Review : HP Pavilion DV2
Share | Tweet |
HP Pavilion DV2
…สวัสดีรายวันกันอีกเช่นเคย สำหรับวันนี้ ก็คงจะต้องเป็น หน้าที่ของผมที่จะต้องมาคอยอัพเดตผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่ผู้สนับสนุนใจดีทั้งหลายของพวกเราได้ทยอยส่งกันมาให้ได้ทดลองใช้งาน และทดสอบประสิทธิภาพกันอย่างไม่ขาดสาย และในวันนี้ ก็มาถึงคิวของ HP Pavilion DV2 “Notebook PC” ขนาด “Ultra portable” จาก HP ที่ยังต้องเรียกว่าโน๊ตบุ๊ก ก็เพราะว่าคุณสมบัติของมันนั้น ดูเหมือนจะไม่ใช่เน็ทบุก นั้นก็เพราะว่า ประสิทธิภาพในการประมวลผลที่ดีกว่า รวมไปถึงขนาดจอ ที่ยังไม่ถึงกับเล็กมากจนเกินไปนั้นเอง
Processor | AMD Athlon Neo MV-40 (Single Core 1.6Ghz L2 512kb) |
Chipset | AMD RS690 |
Memory | 2GB DDR2 |
Graphics Adapter | ATi Radeon HD3410 |
Display | 12.1″ WXGA |
Harddisk | 320gb 5400rpm SATA2 |
Optical Drive | External USB (Supplied in box) |
Network | Broadcom 4322AG |
Connection Port | 5 in 1 cardreader, HDMI, USB x3. VGA, RJ45, Simcard |
Battery | 4910mah |
Weight | 1.736kg |
OS | Windows Vista Home Premium |
ดูแล้วอาจจะแปลกใจที่คราวนี้ Hp เลือกใช้ซีีพียูจากค่ายสีเขียว ซึ่งเป็นซีพียูในกลุ่มประหยัดพลังงานอย่าง Athlon Neo และเป็นซีพียูซิงเกอลคอร์ 65 นาโนเมตร ประกอบกับจุดเด่นอันแข็งแกร่งของค่ายสีเขีัยว นั้นคือกราฟฟิคอินตริเกรตในชิปเซ็ตที่มีพลังค่อนข้างแรงอย่าง HD3410 ในชิปเซ็ต 690 ซึ่งให้ประสิทธิภาพในการแบ่งเบาภาระขณะเล่นแผ่น Bluray ได้ดีกว่ากราฟฟิคการ์ดของหลายๆค่าย และจอขนาด 12.1 นิ้ว ซึ่งทำให้ตัวเครื่องมีขนาดเล็กกระทัดรัด แต่เสียอย่างเดียวที่ตัวไดร์ฟ DVD นั้นยังคงแยกมาให้ ชวนให้ผมนึกถึงโน๊ตบุ๊กเครื่องเล็กๆสมัย Pentium M ULV ที่ผู้ผลิตมักจะงัดเอาไม้ตายแบบนี้มาใช้ คือแถมออฟติคัลไดร์ฟแบบ USB มาให้ต่างหากนั้นเอง อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับเจ้าเครื่องนี้ก็คือ มีโมเดมที่ใส่ซิมการ์ได้ในตัวเครื่องเอง จึงทำให้แทบจะไม่ต้องง้อเน็ทจาก Wifi นอกสถานที่เลยทีเดียว
ภาพจากโปรแกรม Everest แสดงรายละเอียดของเครื่อง
ว่ากันด้วยเรื่องของบอดี้ สำหรับเครื่องที่เราได้รับ เป็นสีขาวนวล วัสดุที่ใช้ก็เป็นพลาสติกเงามันในระดับหนึ่งครับ
ภาพรวมของตัวเครื่อง งานประกอบ ต้องยอมรับเลยว่า HP รุ่นนี้ เก็บรายละเอียดงานมาสวยเลยทีเดียว สัมผัสจากการกดคีย์บอร์ดและ Handrest นั้นไม่พบว่ามีอาการยุบตัวให้เห็นแต่อย่างใด
ดูเลย์เอาท์คีย์บอร์ด ก็ถือว่าจัดมาได้เนียนดี ส่วนตำแหน่งคงแล้วแต่คนชอบ ส่วนปุ่มนั้นจะออกมาสไตล์ HP คือแต่ละปุ่มจะมีการบุ๋มลงไปเล็กน้อย สร้างฟีลในการพิมพ์ได้ดีครับ
ทัชแพดสีเงินเงาวาว สวยงามดีครับ ใช้งานก็ค่อนข้างสะดวก แม่นยำพอสมควร และขนาดกำลังดี (สมประกอบ) ไม่ทำให้หงุดหงิดเวลาใช้งานแต่อย่างใด
พอร์ตด้านซ้ายมือ มี USB x2 HDMI และ DSUB รวมไปถึงพอร์ต RJ45 สำหรับสายแลน
หันมาอีกด้านหนึ่ง ก็จะพบกับสิ่งที่ผมหามานานครับ คือ สวิชเปิดปิด (สวิชอันซ้ายสุดในรูป) นั้นแหละครับ คือสวิชเปิดเครื่อง (ใช้การเลื่อนเอา) ส่วนถัดมาก็จะเป็นปุ่มเปิดปิดระบบไร้สาย ถัดมาอีกก็จะเป็น Cardreader และสุดท้ายก็ USB ครับ
หน้าตา DVD-RW ที่ติดมาในกล่อง
หรูหรา เข้าคู่กันดีครับ แต่สายสั้นไปนิ๊ดนึง เข้าใจว่าคงจะออกแบบมาให้สะดวกต่อการพกพา
ลำโพงบริเวณด้านหน้าเครื่อง หันลงพื้น จาก Altec Lansing ให้คุณภาพเสียงที่ดีใช้ได้เลยสำหรับโน๊ตบุ๊ก (ดีกว่าลำโพงที่ไม่ตีแบรนด์หลายตัวอยู่จริงๆครับ)
ด้านใต้ ฝาสามารถเปิดได้เกือบทั้งหมด
สองฝานี้คือฝาฮาร์ดไดร์ฟ และฝาสำหรับชุดเมมโมรี่ และ Wireless card
ส่วนฝานี้ผมคาดว่าน่าจะเป็นของ Modem สำหรับเชื่อมต่อเน็ทผ่าน Sim card
ตรงนี้คือช่องใส่ซิมการ์ดที่ว่าครับ ต้องทำการถอดแบตเตอร์รี่ออกมาก่อน
แบตเตอร์รี่ขนาด 4910 มิลลิแอมป์ชั่วโมง ทำให้ผมผิดหวังนิดๆกับซิสเต็มนี้ครับ
น้ำหนักสุทธิ 1.736กิโลกรัม
น้ำหนักสุทธิ (รวมสายชาร์จ) 2.122กิโลกรัม
รวมไดร์ฟ DVD-RW 2.573 กิโลกรัม
ทดสอบจอในแต่ละมุมมอง
Super PI 1mb
มาดูในด้านประสิทธิภาพ ผมเลือกหาตัวเปรียบเทียบไม่ค่อยถูกเลย เพราะชั่งใจระหว่างNetbook และโน๊ตบุ๊กกลุ่ม Ultra portable อื่นๆ ผมอยากให้ดูในส่วน Super PI ก่อน ว่าซีพียูที่มีโครงสร้างจากยุค K8 ก็ต้องทำใจว่า สามารถทำได้ประมาณนี้ แต่ถ้าหากมองราคาต่อยูนิตแล้ว ถูกกว่า พวกตระกูล SU จากทางฝั่งอินเทล ( Core2 Duo/Solo) ส่วนตัวผมก็ยังคิดว่า ยังมีเหตมีผลอยู่บ้างที่จะพูดว่า ซีพียูตัวนี้ ยังน่าเอามาใส่ในโน๊ตบุ๊ก กล่าวโดยรวมๆคือ ประิสิทธิภาพมันอยู่ตรงกลางระหว่าง ซีพียูตระกูล SU จากอินเทล และ Atom จากอินเทล เช่นกัน
HDTune Benchmark (Disk Read performance)
Battery Time
ทดสอบด้วยโปรแกรม Batterry eater เปิดโหมดประหยัดพลังงาน ปรับความสว่างของจอที่ 50%
ส่วนนี้เป็นความผิดพลาดของผู้ทดสอบ แต่ผลที่ได้จากโปรแกรมคือ 1ชั่วโมง 30 นาทีครับ จากแบตเตอร์รี่ขนาด 4950 มิลลิแอมป์ นับว่ายังไม่เป็นที่น่าประทับใจเท่าไหร่ สำหรับซีพียูคอร์เดี่ยว ที่พกเอาแบตเตอร์รี่ความจุขนาดกลางๆมาแบบนี้ ซึ่งหากจะยืนยัน ก็คงไม่มีรูปมาให้เพราะเกิดจากความผิดพลาดส่วนบุคคลของผู้ทดสอบเอง แต่อย่างไรก็ดี ท่านสามารถเช็คผลกับเว็บเพื่อนบ้านของเราอย่าง notebookspec.com ได้เช่นกันครับ โดยท่านจะสังเกตว่า ผลการทดสอบของโปรแกรม Batterry eater โดยทดสอบในโหมดประหยัดพลังงานที่เราทำกันอยู่เป็นมาตรฐานของเรานั้น ผลส่วนใหญ่มักจะออกมาคาบกึ่งกลางระหว่างการใช้งานแบบ Full load กับการเปิดเครื่องไปตลอดอายุแบตเตอร์รี่
Synthetic Benchmark
Sisoft Sandra 2009
ดูคะแนนจาก Sisoft แล้วไม่น่าต้องสงสัยเลยว่า ซีพียูตัวนี้ คล้ายๆ K8 หลงยุคมาอยู่ในโน๊ตบุ๊ก
PCmark05
คะแนนระบบโดยรวมก็ยังคงเป็นไปตามคาดว่ามันคาบเกี่ยวระหว่าง Atom กับ C2D ตระกูล SU จริงๆครับ
3Dmark06
อันนี้ดูเหมือนว่า AMD จะเ็ป็นแจ๊คผู้ฆ่ายักษ์ เพราะว่าประสิทธิภาพที่่เหลือเชื่อของชิปเซ็ต 690 เป็นเอกลักษณ์ของซิสเต็ม AMD เลยทีเดียว ที่เรามักจะได้กราฟฟิคอินตริเกรตที่ดีกว่าคู่แข่งเสมอครับ
.
HP Pavilion DV2 ผมต้องบอกก่อนเลยว่า ทั้งหมดนี่ คือสิ่งที่คุณจะได้ จากโน๊ตบุ๊กราคาประมาณสามหมื่นบาท (ไม่น่าจะถึงด้วยนะครับ) ประกอบกับ ผมเองก็มีความลำบากใจในการเปรียบเทียบเหมือนกัน เพราะจริงๆแล้ว AMD เองตั้งใจจะวาง Athlon Neo ตัวนี้ เขาไว้เทียบมวยกับพวกซีพียูประหยัดพลังงานราคาประหยัด แต่ว่า จะไปเทียบกับ Atom 100% ก็ดูเหมือนจะเป็นการโหดร้ายต่อค่ายสีฟ้าไป เพราะว่าเจ้า DV2 นั้นก็เรียกได้เลยว่าเป็นโน๊ตบุ๊กแทบจะเต็มตัวอยู่แล้ว ทั้งขนาด การดีไซน์ และโครงสร้างหลายๆอย่าง สิ่งที่อยากให้มองในแง่ของประสิทธิภาพคือ มันเป็นโน๊ตบุ๊กที่มีระบบภายในที่มีความสามารถคาบเกี่ยวกันอยู่ระหว่างซิสเต็มที่เป็น Atom กับ Centrino 2 ที่ใช้ Core 2 duo/Solo ตระกูล SU (ประหยัดพลังงาน)
ข้อดีอีกหลายอย่างที่ผมกำลังจะกล่าวถึงในพารากราฟสรุปนี้ก็คือ ช่องใส่ซิมการ์ดที่ทำให้คุณสามารถออกไปกลางทุ่ง ขี่ไอ้ทุยวิ่งลุยท้องนา แล้วก็เสียบซิมการ์ดต่อเน็ทได้สบายๆ ไม่ต้องง้อ Acess point แต่อย่างใด ซึ่งผมคิดว่ามันมีประโยชน์มากสำหรับคนที่ชอบเดินทาง ประกอบกับพอร์ตเชื่อมต่อ ที่มี DVI มาให้วัดใจกันว่ากราฟฟิคของ ATI ประกบกับซีพียูซิงเกิลคอร์นั้น จะดูหนังไฮเดฟ จอใหญ่ๆได้ลื่นไหลหรือไม่(อันนี้ผมเองก็ไม่เคยทดสอบเหมือนกัน) รวมไปถึง งานประกอบที่ผมค่อนข้างรู้สึกแฮปปี้กับมัน ตลอดเวลาที่ผมได้ทดลองใช้งานมันมา ดูแล้ว แทบจะบอกได้เลยว่า มันเป็นของมีราคา น่าทนุถนอม แต่ถ้าถามราคามันแล้วล่ะก็ คงไม่น่าต้องพูดซ้ำอีกว่ามันราคาเท่าไหร่นะครับ
สำหรับข้อเสียก็คงจะเป็น ไดร์ฟ DVD ที่ยังคงต้องมีการต่อแยกออกมา สร้างความลำบากในการพกพาไม่ใช่เล่น รวมไปถึงแบตเตอร์รี่ถึงแม้จะมีมาให้ถึง 4910 มิลลิแอมป์ชั่วโมง แต่ก็ยังใช้งานจริงๆจังๆได้เพีัยงแค่ชั่วโมงครึ่ง หรือเต็มเหยียดสุดก็คงจะแค่สองชั่วโมง (ไม่ต่างอะไรจากพวกโน๊ตบุ๊กแรงๆเครื่องใหญ่ๆเลย) นั้นเองครับ
สรุปคือ Pavilion DV2 ถ้าคุณไม่แคร์ แบตอยู่ได้ชั่วโมงครึ่ง ถ้าคุณอยากได้ความบางเบาและหรูหราในสไตล์โน๊ตบุ๊ก Ultra portable แต่ไม่อยากจ่ายแพง Pavilion DV2 น่าจะตอบโจทย์แบบนี้คุณได้ ตรงตัวที่สุดครับ
.
ขอขอบคุณ
HP ประเทศไทย