เอชพีชวนเปิดตำราค้นหาคำแนะนำในการดูแลคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊คในช่วงภาวะน้ำท่วม
Share | Tweet |
เอชพีชวนเปิดตำราค้นหาคำแนะนำในการดูแลคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊คในช่วงภาวะน้ำท่วม
กรุงเทพฯ ประเทศไทย, 18 พฤศจิกายน 2554 – จากสถานการณ์อุทกภัยในประเทศไทยในปัจจุบัน ที่ได้สร้างความเสียหายในวงกว้าง วันนี้ เอชพี มีคำแนะนำดีๆ มาร่วมแบ่งปัน เพื่อการดูแลรักษาคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊คของคุณให้ยืดอายุการใช้งานได้อย่าง เต็มประสิทธิภาพในสถานการณ์เช่นนี้
โดยปรกติ มีคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊คจำนวนมากมายหลายรุ่นที่ไม่สามารถกันน้ำได้ ดังนั้นการป้องกันเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ให้โดนน้ำจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเรามีคำแนะนำ และวิธีการง่ายๆ ในการเก็บรักษาเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณให้ปลอดภัยในสภาวะน้ำท่วม
1. ย้ายคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊คไว้ในที่ที่ปลอดภัย ควรเป็นที่ร่ม สะอาด อยู่สูงกว่าระดับที่น้ำท่วมถึง และได้รับผลกระทบน้อยจากทั้งความร้อนและความชื้น
2. เก็บรักษาคอมพิวเตอร์อย่างถูกต้อง เมื่อไม่มีการใช้งาน ควรเก็บรักษาคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊คตามคำแนะนำในคู่มือผลิตภัณฑ์ อาทิ การปิดเครื่องอย่างสมบูรณ์ด้วยการ Shut Down และถอดอุปกรณ์ต่อพ่วงทุกชนิด รวมถึงสายแบตเตอร์รี่ และอะแดปเตอร์ แล้วเก็บอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้แยกกันไว้ในบรรจุภัณฑ์ที่เตรียมไว้
3. เตรียมบรรจุภัณฑ์ที่กันน้ำได้ ในกรณีที่ต้องขนย้ายคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊คในระหว่างน้ำท่วม หรือต้องนำออกไปใช้นอกสถานที่ เตรียมหาอุปกรณ์ที่หาได้ง่ายที่สุด คือ ถุงพลาสติก และยางรัด หรือถุงสูญญากาศ อย่างไรก็ตามหากคุณเลือกบรรจุภัณฑ์แบบอ่อน ควรเสริมด้วยกล่องพลาสติกที่มีแข็งแรง เพื่อป้องกันความเสียหายจากอุบัติเหตุ ตกหล่นระหว่างขนย้าย และแรงกระแทก
4. สำรองข้อมูลไว้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการเก็บรักษาข้อมูลสำคัญไม่ให้สูญหาย ทั้งในสภาวะปรกติ และสถานการณ์น้ำท่วม เลือกหาออพติคอลดิสก์ ซึ่งทนต่อความเปียกชื้นได้ดี สำหรับแบ็คอัพ เก็บสำเนาข้อมูลไฟล์สำคัญต่าง ๆ ไว้ และควรเก็บสื่อบันทึกสำเนาข้อมูลเหล่านี้ไว้ในบรรจุภัณฑ์ที่กันน้ำได้เช่น กัน
5. มองหาบริการประกันสินทรัพย์เตรียมไว้ เพื่อชดเชยความเสียหาย ในกรณีที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดอุทกภัยโดยตรง
6. ค้นหาคำแนะนำที่มีประโยชน์อื่นๆ เพิ่มเติม ได้ที่เว็บไซต์ http://bit.ly/w4rTow
สำหรับในกรณีที่เครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
1. ติดต่อตัวแทนประกันทรัพย์สิน หากคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊คของท่านได้มีการทำประกัน (insurance) เอาไว้แล้ว
2. สังเกตความเสียหายที่เกิดขึ้น ตรวจสอบสภาพความเสียหายเบื้องต้นของคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊คว่ามีมากน้อย เพียงใด เพราะการแก้ไขที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะความเสียหาย
3. เช็ดอุปกรณ์ทุกชิ้นให้แห้งสนิท โดยเฉพาะพื้นผิวของอุปกรณ์ที่ต้องเชื่อมต่อกับกระแสไฟฟ้า ก่อนการเชื่อมต่อกระแสไฟและเปิดใช้งาน เพื่อป้องกันความเสียหายต่ออุปกรณ์และเครื่องคอมพิวเตอร์ และที่สำคัญเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ด้วย
4. ทำความสะอาดอุปกรณ์ให้เรียบร้อย โดยเฉพาะพื้นผิวของอุปกรณ์ที่ต้องเชื่อมต่อกับกระแสไฟฟ้า เพราะในระหว่างภาวะน้ำท่วม อุปกรณ์ที่จมน้ำอาจติดดิน โคลน หรือมีสิ่งสกปรกอื่นๆ ปะปนมาด้วย ดังนั้นการทำความสะอาดอย่างถูกวิธีจะช่วยลดสารปนเปื้อนต่างๆ และไม่ก่อให้เกิดอันตรายเมื่อต้องเปิดใช้งาน
5. สำรวจความเสียหายด้วยตนเอง สำหรับอุปกรณ์เชื่อมต่อบางชนิดที่มีโครงสร้างปิดสนิท อาทิ อะแดปเตอร์ แบตเตอร์รี่ สายไฟ ซึ่งอาจไม่ได้รับความเสียหาย ทว่าควรทำความสะอาดให้เรียบร้อย และทำให้แห้งสนิทก่อนการนำกลับมาใช้ หากไม่แน่ใจว่าได้รับความเสียหายหรือไม่ ควรให้ช่างผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบก่อนนำไปใช้งาน ในขณะที่ อุปกรณ์ชนิดที่มีโครงสร้างที่ปิดไม่สนิท เช่น External Hard Disk หรือ USB ควรนำไปตรวจสอบความเสียหายก่อนนำมาใช้งาน
6. ปรึกษาช่างผู้เชี่ยวชาญ สำหรับอุปกรณ์อื่นๆ ที่มีลักษณะโครงสร้างเปิด และมีความซับซ้อนนั้น อย่างซีพียู คอมพิวเตอร์ หรือโน้ตบุ๊คทั้งเครื่อง รวมถึงแป้นพิมพ์ และอุปกรณ์จำพวกฮาร์ดดิสก์ ควรให้ช่างผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบก่อนนำไปใช้งาน เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการใช้งานหลังการซ่อมแซมสูงสุด
ทั้งนี้ ข้อแนะนำทั้งหมด เป็นเพียงวิธีการเบื้องต้นในการรับกับสถานการณ์น้ำท่วม พร้อมกันนี้ เอชพี มอบความช่วยเหลือผ่านโครงการบรรเทาปัญหาอุทกภัยสำหรับผู้ใช้งานโน้ตบุ๊คและ คอมพิวเตอร์เดสก์ทอปเอชพีทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ด้วยบริการอันหลากหลาย ณ ศูนย์บริการ เอชพีทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศูนย์บริการเอชพี โทร 0-2637-5899
# # #
ข้อมูลเกี่ยวกับเอชพี
เอชพี เป็นบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ที่สุดของโลกที่นำเสนอประสบการณ์การใช้งาน เทคโนโลยีที่สะดวกและง่ายดายสำหรับลูกค้าคอนซูเมอร์จนถึงองค์กรธุรกิจระดับ ต่างๆ ด้วยพอร์ทโฟลิโอที่ครอบคลุมด้านการพิมพ์ คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ การบริการ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอที สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเอชพี (NYSE: HPQ) สามารถเข้าชมได้ที่ http://www.hp.com