Review : Linksys Smart Wi-Fi Router EA4500
Share | Tweet |
…วันนี้ผมมีรีวิวของอุปกรณ์เนทเวิร์คที่หลายๆท่านน่าจะรู้จักกันดีจากค่าย Cisco linksys ในรุ่น Linksys EA4500 ครับ ซึ่งเป็น Wi-Fi Router แบบ Dualband 2.4/5GHz และสนับสนุนการทำงานกับ Wireless N900 (IEEE802.11N) พร้อมกับพอร์ต Gigabit Ethernet อีก 4 พอร์ตมาให้ในตัวอีกด้วย หากท่านเข้าไปในเว็บของทาง Cisco เองก็จะพบและเข้าใจครับว่า EA4500 นั้นถูกวางตำแหน่งให้เป็น กลุ่ม “Smart Wifi Router” ซึ่งจะต่างจากพวกตระกูล E series ธรรมดา ที่จะไม่มีการรองรับในเรื่องของระบบ CCC หรือ Cisco Cloud Connect ครับ
…เมื่อเปิดกล่องมาก็จะพบกับตัวเราเตอร์สีดำ พร้อมสายแลน CAT6 หัวต่อแบบ RJ45 มาตรฐานสำหรับ ethernet 1gbps และที่สำคัญมากคือแผ่นซีดีสำหรับเซ็ตอัพ ซึ่งเดียวเราจะมาดูกันครับว่าทำไมถึงสำคัญขนาดนั้น ส่วนอะแดปเตอร์จ่ายไฟก็มีขนาดเล็กๆจ่ายไฟ 19โวลต์ ขั้วต่อเป็นแบบเดียวกับโน๊ตบุ๊กหลายๆค่ายเลยครับ
…เจ้า EA4500 เรียกได้ว่าเป็นโมเดลเรือธงของกลุ่มผลิตภัณฑ์ Smart Wi-Fi Router ของทาง Cisco Linksys เลยก็ว่าได้ครับ นอกจากเจ้า EA4500 แล้วก็ยังคงจะมีตัว EA6500 รุ่นใหม่ที่เป็น Wireless AC แต่สำหรับ 4500 นี้จะเป็นเร้าเตอร์ดูอัลแบนด์ 2.4+5GHz ที่ภายในนั้นจะมีชิป transiever (ตัวรับส่งสัญญาณ) แยกกันทำงานทั้งสองย่านเลย ดังนั้นเวลาเราใช้งานเนี่ย เวลาเราเชื่อมต่อก็จะพบว่าจะมี SSID สองชื่อปรากฏขึ้น ชื่อหนึ่งก็จะเป็นสำหรับย่าน 2.4 อีกชื่อนึงก็จะสำหรับย่าน 5 โดยทั้ง 2 ย่านนี้รองรับความเร็วสูงสุดตามมาตรฐาน IEEE802.11N คือที่ 450Mbps ดังนั้นเจ้าชื่อ Wireless N900 เนี่ย ที่มามันก็คือเป็น 450Mbps DualBand operation คือมี 450 สองช่องให้ใช้งาน ก็จะได้ throughput สูงสุดเป็น 900 นั้นเองครับ
…สำรวจรอบๆตัวเครื่องก็จะพบว่า ตามสไตล์ของ Cisco/Linksys รุ่นใหม่ๆที่เป็นอุปกรณ์ไวเรสใช้งานในบ้าน จะไม่มีเสาอากาศภายนอกโผล่ออกมาให้เห็นกันอีกต่อไป แต่อย่างไรก็ดี เจ้า EA4500 ภายในนั้นบรรจุสายอากาศทั้งในย่าน 2.4GHz 3 ชุด และ 5GHz อีก 3ชุด การเรียง array สายอากาศแบบนี้เขาจะเรียกว่า 3×3 ซึ่งสายอากาศหลายๆชุดดังกล่าวจะทำงานร่วมกับเทคโนโลยีที่มีบรรจุอยู่ในมาตรฐาน IEEE802.11N อย่าง “MIMO” (Multiply Input Multiple Output) ที่จะช่วยเพิ่มความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลผ่านสายอากาศหลายๆชุดนี้ครับ
…เมื่อ ลองมาดูดีไซน์ของเจ้า Smart Wi-Fi Router EA4500 แล้วก็พบว่าดีไซน์นั้นก็เป็นเหมือนๆกับเราเตอร์จากค่ายนี้ในรุ่นใหม่ๆ เหมือนๆกันแทบทั้งนั้น คือเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีส่วนโค้งนูนขึ้นมานิดหน่อย สีที่ใช้นั้นเป็นสีดำที่มีการเก็บงานมาแบบ matte ออกจะด้านๆสักนิดหนึ่ง แล้วคาดด้วยลายเมทัลลิกตรงกลาง งานประกอบโดยภาพรวมยังถือว่าแน่นหนาใช้ได้ตามสไตล์อุปกรณ์เน็ทเวิร์คชั้นดี
…ด้านใต้เครื่องนั้นจะพบว่าเป็นพลาสติกทำลายเหมือนกับลายจักสานมีรูระบายความร้อนอยู่เต็มไปหมด ซึ่งก็น่าจะเป็นผลดีกับการใช้งานต่อเนื่องกันเป็นเวลานานๆและสำหรับอากาศร้อนๆอย่างบ้านเรา
การเชื่อมต่อใช้งานนั้นมีพอร์ต Ethernet 1Gbps มาให้ทั้งหมด 4 พอร์ต และพอร์ต Ethernet สีส้มนั้นมีไว้สำหรับเสียบเข้ากับ Cable modem หรือ DSL modem ส่วนช่อง USB ที่มีมาให้ทั้งหมด 1 ช่องนั้นก็มีไว้สำหรับเสียบอุปกรณื storage หรือจะไว้เสียบแชร์ปรินเตอร์ ผ่านระบบ Cloud ของ Cisco ก็ได้เช่นกันครับ
…สังเกตดีดี ปุ่ม WPS ก็ยังคงมีมาให้ครับ ไว้สำหรับการเซ็ตอัพผ่านเครือข่ายไร้สายกับ Windows 7 อย่างรวดเร็ว ซึ่งจริงๆแล้วการเซ้ตอัพนั้น ควรจะทำตามคู่มือและตามแผ่น CD
…การเริ่มเซ้ตอัพนั้นสำหรับเฟิร์มแวร์รุ่นใหม่ของเจ้า E4500 แบบที่ผมได้รับมานั้น จะต้องทำผ่านทาง CD ที่แถมมาให้เพียงอย่างเดียวครับ แล้วตัว wizard จะพาคุณเซ็ตอัพผ่านระบบ wireless ซึ่งผมลองใช้สายแลนเซ็ตดู ก็พบว่าใช้ได้เช่นกัน แต่ใน wizard จะไม่ได้ระบุไว้ว่าสามารถใช้สายแลนได้ แต่หากไม่ใช้ CD ล็อกอินเข้าหน้า 192.168.1.1 จะสามารถแก้ได้แค่รหัสผ่าน wireless และการเชื่อมต่ออินเตอร์เนทเท่านั้น ซึ่งการเริ่มเซ็ตอัพทั้งหมดที่ผมกล่าวมา คุณจะต้องมีการเชื่อมต่ออินเตอร์เนทผ่านทาง Modem เตรียมรอไว้อยู่แล้วนะครับถึงจะทำการเซ้ตได้สำเร็จลุล่วงไป และเมื่อเซ้ตอัพเสร็จ เราสามารถจัดการปรับตั้งค่าการทำงานผ่านแอพพลิเคชั่น Cisco Connect Cloud ได้จากเครื่องพีซี หรือผ่านอุปกรณ์สมาร์ทดีไวซ์อย่าง Android หรือ iOS ก็ได้เช่นกัน
…การเซ็ตอัพครั้งแรก ตัว wizard จะพาเราเข้าไปที่ www.ciscoconnectcloud.com เพื่อสร้าง account ฟรีสำหรับการใช้งานงานระบบ Cisco Connect Cloud ซึ่งหากเราไม่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เนทได้ ก็ยังคงสามารถลอกอินเข้าไปใน 192.168.1.1 แต่มันจะสามารถแก้ไขคต่าได้เพียงแค่การตั้งค่า LAN และ WAN พื้นฐานเท่านั้น ไม่สามารถเข้าไปจัดการกับระบบ Cloud ได้ ซึ่งผมคิดว่า ไอ้เจ้าเมนูหน้าเว็บแบบเก่าที่ต้องลอกอินผ่าน 192.168.1.1 นั้นน่าจะยังเอาไว้อยู่เหมือนเดิมน่าจะดีกว่า ตรงนี้ก็คงต้องพูดลอยๆไปให้วิศวกรของทาง Cisco พิจารณากันด้วยนะครับ
…ทีนี้พอถึงเวลาใช้งานจริง แอพพลิเคชั่น CCC ดังภาพที่เห็นก็มีการแบ่งแยกหมวดหมู่ไว้ได้อย่างสวยงาม และมีการดึงเอาฟีเจอร์และการตั้งค่าที่อาจจะต้องได้เข้ามาตั้งกันบ่อยๆมาไว้ในเมนูด้านซ้ายมืออย่างง่าย เช่น Device list, Guest Access, Parental Control , Media Prioritization, Speed Test, USB Storage ฟีเจอร์หลายๆตัวนั้นเริ่มจากที่ดูน่าสนใจก็คงจะเป็น USB Storage ที่พอร์ต USB สามารถรองรับการเชื่อมต่อ storage สำหรับใช้งานเป็นระบบ cloud ภายในบ้าน รองรับระบบไฟล์แบบ NTFS ความจุเกินกว่า 2TB ได้สบายๆ หรือจะไว้ใช้ต่อปรินเตอร์ก็ได้เช่นกัน ซึ่งน่าเสียดายที่พอร์ต USB มีมาให้เพียงพอร์ตเดียว
…ที่ผมบอกว่าดีใช้งานง่าย สำหรับใครที่เป็นคนที่เคยปรับตั้งค่า router ผ่านหน้า web ui แบบเก่าๆ ลองนึกถึงการปรับตั้งค่า QoS ดูครับ ปกติแล้วมันจะเป็นเรื่องวุ่นวายพอสมควร แต่สำหรับ EA4500 เราสามารถปรับตั้งลำดับความสำคัญให้กับอุปกรณ์ network ภายในบ้านได้ง่ายๆด้วยฟีเจอร์ Media Prioritization เช่นสมมุตกำลัง Streaming ภาพยนตร์จาก media server ไปยัง HDTV อยู่ แล้วมีผู้ใช้อีกกลุ่มหนึ่งกำลังเล่นเฟสบุคอยู่ เราในฐานะแอดมินก็สามารถที่จะเข้าไปตั้งค่าลำดับความสำคัญให้ HDTV ได้รับสิทธิ์ที่จะใช้ทรัพยากรณ์ในเนทเวิร์คได้สูงที่สุดก่อนครับ
…นอกจากฟีเจอร์การทำ Media prioritization แล้ว ความสามารถในการทำ Parental Controls หรือบล๊อกเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม สำหรับผู้ใช้ที่เป็นเด็กและเยาวชน ก็สามารถทำได้เช่นกัน และสามารถสั่งบล๊อกเว็บไซต์ผ่านอินเตอร์เนท (ผ่านอุปกรณ์ smart device) จากภายนอกบ้านได้อีกด้วย ซึ่งแอพพลิเคชั่นที่ไว้ใช้งานกับ smart device ก็มีอยู่ด้วยกันหลายตัวครับ โดยการเข้าถึงข้อมูลผ่านทางอินเตอร์เนทจากภายนอกบ้านนั้น มีแอพให้เลือกโหลดใช้งานอยู่หลายตัวเหมือนกันครับ หากสนใจก็ลองเข้าไปที่ http://home.cisco.com/en-us/cloud มีแอพให้เลือกทั้งค่าย iOS และ Android เลยทีเดียว
.
.
…Linksys EA4500 เป็น Smart Wi-Fi router ที่เรียกได้ว่ามีฟีเจอร์มาครบครันและเพียบพร้อมสำหรับการเชื่อมต่อเครือข่ายไร้สายภายในบ้านสมัยใหม่ Cisco ก็เป็นแบรนด์อุปกรณ์เนทเวิร์คที่ได้รับการยอมรับในวงการเป็นเวลานาน ซึ่งสำหรับทุกวันนี้ EA4500 ก็น่าจะตอบโจทย์การใช้งานส่วนใหญ่ได้ครบถ้วน เว้นก็เสียแต่เรื่องของพอร์ต USB ที่น่าจะมีมาให้อย่างน้อยๆ 2 พอร์ต แบบที่คู่แข่งหลายๆเจ้ามีกันนะครับ ส่วนอีกจุดหนึ่งก็คงจะเป็นเรื่องของ Wireless AC มาตรฐานใหม่ที่กำลังจะเข้ามา ตัว EA4500 นี้ก็ไม่มีการรองรับ หากจะเล่นจริงๆก็คงต้องขยับไปเป็นรุ่น EA6500 ที่เพิ่งออกมาได้ไม่นาน และข่าวดีคือ EA6500 ก็มี USB มาให้ 2 พอร์ตแล้วด้วยครับ
.
.
สำหรับวันนี้ก็คงต้องลาไปก่อน สวัสดีครับ