวนี้ เป็นฮีทซิงค์เพียงไม่กี่รุ่นที่มีขายในบ้านเรา ที่มีการทำชุดล็อคออกมารอบรับกับซอกเก็ตใหม่ของซีพียูสุดร้อนแรงแห่งยุค Core i7 กับซอกเก็ต 1366 โดยรายชื่อของ Heatsink ทั้งหมด ก็มีดังนี้ครับ
Cogage MST-140
Cogage True Spirit
Thermolab BARAM Review คลิกที่นี่
Base: Thermalright TrueBlack (U120Ex) with Thermalright’s 1366 kit บทความเก่า คลิกที่นี่
ในวันนี้เราจะมีรีวิวฮีทซิงค์ทั้งหมดสามตัว และจะมีฮีทซิงค์ที่ใช้ในการทดสอบเป็นมาตรฐานของเรานั้นคือ Thermalright Trueblack ซึ่งเป็นฮีทซิงค์ U120ex ในตำนานรุ่นพิเศษที่ทำออกมาเป็นเวอร์ชั่นสีดำ หากท่านใดสงสัยว่ามันเป็นตำนานอย่างไรแล้วล่ะก็ สามารถคลิกค้นหาบทความเก่าๆ หรือจะเปิดจากหน้าเว็บเก่าของเรา หาบทความที่ชื่อว่า 14 King of heatpipe Round up ก็จะพบว่าผลการทดสอบในการทดสอบครั้งนั้น Thermalright U120Ex นั้นมีความสามารถเหนือที่สุด บนแพลตฟอร์มของ LGA775 กับซีพียู Core 2 Quad แต่ในวันนี้ กาลเวลาได้เปลี่ยนไป ก็ได้มีฮีทไปป์รุ่นใหม่ๆออกมามากขึ้นและแน่นอน Thermalright เองก็ได้ออกชุดคิทสำหรับซอกเก็ต LGA1366 และยิ่งไปกว่านั้น น้องใหม่ในบ้านเราอย่าง Cogage และ Thermolab จากแดนโสม ก็ได้มีการเปิดตัวฮีทไปป์รุ่นใหม่ที่สามารถนำไปติดตั้งบนแพลตฟอร์ม 1366 ได้ ซึ่งในวันนี้ เราก็ได้จับช้างมาชนกับช้าง กับ ฮีทไปป์ 4 รุ่น ที่จะนำมาทดสอบ และรีวิวของ Cogage ทั้งสองรุ่นที่วันนี้เราได้นำมาทดสอบ ขอเชิญติดตามชม ได้เลยครับ
Cogage MST140
กล่องภายนอก ทำจากกระดาษแข็ง สีทึบ แสดงรูปของโปรดักส์ภายในอย่างชัดเจนพร้อมชื่อรุ่น ถึงจะไม่หรูหรา แต่ก็ป้องกันการกระแทกได้ดีครับ
ตัวฮีทซิงค์ในภาพ (ติดตั้งพัดลมขนาด 140mm ที่แถมมาให้) ในเบื้องต้น ตัวซิงค์จะไม่ได้มีการติดล็อคพัดลมมาให้นะครับ ต้องทำการติดตั้งเอง
ภาพของตัวซิงค์เมื่อนำพัดลมออก ฟินเรียงรายกันอย่างเป็นระเบียบ และมีความละเอียด ดูแล้วน่าใช้งานดีครับ
ด้านข้างซิงค์ตัวนี้จะเป็นแบบแนวนอน การติดตั้งพัดลมก็จะเป็นแนวนอน ทำให้ประหยัดเนื้อที่ภายในเคสได้มากขึ้น แต่ก็จะมีข้อเสียคือเมื่อติดตั้งแล้ว การใส่หรือถอดแรมในสลอตที่ใกล้ซีพียูมากที่สุด จะทำได้ยาก และในบางครั้งก็อาจจะไปบดบังสายไฟที่เสียบลงบอร์ดบางจุดได้เช่นกัน
ฟินบริเวณด้านข้าง ดูเรียบๆ แต่สวยงามเป็นระเบียบ และละเอียดมากๆ โอกาสท่ฟินล้มมีอยู่บ้างหากติดตั้งพัดลมไม่ดี เนื่องจากตัวฟินต้องมีความบางในระดับหนึ่งเพื่อประสิทธิภาพในการคายความร้อนที่ดี แต่ก็พบว่าไม่บางจนทำให้ฟินล้มได้ง่ายจนเกินไปนัก
บริเวณด้านข้าง มีรู ให้ทำการร้อยลวดยึดพัดลมถึงสองรูด้วยกัน สำหรับพัดลมที่มีขนาดหนา-บางแตกต่างกัน
ฐานทองแดงชุบนิกเกิล สไตล์ Thermalright ที่มีมานานตั้งแต่สมัยซิงค์ตระกูล XP120
ท่อฮีทไปป์ 4×2 ท่อ สีเงินเงาวาว
พัดลมขนาด 140 มม 14 โวลต์ 0.39 amp รอบการทำงานที 1500rpm
พัดลมที่แถมมาให้ เป็นพลาสติกธรรมดาไม่มีไฟ LED ครับ ตัวใบพัดเป็นแบบพลาสติกใสสีน้ำตาลเหลืองสวยงามดีเลยทีเดียว
ของแถมภายในกล่อง มีคู่มือการติดตั้งของทั้ง LGA775 และ 1366 ฐานล็อคของ 1366 และยางกันสะเทือนสำหรับติดตั้งกับตัวซิงค์ไว้รองรับแรงสั่นสะเทือนจากพัดลม เพื่อช่วยลดเสียงรบกวนนั้นเอง นอกจากนี้ยังมีซิลิโคน( เป็นซิลิโคนขาวธรรมดา) แถมมาให้อีกด้วยครับ
Cogage TRUE Spirit
TrueSpirit เป็นฮีทไปป์ทรง Tower ขนาดพัดลม 120mm อีกตัวหนึ่งจากค่าย Cogage ครับ ทำออกมารองรับกับซีพียูในซอกเก็ต 1366 โดยเฉพาะ โดยจะไม่มีชุดคลิปล็อคสำหรับ LGA775
ตัวซิงค์เป็นระบบฮีทไปป์ 4 เส้น ขดสองทาง ทรง Tower มาตรฐาน ใช้พัดลมขนาด 120mm สามารถติดตั้งพัดลมได้สองตัว (Sandwich) ได้
ลักษณะฐานเป็นฐานทองแดงชุบนิกเกิล ตัวฟินเป็นอะลูมิเนียมบาง ความถี่ของฟินค่อนข้างละเอียดเหมือนกันครับ หากสังเกตกันดีดีแล้ว บริเวณใต้พัดลมจะมีการติดชุดยางกันสั่นสะเทือนเพื่อลดเสียงรบกวนมาให้เรียบร้อยเลยทีเดียว
ด้านบนสุดของชุดฟินระบายความร้อนสลักชื่อ COGAGE และปลายสุดของฮีทไปป์ก็มีอะลูมิเนียมหุ้มอยู่ ทำให้บดบังลักษณะที่แท้จริงของฮีทไปป์ที่ส่วนใหญ่จะเป็นปลายแหลมบ้าง กุดบ้าง
ช่องร้อยลวดคลิปล็อคพัดลม อาจจะใส่ยากสักนิดหนึ่ง เพราะตัวฟินอาจจะมีการงอได้เมื่อทำการติดตั้งพัดลมไม่ตรง หรือเลื่อนไปเลื่อนมา แต่ก็ไม่ได้ติดตั้งยากเย็นนักครับ
ฮีทไปป์สีทอง ไม่มีการอำพรางสีแต่อย่างใด
ฐานมีการติดสติกเกอร์กันรอยมาอย่างดี
ทองแดงชุบนิกเกิล มีความเงาในระดับหนึ่ง
ส่วนนี้เป็นอะไรที่ผมชอบมากๆ ฐานล็อคแบบซิงค์มาตรฐานของอินเทล ระบบ กด-หมุน ติดตั้งง่ายดีครับ
ซิลิโคนที่แถมมาเป็นแบบซิลิโคนขาวธรรมดาของ Thermalright
System Test Info.
CPU | Intel Core I7 920 @3.8GHz Vcore 1.45 |
M/B | MSI X58 Eclipse SLI |
Ram | DDR3 2048×3 Triple Chanel |
VGA | ATI Radeon HD2900XT + HR03 R600 |
PSU | iCute AP650 (600watt) |
HDD | WesternDigital WD1600AAJS |
Cooling | Thermalright Trueblack vs Thermolab Baram vs Cogage MST140 vs Cogage TrueSpirit with Artic Cooling MX-1 Thermal Compound |
OS | Microsoft Windows Vista 64bit SP2 |
การทดสอบในห้องปรับอากาศตั้งที่ 25 องศาเซลเซียส (Ambient ประมาณดังรูป) - เราจะใช้ซีพียู Core i7 920 Rev C0 ในการทดสอบ โดยทำการ Overclock ไปที่ 3.8ghz และปรับไฟเลี้ยงไปที่ 1.45โวลต์ ในฮีทซิงค์ตัว Thermolab Baram และ Thermalright Trueblack ที่ไม่มีพัดลมแถมมาให้นั้น เราจะใช้พัดลม Thermaltake Thunderblade 2000rpm ในการทดสอบ ส่วน Cogage ทั้งสองรุ่น เราจะใช้ทั้งพัดลมที่ Bundle มาให้ และพัดลมที่เราใช้เป็นมาตรฐานสำหรับซิงค์ตัวอื่นๆ และการทดสอบซิงค์ทุกตัว ใช้ซิลิโคน Artic Cooling MX1 ในการทดสอบ
ทำการทดสอบกับโปรแกรม Burn ยอดนิยมอย่าง Prime 95 รันครบทั้ง 8Thread โหมด Blend เป็นเวลาประมาณ 10 นาที และเก็บผลด้วยกราฟจากโปรแกรม Speedfan 4.38 ครับ
Result
Thermalright TrueBlack (U120ex)
Thermolab Baram
Cogage Truespirit with Bundle Fan
กราฟของ Truespirit อาจจะดูแปลกๆไปสักนิด เพราะผมทิ้งช่วง IDLE นานไปหน่อยครับ
Cogage Truespirit with Thermaltake Thunderblade 120mm
Cogage MST140 with Bundle Fan
Cogage MST140 with Thermaltake Thunderblade 120mm
Conclusion Graph
ดูจากกราฟแล้ว ผลก็ไม่ค่อยเป็นที่น่าตกใจนัก ส่วนใหญ่จะเป็นไปตามคาดครับว่าฮีทไปป์ที่ออกแบบเป็นทรงแนวนอนอย่าง MST140 ก็จะทำผลงานได้ด้อยกว่าพวกที่ทำมาเป็นทรง Tower เป็นปกติอยู่แล้ว แต่ที่น่าสนใจคือ Thermolab Baram ที่ราคาค่าตัวถูกเพียงแค่ ราว 18xx บาท แต่กลับให้ประสิทธิภาพที่ดีพอๆกับ Thermalright Trueblack เลยทีเดียว กราฟอาจจะนิ่งสู้ Trueblack ไม่ได้ แต่ผมเชื่อว่ามันไม่ได้หนีกันมากอย่างแน่นอน มาดูที่ซิงค์ใหม่มาแรงอย่าง Cogage ก็นับว่าน่าในใจในระดับหนึ่งครับกับตัว TrueSpirit ที่สามารถทำผลงานได้ดี ประกอบกับข้อดีที่มีการติดตั้งที่ง่ายที่สุดในกลุ่ม (ใช้คลิปล็อคมาตรฐาน กดลงได้เลย ไม่ต้องถอดเมนบอร์ด) ส่วนผลการทดสอบของ MST 140 ที่ พัดลม 2000rpm กลับทำให้ร้อนกว่าพัดลมเดิมๆนั้น คงจะเป็นเพราะว่าพัดลมที่เราใช้ในการทดสอบนั้นเป็นแบบ 120mm จึงทำให้เกิด Deadzone มีความร้อนสะสม ไม่เหมือนพัดลมที่แถมมาให้จะเป็นขนาด 140mm จึงทำให้มีการระบายความร้อนที่ดีกว่านั้นเองครับ
สรุปสั้นๆง่ายๆสำหรับข้อดีข้อเสียในซิงค์แต่ละตัว
Thermalright TrueBlack - เป็นซิงค์ในตำนาน ข้อดีคือ เป็นซิงค์ที่ทำกราฟออกมาได้เนียนที่สุดในกลุ่ม (เช่นเคย) เนื้องานสวยงามตามสไตล์ Thermalright แต่ข้อเสียคือ ไม่มีพัดลมแถมมาให้ การติดตั้งต้องทำการติดตั้งเพลตด้านหลัง น้ำหนักมาก และราคาแพงที่สุดในกลุ่ม (เกินกว่าสองพันบาท)
Thermolab Baram - ข้อดีคือ ประสิทธิภาพต่อราคาดีที่สุดในกลุ่ม (ราคาประมาณ 18xx) เนื้องานอาจไม่สวยมากนักเหมือน Thermalright ติดตั้งยุ่งยากพอๆกับเจ้าอื่น ไม่มีพัดลมแถมมาให้
Cogage MST140 - ข้อดีคือ เป็นซิงค์แนวนอน ประหยัดเนื้อที่เคสในการติดตั้ง แต่อาจไปรบกวนการติดตั้งสายบางอย่างลงเมนบอร์ด ประสิทธิภาพกลางๆ ไม่หวือหวา แต่เน้นรูปทรงดุดัน สวยงาม สามารถโชว์ในเคสฝาใสได้ พัดลมที่แถมมาให้ขนาดใหญ่ 140mm มีดีไซน์ที่สวยงาม เนื้องานเนี๊ยบ (หน้ากล่องเขียนว่า Cooled by Thermalright) การติดตั้งยังคงยุ่งยาก ต้องรื้อบอร์ดออกมา
Cogage TrueSpirit - ข้อดีคือประสิทธิภาพดีกว่า MST140 พัดลมมีแถมมาให้ และสามารถซื้อมาติดตั้งเพิ่มแบบแซนวิชได้ เพราะเป็นซิงค์ทรง Tower ข้อดีอีกประการหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ สามารถติดตั้งได้ง่าย(แทบไม่ต้องถอดเมนบอร์ด) เพราะเป็นซิงค์คลิปล็อคแบบซิงค์ Stock ของอินเทล ระบบ กด - หมุน น้ำหนักก็ถือว่าเบา จึงทำให้การติดตั้งไม่ยากเย็นนัก เนื้องานสวย พัดลมที่แถมมาก็เป็นดีไซน์เดียวกับตัว MST140 เช่นกัน ข้อเสียคือ ประสิทธิภาพยังดูเหมือนไม่ถึงที่สุดใน Round Up test ครั้งนี้ครับ
สำหรับวันนี้ผมคิดว่าเพื่อนสมาชิก คงจะได้ข้อมูลในการตัดสินใจซื้อซิงค์ใหม่ให้กับซิสเต็ม I7 ใหม่ของท่าน ไม่มาก ก็น้อยนะครับ ข้อมูลทั้งหมด ในบางครั้งก็ไม่จำเป็นว่า คุณจะต้องซื้อ ตัวที่ใช้แล้วเย็นที่สุด เพราะในบางครั้ง ถ้าหากเรามองถึงประโยชน์ใช้สอยหลายๆอย่างแล้ว ซิงค์ตัวที่อาจจะใช้แล้วไม่เย็นเท่าตัวที่ดีที่สุด ก็อาจจะเป็นตัวที่ดีที่สุด สำหรับคุณ ก็ได้ครับ อยู่ที่การตัดสินใจส่วนบุคคล ขอแค่ให้มีความเป็นตัวของตัวเองให้มาก ก็พอครับ
และบทความนี้ก็จะไม่สามารถสำเร็จลุล่วงไปได้ หากไม่มีการเอื้ออำนวยฮีทซิงค์เพื่อทำการทดสอบ จากร้านขายอุปกรณ์ระบายความร้อนชื่อดังอย่างร้าน
Jedi พันทิพย์พลาซ่า ที่เอื้อเฝื้อซิงค์จากค่าย Cogage ทั้งสองตัว
และสำหรับวันนี้ก็คงต้องลาไปก่อน สวัสดีครับ