Review : Asus Eee Pad Transformer Prime
Share | Tweet |
…Asus Eee Pad Transformer Prime นั้นเรียกได้ว่าเป็นแทบเบล็ตรุ่นที่สองต่อจาก Transformer ในเจเนอร์เรชั่นแรก ที่ชูเอาความเป็นแท็บเบล็ตที่สามารถเสียบแท่น docking แปลงร่างกลายเป็นเน็ทบุคขนาดย่อมๆได้ (น่าจะเป็นที่มาของชื่อ Transformer) ใน Transformer prime นี้นั้นทาง Asus ได้มีการปรับปรุงรายละเอียดในหลายๆจุดมาให้ทรงประสิทธิภาพและทันสมัยมากขึ้น ทั้งในเรื่องของตัวประมวลผลที่อัพเกรดขึ้นมาเป็น Quadcore (NVIDIA TEGRA 3) ในขณะที่ตัวเก่าเป็น Tegra 2 Dualcore และมีดีไซน์ที่ถูกขัดเกลาให้ลงตัวขึ้นอีกด้วยครับ
Appearance
…Transformer Prime นั้นยังคงยืนยันขนาด 10.1 นิ้วเช่นเดียวกับแท็บเบล็ตตามเทรนด์ในหลายๆรุ่นหลายๆค่ายด้วยกันครับ ซึ่งขนาดระดับนี้นั้นก็น่าจะเป็นขนาดที่พอเหมาะพอดีสำหรับการใช้งานเป็นแท็บเบล็ตและเครื่องเน็ทบุคไปในคราวเดียวกัน ตัวหน้าจอนั้นมีความละเอียดผมเข้าใจว่าน่าจะเรียกว่าเกือบๆเข้าใกล้ HD 720P คือที่ความละเอียด 1280×800px ครับ
…ตัวถังโดยภาพรวมนั้นมีการปรับปรุงมาจากรุ่น Transformer รุ่นแรกให้ดีขึ้นมากเลยทีเดียวครับ ทั้งบอดี้ที่ผมสัมผัสได้ว่าเป็นวัสดุโลหะแทบทั้งแท่น ลายเครื่องด้านหลังนี้จากรุ่นแรกที่จะเป็นลายจุดๆ ที่ผมคิดว่าดูไม่ค่อยเข้าท่าเสียเท่าไหร่ เปลี่ยนมาเป็นวัสดุอะลูมิเนียมเก็บงานมาแบบ brushed วนเป็นวงกลมอย่างสวยงาม
…ขนาดนั้นเรียกได้ว่าให้ความรู้สึกเพรียวบางและลงตัวมากขึ้น ความบางอยู่ในระดับ 8.3mm และดีไซน์บริเวณขอบที่มีลักษณะแหลมๆเล็กน้อย ทำให้มันดูสวยงามดี แต่ผมคิดว่าจะทำให้การจับถือในกรณีที่เราไม่ได้ใส่ซองอะไรเอาไว้ ถือได้ลำบาก แบบเดียวกับที่ผมเคยเจอใน ipad นั้นแหละครับ
…หากสังเกตดีดีจะพบว่ากระจกของจอภาพแบบ IPS นี้นั้นก็ยังคงมีความเงาวาวในแบบฉบับจอกระจก ซึ่งกระจกแบบนี้เป็นกระจกแบบ Gorilla Glass ที่มีความแข็งแรงดี จอพาแนลแบบ IPS นั้นมีจุดแข็งในเรื่องของความคมชัด สว่าง ความเที่ยงตรงของสี มากเสียกว่าความสดใสของสีในแบบที่จอประเภทอื่นๆ ซึ่งเท่าที่ผมทดลองใช้งานดูก็พบว่ามันให้รายละเอียดสีสันที่ดูแล้วสบายตา และผมคิดว่า มันสวย ในแบบของมันเลยทีเดียวครับ กรณีเอาเครื่องไปใช้งานกลางแดด จะปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องมีแสงสะท้อนรบกวนจากจอแก้วอยู่มาก แต่ว่าตัวพาแนบ IPS ก็เปล่งแสงสู้แบบไม่ยั้ง ทำให้มันยังสามารถเรียกว่า “พอใช้งานได้” ในสภาวะกลางแจ้ง ถึงจะไม่ดีนัก
…ตัวแท่น docking ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายคีย์บอร์ดของเน็ทบุคทั่วๆไป เพียงแต่ปุ่มบางปุ่มนั้นจะมีการปรับมาให้เหมาะสำหรับเครื่อง android เช่นปุ่ม home หรือฟังก์ชั่นนั้นเองครับ
…ชุด keyboard docking นั้นเรียกได้ว่าสามารถใช้งานได้ดีไม่มีปัญหาอะไรมากนักครับ เว้นเสียแต่เรื่องของความสมดุลกันระหว่างน้ำหนักของตัวแท็บเบล็ต (จอ) กับตัวคีย์บอร์ด ที่ในหลายๆครั้งจะพบได้ว่าตัวจอมีน้ำหนักมากเกินไปทำให้บานพับเกิดอาการโงนเงนบ้าง รวมไปถึงหากไม่ระวังตัวเครื่องอาจจะพลิกตกไปอีกด้านได้ ซึ่งก็เป็นเหมือนๆเช่นกับใน transformer รุ่นแรกที่ผมเคยเจอมาแล้ว
…การใส่ติดตั้งเข้าไปก็ไม่ยุ่งยากเท่าไรครับ เพียงแค่เสียบลงไปให้เสียงล็อคดัง แก๊ก ก็จะใช้งานได้ทันที ซึ่งในตัว docking นอกจากจะมีคีย์บอร์ดมาให้ใช้งานแล้ว ยังมีชุดแบตเตอร์รี่เสริม ซึ่งหลังจากเสียบ docking เข้าไปแล้วเครื่องจะสนามารถใช้งานต่อเนื่องกันได้ถึง 18 ชั่วโมง เพิ่มจากการใช้งานแบบตัว tablet เดี่ยวๆที่เดิมทีจะใช้ได้แค่ 12 ชั่วโมงครับ
คีย์บอร์ดนั้นก็มีการวางเลย์เอาท์ได้ค่อนข้างดีถึงแม้ตัวเครื่องจะมีขนาดเพียง 10 นิ้ว การใช้งานพื้นที่บนคีย์บอร์ดนั้นทำมาได้ดีคุ้มค่ากับพื้นที่ครับ
ซึ่งถ้าเรามาดูในบริเวณด้านข้างของตัวเครื่องนั้นก็จะพบว่าในด้านซ้ายมือจะมีพอร์ตเชื่อมต่อเข้ากับสาย data อยู่ครับในส่วนของตัว docking
ด้านขวานั้นก็จะพบว่ามี USB อีกหนึ่งพอร์ต ซึ่งสามารถใช้งานเป็น host usb ได้ กล่าวคือสามารถเสียบอุปกรณ์จำพวก mass storage อย่างแฟลชไดร์ฟหรือฮาร์ดดิสก์ usb ได้ ส่วนถัดมาก็จะพบว่ามีการ์ดรีดเดอร์แบบ SD ชนิดเต็มใบ ประกอบกับที่ตัวเครื่อง tablet นั้นจะมีช่องสำหรับใส่ Micro-SD มาให้อีกช่องหนึ่งด้วย
มาดูที่ตัวแท็บเบล็ตก็จะพบว่ามีช่องสำหรับเสียบสายดาตา มาให้ช่องหนึ่ง ซึ่งช่องนี้จะถูกเสียบเข้ากับตัว docking ในเวลาที่เราเสียบ docking ใช้งาน และช่องกลวงๆสองช่องที่เห็นนั้นจะเป็นช่องสำหรับยึดล็อคกับตัวคีย์บอร์ดครับ
ช่องหูฟังขนาด 3.5mm ก็มีมาให้เช่นกัน
ปุ่ม volume และปุ่ม power นอกจากนี้ยังมีพอร์ต micro HDMI มาให้อีกด้วย
น้ำหนักรวมอะแดปเตอร์นั้นอยู่ที่ 689 กรัม
ทีนี้เราลองมาดูน้ำหนักรวมอะแดปเตอร์พร้อม docking ที่ทั้งชุดนี้จะพร้อมออกไปใช้งานได้แบบสไตล์เดียวกับโนตบุคขนาดเล็กๆครับ อยู่ที่ 1.23 กิโลกรัม ถือว่าเบากว่าเน็ทบุคและโน๊ตบุกขนาดเล็กทั่วไปอยู่เล็กน้อย
Features & Performance
…Transformer Prime ที่ผมได้รับมาทำการทดสอบนั้นติดตั้งระบบปฏิบัติการ Android Icecream-sandwich มาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเวอร์ชั่นนี้ถือว่าเป็นเวอร์ชั่นอัพเดตจาก android 3.2 เดิมที่ถูกเปิดตัวไปเมื่อปลายปีที่แล้ว (อัพเดตนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม) อินเตอร์เฟสหลายๆจุดนั้นผมบอกได้ว่ามันก็ยังไม่ต่างอะไรจาก android 3 มากนักครับ ซึ่งหลายท่านคงรู้กันว่าผมเองก็ไม่ถนัดมาจับผิดเรื่องของอินเตอร์เฟสซอท์แวร์อะไรนี่อยู่แล้ว ก็จะขอบรรยายไว้คร่าวๆก็แล้วกันครับ
เมนูต่างๆสามารถเข้าใช้งานได้ไม่ยากครับ ปุ่มควบคุมหลักของแอนดรอยอย่างปุ่ม back home menu และ search นั้นถูกรวมเอาไว้ในอินเตอร์เฟส เพราะว่าใน Transformer Prime นี้จะไม่มีปุ่ม hard key หรือ soft key ภายนอกจอเลยยกเว้นแต่ปุ่ม power และ volume
ทดลองเปิดดูรายละเอียดของตัวเครื่องกับโปรแกรม Elxir 2 โดยผมทดลองเปิดรายละเอียดของตัวซีพียูดูกฌพบว่า ชัดเจนครับว่าซีพียู Tegra 3 จาก NVIDIA นั้นใช้แกนประมวลผลแบบ ARMv7 เช่นเดียวกับ tegra รุ่นก่อน แต่เป็นแบบ 4 cores และทำงานที่ความเร็ว 1.2GHz
เมื่อลองทดสอบกับโปรแกรม Antutu Benchmark แล้วก็จะพบว่าคะแนนที่ทำได้นั้นแทบจะเกือบถึงสองเท่าของตัวเครืองที่ใช้ชิป Tegra 2 เลยทีเดียวครับ (Optimus 2X)
…การใช้งานนั้นถือได้ว่าแอนดรอย 4 และซีพียู Tegra 3 นั้นให้สัมผัสที่ลื่นไหลใช้การได้อยู่พอสมควรครับ จอภาพขนาดใหญ่ 10.1″ ความละเอียด 1280×800 ก็มีขนาดที่พอเหมาะพอดีกับความสามารถของชิป Tegra 3 หรือเรียกได้ว่าจะเล็กไปเสียหน่อย เพราะ Tegra 3 นั้นมีความสามารถในการเล่นไฟล์วีดีโอ HD ความละเอียดถึง 1080P ได้ด้วยซ้ำ (ในฟอแมต H.264) ซึ่งก็ฟังดูเข้าท่าดีครับสำหรับผู้ที่จะนำเอาเครื่องไปใช้งานกับจอที่เชื่อมต่อผ่านทางพอร์ต HDMI ที่มีมาให้ในตัวเครื่อง
…การเปิดเว็บนั้นก็เรียกได้ว่าทำได้ลื่นไหลและหน้าจอขนาด 10.1″ ความละเอียด 1280×800 นั้นก็ให้ขนาดที่พอเหมาะพอดีกับเว็บไซต์ทั่วๆไปในสมัยนี้แล้ว (เมื่อจับวางเครื่องในแนวนอน) หรือถ้าหากวางเครื่องในแนวตั้ง แล้วเข้าชมเว็บไซต์แบบ mobile page ก็จะพบว่าใช้งานได้พอดีจอและสบายตาเช่นกันครับ ส่วนการบราวซเว็บไซต์รองรับแฟลช และ HTML5 เรียบร้อยแล้ว ผมทดลองเข้าเว็บที่มีแฟลชมากๆ ซูมเข้าๆออกๆดู ทำได้ลื่นไหลในระดับหนึ่ง แต่ไม่ถึงกับลื่นจนน่าตกใจ (ในหน้าเว็บของเรา)
…แน่นอนว่าจุดเด่นที่สุดของเครื่อง Tablet ที่ใช้ซ๊พียูจากค่าย NVIDIA ก็คงจะเป็นเรื่องของ Tegra Zone ที่รวมเอาเกมที่เป็น “Tegra Optimized” ซึ่งคือเกมหรือแอพที่ถูกปรับปรุงมาให้ใช้งานประสิทธิภาพของซีพียู Tegra ได้อย่างเต็มที่ครับ โดยเกมหรือแอพเหล่านั้นมักจะลงท้ายชื่อด้วยคำว่า “THD” ซึ่ง Tegra Zoneนั้นจะใช้ฐานข้อมูลของแอพ ร่วมกับ Android Market
…จากที่ได้ทดลองเล่นเกมยอดนิยมอย่าง Fruit Ninja THD ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะเป็นเกมที่ไม่น่ามีรายละเอียดอะไรให้ได้นั่งชื่นชมกันมากนัก แต่เชื่อไหมครับว่าความคิดแว้บแรกของผมผิดถนัด เพราะ Fruit ninja เวอร์ชั่น THD นี้ให้รายละเอียด และความลื่นไหลดีกว่า Fruit Ninja เวอร์ชั่นมาตรฐาน และเวอร์ชั่น HD ที่ไว้สำหรับติดตั้งในเครื่องแท็บเบล็ตทั่วๆไปอยู่พอสมควร และรายละเอียดของรูปผลไม้และเอฟเฟ็คต่างๆก็ทำออกมาได้น่าประทับใจครับ
…แต่ทีเด็ดของ Tegra นั้นคงไม่้ได้มีเพียงแค่เกมยุคบุกเบิกของ Tegra Zone อย่าง Fruit Ninja หรือ Dungeon Defender แน่นอน ตอนนี้มีเกมใหม่ๆที่ถูกพอร์ตมาจากแพลตฟอร์มหลายๆแพลตฟอร์มมาให้ได้ลองเล่นกันอย่าง GTA III ที่ผมเข้าใจว่าถูกพอร์ตมาจากเกมพีซี ก็มีมาให้ได้เล่น แบบที่เรียกได้ว่า ฟีเจอร์ทุกๆฟีเจอร์ มีให้ได้เล่นกัน (แม้กระทั่ง cheat code พิมพ์ทางคีย์บอร์ด) การควบคุมนั้นยังคงเป็นอุปสรรค์สำหรับเครื่องแท็บเบล็ต แต่เมื่อติดตั้งคีย์บอร์ดลงไปแล้วก็ถือได้ว่าพอจะช่วยได้บ้าง ซึ่งเกมหลายๆเกมก็สนับสนุนการเชื่อมต่อ controller หรือจอยสติกแยกอยู่แล้ว (ลองสังเกตดูใน Tegra Zone)
…
…
…สำหรับในรีวิวนี้ผมก็คงจะหมดเรื่องราวที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังไว้แต่เพียงตรงนี้ครับ ทิ้งท้ายกันไว้ที่รายละเอียดในจุดสุดท้ายที่ผมคิดว่าผู้่อ่านหลายคนคงสงสัย คือ Transformer Prime นี้ที่ผมได้มานั้น จะไม่มีการเชื่อมต่อเครือข่ายโทรศัพท์ หรือ 3G นะครับ มีแต่ Wifi และมีความจุเมมโมไรีภายใน 32GB ในราคาที่ 20900 บาท โดยเริ่มต้นเปิดตัว
…ซึ่งถ้าถามถึงประสิทธิภาพแน่นอนว่าผมคิดว่า Tegra 3 นั้นน่าจะเป็นชิปสำหรับ smart device ที่แรงและเร็วที่สุดสำหรับชั่วโมงนี้แล้ว (ในฝั่งแอนดรอย) เพราะนอกจากแกนประมวลผลแบบ ARMv7 สี่แกนแล้วยังมีแกนประมวลผลกราฟฟิคแบบเดียวที่เราจะพบได้ในกราฟฟิคการ์ดในค่ายนี้ (Geforce) ถึง 12 แกนด้วยกัน (12 Shader unit) ถึงแม้ว่าเกมใน Tegra Zone หลายท่านจะบอกว่ายังมีให้เลือกเล่นไม่มากสะใจเสียเท่าไหร่ แต่ก็ถือได้ว่าปรับปรุงจากยุคสมัยที่ Tegra 2 เปิดตัวใหม่ๆมามากพอสมควร ผมคิดว่าอนาคตค่อนข้างสดใสครับ เมื่อประเมินจากประสิทธิภาพของตัวชิปแล้ว
…การใช้งานโดยทั่วๆไปทั้งระบบปฏิบัติการและแอพพลิเคชั่นต่างๆคงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงแล้วสำหรับอัพเกรด Android 4.0 ที่ผมไม่พบปัญหาการใช้งานใดๆ แต่ยังคงมี complain มาจากทางหลายๆเว็บไซต์ว่ามีปัญหาเรื่องการจับสัญญาณ GPS ที่ค่อนข้างช้าและจับในพื้นที่ใต้ชายคาได้ลำบาก ซึ่งก็คงอาจจะต้องมีการปรับปรุงซอฟท์แวร์ในภายหลัง
.
.