Review : Sony Walkman Z series (Z1050)
Share | Tweet |
…ผมคิดว่านานมากแล้วที่เราไม่ได้ยินชื่อหรือได้เห็นอะไรในนามของแบรนด์ “Walkman” จากโซนี่ ครั้งล่าสุดที่เราได้รีวิวสินค้าในหมวด “Walkman” นั้นก็คงจะเป็นเจ้า Walkman X series ที่เป็นวอล์คแมนจอทัชสกรีนรุ่นแรกๆของทางโซนี่ ตอนนั้นผมจำได้ว่ามันเป็นจอ OLED มุมมองภาพกว้างมากๆ แต่โอเอสเป็นของโซนี่เองซึ่งทำให้การใช้งานนั้นค่อนข้างจำกัดไว้แต่เพียงการเล่นเพลงเป็นเสียส่วนใหญ่ มาในวันนี้โซนี่ได้เปิดตัว Walkman Z series ซึ่งก็ถือเป็นอีกหนึ่งใน Walkman ระดับไฮเอนด์ จอทัชสกรีน ที่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android 2.3 และซีพียูทรงพลังอย่าง Tegra 2 ความเร็วถึง 1GHz จาก NVIDIA และหน้าจอทัชสกรีนแบบ capacitive ใหญ่ถึง 4.3 นิ้ว แบบ TFT ใช้ LED เป็นไฟ backlid ครับ
…หลังจากที่แกะหีบห่อกล่องที่ค่อนข้างเรียบง่ายของเจ้า Walkman Z มาแล้วก็จะพบกับหูฟังแบบ in ear หนึ่งชุด พร้อมกับ earbuds ให้เลือกใช้งานกันสามขนาดตามมาตรฐานหูฟังประเภทนี้ ตัวเครื่องนั้นถึงแม้ว่าหน้าจอจะมีขนาดใหญ่ถึง 4.3 นิ้ว และมีความละเอียดถึง 800×480 พิกเซล แต่ภาพรวมของตัวเครื่องนั้นมองเผินๆและสัมผัสไปเผินๆ ก็ให้อารมณ์เหมือนกำลังถือโทรศัพท์มือถืออยู่เหมือนกัน ถึงแม้ว่า Walkman Z series นี้จะไม่สามารถใช้งานโทรศัพท์ได้ก็ตาม การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ทนั้นจะทำได้ผ่านจากทาง WiFi เท่านั้นครับ
…มาดูที่ตัวเครื่องกันชัดๆ ด้านหน้านี่ มองยังไงก็เหมือนโทรศัพท์แอนดรอยจริงๆ แต่จริงๆแล้วมันไม่สามารถใช้งานอะไรที่เกี่ยวกับระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้เลย หน้าจอขนาด 4.3 นิ้วนั้นทำให้ตัวเครื่องดูหรูหรา และเหมาะสำหรับการนำไปใช้เป็นอุปกรณ์มัลติมีเดียพกพาอย่างแท้จริงครับ ในขณะที่โทรศัพท์ทั่วๆไปหลายรุ่นอาจจะมีหน้าจอในระดับ 2-3 นิ้วกว่าๆ อย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าปฏิเสธที่จะนำไปคิดไม่ได้ก็คือ Z series น่าจะเป็นคู่แข่งตัวตายตัวแทนของโซนี่ที่จะไปฟาดฟันกับ Apple Ipod ซึ่งผมคิดว่าโซนี่น่าจะมาถูกทางถ้าหากจะไปฟัดกับทางฝั่ง iPod Touch ด้วยระบบปฏิบัติการแอนดรอยและซีพียูที่ทรงพลัง รวมไปถึงดีไซน์ที่ดูแล้วมีเอกลักษณ์เฉพาะเป็นของตัวเอง (ไม่เหมือนกับของจากเกาหลีหรือไต้หวันหลายๆค่ายที่ชอบทำเลียนแบบ Apple)
…เมื่อพลิกกลับด้านมาด้านหลัง ก็จะพบว่าดีไซน์ของมันนั้นมาในมาดของเครื่องเล่นเพลงหรือมัลติมีเดียอื่นๆ มากครับ การจับถือด้วยมือสองมือนั้นทำได้อย่างถนัด และดีไซน์นั้นก็ทำให้ชวนนึกถึงเครื่องจำพวก PSP หรือเครื่องเล่นเกมพกพาอื่นๆเสียจริงๆ น่าเสียดายที่ Walkman Z series นั้นถึงแม้จะใช้ซีพียู Tegra 2 เหมือนกับ Sony Tablet S1 แต่ก็ไม่ได้เป็น PlayStation-Certified เหมือนกับ Tablet S1
…ซึ่งวัสดุโดยภาพรวมนั้นจะเป็นพื้นผิวสไตล์เมทัลลิก สีม่วงๆอมน้ำเงิน และมีการทำเป็นลักษณะที่ผมเองก็อธิบายไม่ถูก แต่อย่างที่บอกไปในตอนแรกครับว่ามันทำให้ grip ได้ถนัดมือและเหมาะสำหรับการเล่นเกมเป็นอย่างมาก ส่วนช่องสองช่องเล็กๆเหนือโลโก้ W. นั้นคือช่องสำหรับลำโพง loud speaker ซึ่งก็ให้น้ำเสียงที่ดีพอใช้งานได้ (ดีกว่าโทรศัพท์มือถือหลายรุ่น) เลยทีเดียวครับ
…การเชื่อมต่อและการควบคุมต่างๆ ก็ยังคงให้ความรู้สึกเป็นเครื่องเล่น Walkman อยู่พอสมควร ปุ่ม Volume นั้นอยู่ในตำแหน่งที่ถ้าหากถือแนวตั้งจะกดได้ถนัดมือ ปุ่ม Walkman นั้นมีไว้เพื่อเข้าสู่ W.Control ของ Walkman เองซึ่งเราจะไปลงรายละเอียดกันในช่วงหลัง ไปจนถึงพอร์ตที่ดูคล้ายๆกับ Micro-USB จริงๆแล้วมันคือ Micro-HDMI ที่เอาไว้สำหรับต่อภาพออกหน้าจอทีวีสมัยใหม่ ทำให้มีสัญญาณออกทั้งภาพและเสียง ซึ่งแน่นอนว่าด้วยขุมพลังของซีพียู Tegra 2 นั้น Walkman Z series สามารถเล่นไฟล์วีดีโอ 1080P ทั้งในเครื่องและต่อออกผ่าน HDMI ได้อย่างลื่นไหลแน่นอนครับ
…ส่วนการเชื่อมต่อดาต้ากับเครื่องพีซีนั้นจะใช้พอร์ตเฉพาะของ Walkman เอง ซึ่งจะมีสาย USB แถมมาให้ในกล่อง ช่องหูฟังนั้นเป็นแจ๊คขนาด 3.5mm ซึ่งผมเองก็แอบสงสัยเหมือนกันว่าฟีเจอร์ Noise Cancellation เหมือนสมัย Walkman X series หรือ S series ในหลายๆรุ่น มันหายไปไหน ? ส่วนเมมโมรีนั้นตัวที่ผมได้รับมาเป็นโมเดล 16GB ซึ่งผมคิดว่าเพียงพอสำหรับการใช้งานเป็นเครื่องเล่นเพลง และไม่มีช่องสำหรับเพิ่มหน่วยความจำ ซึ่งตรงนี้อาจจะลำบากนิดหนึ่งสำหรับคนที่คิดจะซื้อตัวล่างสุด (8 GB) เพราะมันน่าจะไม่พอใช้งานแน่ๆ
ด้านบนเครื่องมีปุ่มเปิดเครื่อง ทำหน้าที่เหมือนแอนดรอยโฟนทั่วๆไปคือใช้เปิดปิดเครื่อง กับเรียก flight mode ขึ้นมา
…มาถึงรีวิวในส่วนของการใช้งาน เริ่มจากตัวจอที่เป็นจอขนาด 4.3นิ้ว TFT LCD และมี backlid แบบ LED เรียกได้ว่าให้ความสว่างและความคมชัดในระดับที่เรียกว่าดีครับ มุมมองของจอภาพนั้นพอใช้งานได้ในระดับที่คนสองคนจะมาดูหน้าจอพร้อมๆกัน (ถ้าสักสามคนจะเริ่มเห็นจุดบอด) ส่วนตัวแล้วผมยังคิดถึงหน้าจอแบบ OLED ในสมัยของ Walkman X series อยู่มากกว่า แต่เข้าใจว่า OLED มีต้นทุนที่สูงกว่ามาก และความคมชัดก็ไม่ได้หนีไปจาก TFT LCD ในตัวนี้มากนักครับ
อินเตอร์เฟสโดยรวมนั้นยังคงความเป็น android 2.3 ไว้ค่อนข้างเหนียวแน่น จะมีที่แปลกๆตาไปก็คือบริเวณส่วนของปุ่มควบคุมหลักบนหน้าจอ (ไม่ใช่ซอฟท์คีย์ทั้งสามตัวด้านล่างนะครับ) ที่จะมีชอร์ตคัทให้เลือกเข้า app สำหรับเล่นเพลงเฉพาะของ Walkman เอง
หรือนอกจากนี้หากท่านยังคงอยากจะใช้ความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ Walkman แบบสมัยก่อน ก็สามารถเข้าไปที่ Original app ก็จะได้หน้าตาของอินเตอร์เฟสง่ายๆแบบนี้ให้ได้ใช้งานกัน
App เล่นเพลงของ Walkman นั้นมีความพิเศษกว่า app ตัวอื่นๆที่ไว้เล่นเพลงบนแอนดรอยในหลายๆจุดครับ ตั้งแต่ระบบ Library ที่ใช้งานได้ง่าย สามารถเลือกแยกประเภทเพลงได้ดี การจัดเรียง Cover Art ที่สวยงาม รวมไปถึงฟีเจอร์ที่มีมาตั้งแต่ยุคก่อนๆอย่าง SenseMe Channel ที่โปรแกรมจะทำการวิเคราะห์เพลงแต่ละเพลงแล้วจัดเอาไว้ให้เป็นหมวดหมู่ ตามอารมณ์และจังหวะของเพลง
เรื่องภาษาไทยยังคงมีปัญหาอยู่บ้างกับไฟล์ที่ไม่ได้ตั้งชื่อด้วย Unicode
ตัว App ขณะเล่นเพลง ถึงแม้ว่าเพลงจะไม่มีไฟล์รูปหน้าปก แต่ก็มีการจัดเรียงตัวอักษรถ้อยคำต่างๆที่เกี่ยวกับอัลบัมนั้นๆได้อย่างลงตัว ดูแล้วไม่ใช่การออกแบบชุ่ยๆแน่นอนครับ
การเล่นเพลงนอกจากจะทำผ่านทางหน้าจอหลักด้วยการเข้า app Music Player แล้ว ยังสามารถทำได้ผ่านทางปุ่ม W Control ที่จะเป็นการ Popup หน้าจอควบคุมการเล่นเพลงขนาดเล็กมา ในขณะที่เราล็อคตัวเครื่องอยู่ (ไม่ต้องสไลด์ปลดล็อค ใช้งานได้เลย)
หรือว่าจะตั้งค่าให้ W control เป็นแบบสไลด์เพื่อเปลี่ยนเพลง ก็ได้เช่นกัน
…มันมีเหตุผลหลายอย่างครับ ที่เมื่อหากคุณใช้ Walkman เครื่องนี้แล้ว คุณไม่ควรที่จะไปใช้โปรแกรมเล่นเพลงอะไรอย่างอื่นอีกนอกจากของทาง Sony เอง อย่างหนึ่้งก็คือเรื่องของการตั้งค่า โซนี่ได้ติดเอาฟีเจอร์ทางด้านเสียงมาให้หลายตัวทั้ง DSEE (เพิ่มคุณภาพเสียงย่าน treble สำหรับไฟล์คุณภาพต่ำ) Clear Stereo (ป้องกันการเกิด Cross talk ระหว่างชาแนลซ้ายกับขวาของหูฟัง) ส่วน xLOUD และ Clear Phase นั้นจะเป็นฟีเจอร์สำหรับลำโพง loud speaker ซึ่งผมลองเปิดๆปิดๆดูแล้วก็ไม่รู้ว่าผมหูไม่ถึง หรือมันไม่ค่อยจะมีความต่างจริงๆกันแน่ ?
…นอกจากนี้ก็ยังมีฟีเจอร์ VPT Surround ที่สามารถปรับตั้งค่าจำลองสภาพแวดล้อมการฟังได้หลากหลาย ตัวที่ผมชอบเลือกใช้มากที่สุดคือ Studio เนื่องจากผมรู้สึกว่าฟังแล้วมันทำให้เสียงคนร้องนั้นแผดออกมาชัดเจนกระแทกหูสะใจมากขึ้นครับ แต่จริงๆแล้วหากต้องการมิติของเสียงให้เหมือนกับนั่งฟังสเตอริโอชั้นดีอยู่ที่บ้าน หรือกำลังดูดนตรีสดอยู่ตรงหน้า แนะนำให้ลองแบบ Live ดูครับ จะให้มิติเสียงที่ดีมากๆ โดยที่คุณภาพไม่ได้ลดลงไปเลยแม้แต่น้อย โดยรวมๆแล้ว VPT สามารถทำหน้าที่ของมันได้ดีครับ ที่ต้องพูดก็เพราะผมเคยเจอเครื่องเล่นบางอย่าง ที่เปิดโหมดเซอราวพวกนี้แล้วฟังเสียงแล้วมันออกแนวน่ารำคาญมากกว่าจะสร้างความสำราญให้กับผม
นอกจากนั้นก็ยังมี Equalizer มาหให้ปรับเล่นกัน สามารถปรับได้ 5 ย่านความถี่ และมีแบบสำเร็จรูปมาให้เลือกอยู่ 4 แบบ
สรุปแล้ว App เพลงของเจ้า Walkman เนี่ย ใช้ๆไปเถอะครับ รับรองว่าจะติดใจในความลื่นไหลและสวยงาม รวมไปถึงลูกเล่นมากมาย
นอกจาก app Walkman แล้วก็ยังมีแอพอีกตัวหนึ่งที่มีประโยชน์กับชีวิตก็คือแอพสำหรับทดสอบการเชื่อมต่อ WiFi ครับ ทำให้การเชื่อมต่อหรือตั้งค่าต่างๆไม่จำเป็นจะต้องเข้าไปลึกถึงส่วนของ Setting ของระบบปฏิบัติการ
และแน่นอน โซนี่ใจกว้างพอที่จะให้ Walkman ของพวกเขาฟัง FM ได้ด้วย แต่ต้องเสียบหูฟังนะครับถึงจะฟังได้ เพราะตัวหูฟังมันจะเป็นสายอากาศไปในตัว
…มาถึงในส่วของการใช้งานในฐานะที่ Walkman Z series ของเรานั้นเป็น Android Device ทั่วๆไปครับ โดยรวมแล้วผมถือว่าอินเตอร์เฟสต่างๆนั้นสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างลื่นไหล ตอบสนองต่อการทัชได้ในขั้นดีมาก ! การตอบสนองดังกล่าวไม่ใช่เฉพาะแอพเล่นเพลงของ Walkman เอง แต่รวมถึงหน้าจอของ Android ด้วยครับ ในภาพนั้นจะเห็นว่า Widget ต่างๆสามารถปรับตั้งค่าได้ตามใจชอบเหมือนกับแอนดรอยทั่วๆไป
…หากสังเกตดีดีก็จะพบว่า Widget สำหรับจัดการเปิดปิดระบบต่างๆในเครือ่งก็จะมีตั้งแต่ Wireless Lan, Bluetooth, GPS, Data และอันสุดท้ายจะเป็นปุ่มสำหรับปรับความสว่างของ backlight ที่การกด 1 ครั้งคือการเปลี่ยนระดับความสว่าง สามารถเปลี่ยนได้ 3 ระดับด้วยกัน
…การใช้งานนั้นสามารถใช้บริการดาวโหลดแอพอย่าง Play Store ของ Google และ Sync กับแอกเคาท์ของ Google ได้ตามปกติเลยครับ นอกจากนี้ยังสามารถใช้บริการ NVIDIA Tegra Zone ในฐานะที่ Z series เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ซีพียู Tegra 2 ได้อีกด้วย
ผมทดลองเปิดหน้าเว็บของเรา ก็พบว่าซีพียู Tegra 2 นั้นทำหน้าที่ของมันได้ดีตามที่เราได้เคยสัมผัสกันมาหลายครั้งแล้ว ทั้งในงาน showcase ต่างๆและอุปกรณ์หลายๆตัวที่ใช้ซีพียูตัวนี้
การ browse หน้าเว็บโดยรวมแล้วทำได้อย่างลื่นไหลครับถึงแม้จะมีสคริปต์ ajax ต่างๆมากๆมาย หรือแม้กระทั่ง Adobe Flash ก็สามารถแสดงผลได้ (แต่ไม่ครบทุกตัว) ซึ่งนอกจาก flash แล้วก็ยังมีอีกเทรนด์หนึ่งก็คือ HTML5 ก็รองรับแล้วเช่นกัน
ส่วนแอพโซเชียลเนทเวิร์คต่างๆนั้นก็สามารถใช้งานได้ตามปกติ และลื่นไหลดีมากๆเหมือนกับอินเตอร์เฟสส่วนอื่นๆ เบื้องหลังความลื่นไหลคงจะต้องยกความดีให้กับซีพียู Tegra 2 ที่ถึงแม้ว่าจะเปิดตัวมานานและทุกวันนี้มี Tegra 3 ออกมาแล้ว แต่เมื่อเทียบกับซีพียูหลายๆรุ่นที่อยู่ใน Android Device ทุกวันนี้ มันก็ยังจัดได้ว่าเป็นซีพียูที่มีความเร็วอยู่มากครับ
แน่นอนว่านอกจาก Google Play Store แล้ว Walkman Z series ยังสามารถเข้าไปใช้บริการของ NVIDIA Tegra Zone ได้อีกด้วย ในภาพนั้นเป็นเกม Fruit Ninja THD (Tegra Optimized HD version) เล่นในจอขนาด 4.3 นิ้ว ก็ทำให้ผมฟันคอมโบได้เร็วดีกว่าพวกเครื่อง tablet ใหญ่ๆพอสมควรเลยครับ
เกมเด็ดๆอีกเกมอย่าง GTA 3 ที่มีรายละเอียดเนื้อเรื่องเหมือนๆกับที่หลายๆท่านเคยเล่นใน PC ก็ถูกพอร์ตลงมาบน Tegra Devices เรียบร้อยนานมากแล้ว ก่อนนี้ผมเคยเล่นแต่บน Tegra 3 แต่พอมาอยู่ในเครื่อง Walkman ที่เป็น Tegra 2 เครื่องนี้ก็พบว่าความลื่นไหล แทบจะไม่ต่างกันเลยครับ โดยรวมๆแล้วก็ถือว่าถึงแม้ Tegra 2 จะเป็นซีพียูที่น่าจะเรียกได้ว่ามีอายุแล้ว แต่ก็ยังถือได้ว่าทรงประสิทธิภาพอยู่มากเลยทีเดียว
ทดลองดูวีดีโอ HD ความละเอียด 720P บนหน้าจอก็พบว่าลื่นไหลดีไม่มีสะดุดครับ ซึ่งจริงๆแล้ว Tegra 2 นั้นทาง NVIDIA ก็เคลมว่าสามารถเล่นวีดีโอละเอียดได้ถึง 1080P ทำให้พอร์ต HDMI ที่ติดมากับเครื่อง ดูมีคุณค่าขึ้นมาถนัดตาเลยทีเดียว
.
.
…ผมเองก็รีวิวในส่วนของลูกเล่นต่างๆและความสามารถในเชิงที่มันเป็น Android device ไปเสียจนลืมว่า คนที่จะซื้อ Z series คงต้องเป็นกลุ่มที่รักการฟังเพลง หรือเผลอๆอาจจะเป็น Audiophile เสียด้วยซ้ำ ส่วนตัวแล้วผมไม่สามารถอธิบายอะไรเกี่ยวกับเสียงได้อย่างชัดเจนมาก จึงจะขอกล่าวแต่เพียงคร่าวๆ เสียงเท่าที่ฟังนั้นก็พบว่าจากที่เคยใช้งาน ipod touch มาแบบผ่านๆ เสียงใน Walkman Z นี้จะมีลักษณะที่คมและโฟกัสมากกว่าเพื่อน ชุดหูฟังที่แถมติดมากับตัวเครื่องนั้นทำหน้าที่ของมันได้ดี มีเบสออกมาให้ได้ฟังกันแบบหอมปากหอมคอ ซึ่งผมชอบเสียงเบสที่ไม่มากเกินไปแบบนี้อยู่แล้ว โดยรวมๆแล้วก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ฟังแล้วรู้สึกว่าเป็นพรีเมียมจริงๆครับ ไม่กิ๊กก๊อกแน่นอน โซนี่เรียกส่วน amplifier ของเขาว่า S-Master MX หูฟังที่แถมมาให้นั้นการสวมใส่ หากเลือกชุดยาง (buds) ให้เหมาะสมกับขนาดรูหูแล้วล่ะก็จะพบว่ามันสามารถสวมใส่ได้อย่างสบาย ไม่อึดอัด และสามารถทำให้เสียงที่ปล่อยเข้ารูหูเรานั้นดูมีโฟกัสที่ดีมากเลยทีเดียว
…แบตเตอร์รี่ เท่าที่เปิดใช้งานดู พบว่าอึดกว่าสมาร์ทโฟนทั่วไปอยู่ในระดับหนึ่ง ในกรณีที่เปิดๆปิดๆ WiFi นะครับ อันนี้คือการใช้งานบราวซ์เว็บทั่วๆไป ประกอบกับฟังเพลง แบตอยู่ได้ราวๆ 12 ชั่วโมงก็จะเริ่มเตือนใกล้หมด แต่ถ้าหากเล่นเกมหนักๆอย่างตอนที่ผมได้เครื่องมา พบว่าตัวเองติด GTA 3 ในเครื่องนี้มาก ราวๆสองสามชั่วโมง ก็พบว่าแบตเตอร์รี่ก็จะเริ่มอ่อนแรงลงมากแล้วล่ะครับ
…เท่าที่ทดลองเปิดเว็บ store ของทางโซนี่อเมริกา ราคาขายของเขาจะอยู่ที่ราวๆ 280 ดอลล่าสหรัฐ ซึ่งตีเป็นเงินไทยน่าจะราวๆ 8 พันกว่าบาท กับขนาด 16GB ซึ่งหลายๆคนจะมองว่ามันแพงไปสักนิดหนึ่ง สำหรับเครื่องเล่นเพลงหนึ่งเครื่อง แต่ถ้าหากมองกันด้วยแก่นสารจริงๆแล้ว Walkman Z series ให้อะไรได้มากกว่าความเป็น Walkman แน่นอนด้วยความที่เป็นแพลตฟอร์ม Android และมีซีพียูที่ทรงพลัง ดังที่ผมได้สาธิตให้ดูในรีวิวนี้ ประกอบกับหน้าจอขนาดมหึมา ผมคิดว่าน่าจะเหมาะกับคนที่ยังไม่มีสมาร์ทโฟนใช้ แล้วยังคงยืนยันอยากที่จะใช้ฟีเจอร์โฟนต่อไป แล้วอยากได้อุปกรณ์ขนาดพกพาไว้เล่นเกมหรือใช้งานแบบที่คนใช้ smartphone เขาใช้กัน
…นอกจากเรื่องราคา ผมอยากเสียดายที่มันไม่มีกล้องถ่ายรูปครับ ถึงจะเข้าใจว่ามันไม่ใช่อุปกรณ์ที่น่าจะมีกล้องถ่ายรูปติดมา แต่ถ้ามีติดมาได้นี่รับรองได้ว่า มันจะเป็น multimedia player ที่ครบเครื่องทำหน้าที่แทนโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนสมัยนี้ได้อย่างเต็มตัวเลยจริงๆ นอกจากนี้ก็ยังคงเป็นเรื่องของระบบปฏิบัติการ ที่ยังคงยึดอยู่กับ Android 2.3 ที่ถือว่าเริ่มจะล้าสมัยไปเสียแล้ว แต่โดยภาพรวมแล้วก็ยังตอบสนองการใช้งาน และมีความลื่นไหลอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากเลยทีเดียว
.
.
ขอขอบคุณ Sony Thai