อินเทลฉลองครบรอบ 50 ปี “Intel 4004” ชิปโปรเซสเซอร์ตัวแรกของโลก
Share | Tweet |
อินเทลฉลองครบรอบ 50 ปี “Intel 4004” ชิปโปรเซสเซอร์ตัวแรกของโลก
แพท เกลซิงเกอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอินเทล กล่าวเฉลิมฉลองครบรอบปีที่ 50 ของ “Intel 4004” ไมโครโปรเซสเซอร์เชิงพาณิชย์ตัวแรกของโลกในงาน Intel Innovation ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา
(เครดิตภาพ - อินเทล คอร์ปอเรชั่น)
อีกหนึ่งช่วงเวลาอันยิ่งใหญ่บนหน้าประวัติศาสตร์กับการมาถึงของไมโครโปรเซสเซอร์ตัวแรกที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ซึ่งช่วยบุกเบิกเทคโนโลยีที่เข้ามาพลิกโฉมชีวิตมนุษย์ไปตลอดกาล
กรุงเทพฯ 15 พฤศจิกายน 2564 - ประเด็นข่าวหลัก: อินเทลฉลองครบรอบ 50 ปีของ Intel® 4004 ไมโครโปรเซสเซอร์เชิงพาณิชย์ตัวแรกของโลก ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี พ.ศ. 2514 และกลายเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยปูทางให้กับการประมวลผลด้วยไมโครโปรเซสเซอร์สมัยใหม่ นั่นคือการทำหน้าที่เป็น “สมอง” ที่ช่วยให้เทคโนโลยีสมัยใหม่แทบทุกอย่างเป็นไปได้ ตั้งแต่คลาวด์ไปจนถึง edge ไมโครโปรเซสเซอร์ช่วยให้เทคโนโลยีอันทรงพลังอื่นๆ มาประสานพลังรวมกันได้ เช่น การผสมผสานคอมพิวเตอร์ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต (ubiquitous computing) การเชื่อมต่อเทคโนโลยีกับเซิร์ฟเวอร์ได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน (pervasive connectivity) โครงสร้างพื้นฐานจากคลาวด์สู่ edge ไปจนถึงปัญญาประดิษฐ์ ทั้งยังกำหนดจังหวะขับเคลื่อนของนวัตกรรมที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วกว่าแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน
“ปีนี้เป็นปีแห่งการครบรอบ 50 ปี ของชิป 4004 ลองคิดดูว่าในครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เราได้ประสบความสำเร็จไปมากมายขนาดไหน นี่เป็นช่วงเวลาอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับเทคโนโลยี และเป็นสิ่งที่ทำให้การประมวลผลได้เริ่มต้นขึ้นจริงๆ”
- แพท เกลซิงเกอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ บริหารบริษัทอินเทล
ใจความสำคัญ: Intel® 4004 คือไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นบุกเบิก และความสำเร็จของมันพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การสร้างวงจรไฟฟ้าครบวงจรที่ซับซ้อนและประกอบเข้ากับชิปขนาดเท่าเล็บมือเป็นสิ่งที่สามารถเป็นไปได้ นอกจากนี้ สิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวยังเข้ามากำหนดวิธีการออกแบบวงจรตรรกะ (random logic design) รูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นรากฐานในการสร้างไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นถัดๆ มา ก่อนที่จะพัฒนาเป็นการสร้างชิปในอุปกรณ์ดีไวซ์ต่างๆ ในยุคปัจจุบัน
“หากเรามองย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2513 จะเห็นได้ชัดว่าไมโครโปรเซสเซอร์สามารถเปลี่ยนวิธีการออกแบบระบบ โดยเปลี่ยนจากการใช้ฮาร์ดแวร์เป็นซอฟต์แวร์แทน แต่ความเร็วของไมโครโปรเซสเซอร์ที่ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปและกลายเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมต่างๆ นับเป็นเรื่องที่น่าทึ่งจริงๆ” เฟดเดอริโก แฟกกิน อดีตวิศวกรของอินเทล ผู้ออกแบบและผลิต Intel® 4004 ร่วมกับ เท็ดด์ ฮอฟฟ์ และ แสตน เมเซอร์ กล่าว
สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้: ในขณะที่ Intel® 4004 คือเครื่องบ่งชี้ยุคสมัยการใช้คอมพิวเตอร์ยุคใหม่ผ่านการออกแบบและการผลิตไมโครโปรเซสเซอร์ตัวแรกที่มีจำหน่ายในท้องตลาดสำหรับเครื่องคิดเลขแบบตั้งโต๊ะ โปรเซสเซอร์ Intel® Core® เจนเนอเรชั่น 12 รุ่นล่าสุด ซึ่งผู้นำบริษัทต่างๆ ได้พูดถึงในงาน Intel Innovation เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้พาเราไปสู่ยุคใหม่แห่งการประมวลผล สถาปัตยกรรมไฮบริดทรงประสิทธิภาพของโปรเซสเซอร์เจเนอเรชั่นใหม่นี้ และสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นจากการผสานการทำงานของซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน พร้อมส่งมอบประสิทธิภาพความเป็นผู้นำโฉมใหม่สำหรับคนรุ่นต่อไป และด้วยการค้นคว้าวิจัยในสาขาต่างๆ เช่น การคำนวณควอนตัม ด้วยโซลูชันแบบ cryogenic ของ Intel Horse Ridge ll และการประมวลผลแบบ neuromorphic ด้วยชิป Intel Loihi 2 อินเทลยังคงเดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ สำรวจพื้นที่ใหม่ๆ และก้าวข้ามขีดจำกัดของการประมวลผลอย่างต่อเนื่อง
ความเป็นมาของ Intel 4004: เมื่อปี พ.ศ. 2512 บริษัท Nippon Calculating Machine Corp. ได้ติดต่ออินเทลให้ช่วยออกแบบชุดวงจรไฟฟ้าแบบครบวงจรสำหรับเครื่องคำนวณต้นแบบทางวิศวกรรมชื่อว่า Busicom 141-PF นายแฟกกิน ซึ่งเป็นวิศวกรของอินเทลในขณะนั้นและทีมของเขาได้ปรับแผนเดิมสำหรับชิปแบบ custom จำนวน 12 ตัว และออกแบบชิปเซ็ท 4 ตัว ซึ่งรวมถึงซีพียู 4004 ที่ตอบโจทย์ความท้าทายนี้ ผลที่ได้ก็คือ ชิป 4004 ที่มีขนาดเล็กจิ๋วเท่าเล็บมือคน กลับสามารถส่งมอบพลังการประมวลผลแรงเท่ากับคอมพิวเตอร์ไฟฟ้าเครื่องแรกที่สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2489 ซึ่งมีขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ห้องๆ หนึ่งเลยทีเดียว
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: The Chip that Changed the World (Editorial) | The Intel 4004 (Press Kit)