สัมภาษณ์พิเศษ คุณ Bryan Chen จาก Plextor : Page 1 (1/1)

Article by Northbridge On April 7, 2014 2,182 views
สัมภาษณ์พิเศษ คุณ Bryan Chen จาก Plextor

...Plextor เป็นแบรนด์ที่ใครหลาย ๆ คนที่คุ้นเคยอยู่กับวงการไอทีมานาน อาจจะเคยได้ยินเรื่องของไดร์ฟ Optical ของแบรนด์นี้กันครับ และนอกจากนี้เราคงจะได้เห็นผลิตภัณฑ์ของค่ายนี้ ในตลาดบ้านเรา ผ่านการขายกับทาง ARC มาแล้วสักระยะหนึ่ง

... Plextor นั้นเป็นแบรนด์ญี่ปุ่น ที่ทุกวันนี้ มีฐานการผลิตอยู่ในไต้หวัน และในวันนี้ ผมก็ได้มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณ Bryan Chen ผู้จัดการงานขายประจำภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งก็จะได้มาเล่าให้ฟังในเรื่องของผลิตภัณฑ์ของทางค่าย และมุมมองที่มีต่อตลาดในบ้านเรา ตลอดจนแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ณ ปัจจุบัน และอนาคต โดยคงจะเน้นไปในเรื่อง SSD เสียส่วนใหญ่นะครับสำหรับช่วงนี้ของ plextor

...เราเริ่มพูดคุยกันด้วยพื้นเพของ Plextor สำหรับสถานะในปัจจุบัน ที่ทั้งงาน R&D และส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ Plextor  นั้นมาจากญี่ปุ่น และใช้ชิปคอนโทรลเลอร์ของ Marvell ส่วนตัวแฟลชเมมโมรีนั้นมาจาก Toshiba และจะต้องเป็นชนิด MLC แบบ Synchronus ในทุก  ๆ  ไลน์อัพผลิตภัณฑ์ของ Plextor ผมได้แอบย้อนไปคุยในเรื่องของไดร์ฟออฟติคัลของ Plextor ในอดีต คุณไบรอันกล่าวว่า บางที ผู้คนก็บอกว่า Plextor เป็นเหมือน “Roll Roys” แห่งวงการไดร์ฟออฟติคัลกันเลยทีเดียว หลังจากนั้นก็ได้เปิดบทสนทนาในการพูดคุยกันในประเด็นถัดไป

...ซึ่งก็จะโยงมาถึงประเด็นถัดมาอีกครับ ที่คุณไบรอันบอกกับเราว่า Plextor นั้นวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ทุกตัวอย่างถึงแก่นและดีที่สุด คือส่วนประกอบทุกชิ้นของ Plextor นั้นถูกเลือกมาอย่างพิถีพิถัน ส่งตรงจากญี่ปุ่น โดยมีโรงงานผลิตอยู่ในไต้หวัน คุณไบรอันได้กล่าวถึงเรื่องโรงงานผลิตครับว่า Plextor เลือกที่จะตั้งโรงงานในไต้หวัน เพราะเขามีความเชื่อมั่น ในคุณภาพการผลิตของไต้หวัน และยังสามารถควบคุมคุณภาพการผลิตได้ง่ายกว่าการไปตั้งโรงงานในจีน ทำให้เขากล้าพูดได้เลยว่า Plextor นั้น เรื่องคุณภาพและความทนทาน (Reliability) ไม่เป็นรองใคร ด้วยสถิติยอดของเสีย (RMA) แทบจะต่ำที่สุดในบรรดาไดร์ฟ SSD ที่มีวางจำหน่ายอยู่ในโลกครับ

 

...คุณไบรอันอธิบายว่าไดร์ฟ SSD มีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 3 ส่วน คือ ตัวชิปแฟลชเมมโมรี ตัวคอนโทรลเลอร์ และสุดท้ายคือเฟิร์มแวร์ แฟลชเมมโมรีชิป เปรียบเหมือนร่างกายมนุษย์ คือส่วนประกอบที่ถูกนำไปใช้งาน ตัวคอนโทรลเลอร์ เปรียบได้เหมือนกับสมอง คอยสั่งการ บริหารจัดการการใช้ทรัพยากรณ์ในร่างกายให้เกิดงานที่ต้องการ (แฟลชเมมโมรี) และสุดท้าย เฟิร์มแวร์ เปรียบเสมือน ”จิตวิญญาณ” ของมนุษย์

 

...ไดร์ฟ SSD ทุก ๆ ตัวของ Plextor นั้นนอกจากจะเลือกเอาตัวคอนโทรลเลอร์ และชิปแฟลชเมมโมรีที่ดีจากญี่ปุ่น และในไดร์ฟ SSD ทุก ๆ ตัวของ Plextor นั้นจะไม่มีการลบสกรีนชื่อยี่ห้อ บนตัวชิปต่าง ๆ เหมือนที่ไดร์ฟของบางค่ายทำกัน อย่างชิปแฟลชเมมโมรี Toshiba หรือคอนโทรลเลอร์จาก Marvell ก็จะยังคงลาเบลบนตัวชิปเอาไว้ครบถ้วน เพื่อให้ผู้ใช้ได้เห็นตัวชิป และมั่นใจได้ว่าของที่พวกเขาซื้อไปนั้น มีคาแร็คเตอร์ หรือความพิเศษอะไรจากภายใน

...ทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ยังได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาซอฟท์แวร์ภายในผลิตภัณฑ์ (หรือเฟิร์มแวร์) เขาได้กล่าวว่า ปกติแล้ว เวลาเราเลือกเอาส่วนประกอบของฮาร์ดไดร์ฟจากผู้ผลิตชิปต่าง ๆ มา เขาก็จะมีชุดซอฟท์แวร์ (เฟิร์มแวร์) มาตรฐาน ไม่ว่าจะจากผู้ผลิตคอนโทรลเลอร์ หรือจากผู้ผลิตชิปมาให้ แต่สำหรับ Plextor แล้ว SSD ทุก ๆ ตัวที่วางจำหน่าย เฟิร์มแวร์ของ Plextor นั้นถูกออกแบบขึ้นโดยทีมวิจัยและพัฒนาของทาง Plextor โดยคุณไบรอันใช้คำว่า “Fine-tuned” เฟิร์มแวร์

...และนอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ล่าสุดอย่าง M6S ที่เพิ่งเปิดตัวไปนั้น ในอนาคตนั้นก็อาจจะมีเฟิร์มแวร์สำหรับการอัพเกรดมาให้ผู้ใช้อัพเกรดอีกด้วยครับ ตลอดจนในแง่การควบคุมคุณภาพ ที่โรงงานผลิตของ Plextor ในไต้หวัน ผลิตภัณฑ์ SSD ทุก  ๆ  ชิ้นที่ออกจากโรงงาน จะผ่านการ Burn-in Test เพื่อให้แน่ใจถึงสมรรถนะ และความเชื่อถือได้ (Reliability) ของผลิตภัณฑ์ทุกชิ้น

...ผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในปัจจุบันของ Plextor หลัก ๆ ที่ครองยอดขายมากที่สุด ก็คงจะเป็นไดร์ฟแบบ SSD ในรูปแบบ 2.5 นิ้ว ซึ่งก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ครับว่า ไม่ว่าจะเป็นโน๊ตบุ๊ค หรือคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ ยังคงใช้อินเตอร์เฟซแบบ SATA มาตรฐานแบบนี้ ซี่งฟอร์มแฟคเตอร์แบบ 2.5 นิ้วนั้นก็ตอบโจทย์การอัพเกรดมาเป็น SSD ของผู้ใช้ส่วนใหญ่ได้ในห้วงเวลาปัจจุบัน

...และคุณไบรอันได้กล่าวถึง ผลิตภัณฑ์ SSD ในแพคเกจแบบอื่น ๆ  อย่างเช่น PCIe, mSATA หรือแม้กระทั่ง M.2 (NGFF) เขาได้กล่าวถึงแนวโน้มการเติบโตของ SSD ในรูปแบบอื่น ๆ นอกจาก SATA มาตรฐาน (2.5 นิ้ว) คือในปัจจุบัน ที่ขายได้ดีพอสมควรก็คือ mSATA ที่ผู้ใช้โน๊ตบุ๊ก หรืออัลตราบุค เลือกที่จะอัพเกรดไดร์ฟของพวกเขาที่ข้างในนั้นมีสล็อต mSATA  มากขึ้นเรื่อย ๆ

...ถึงแม้ว่าไดร์ฟในรูปแบบอื่น ๆ นอกจากแบบ 2.5” นั้นไม่ได้ครองยอดขายมากเหมือนไดร์ฟแบบ 2.5” ทั่วไป แต่ทาง Plextor มองว่านี่เป็นโอกาสในการเปิดตลาดผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ เพราะปัจจุบัน อินเตอร์เฟซแบบ SATA III นั้นให้ความเร็วสูงสุดเพียงแค่ 6Gb/s แต่สำหรับ PCIe นั้นสามารถทำความเร็วได้มากกว่านั้นหลายเท่า ซึ่งคุณไบรอันได้กล่าวอีกว่า ปัจจุบันถ้าเราดูกันแต่ไดร์ฟแบบ SATA III จะเห็นได้ว่า เราอาจจะไม่ได้สังเกตถึงความแตกต่างในด้านความเร็วของไดร์ฟในแต่ละยี่ห้อเลย เนื่องด้วยข้อจำกัดของอินเตอร์เฟซ แต่ PCIe จะเข้ามาทำลายข้อจำกัดดังกล่าว

...นอกจากอินเตอร์เฟซแบบ PCIe และ mSATA แล้ว ก็ยังมีอินเตอร์เฟซที่เป็นมาตรฐานใหม่อย่าง M.2 หรือที่เคยเรียกกันในชื่อ NGFF (New Generation Form Factor) ที่ Plextor ก็ได้เริ่มทำออกมาแล้ว M.2 นั้นมีขนาดเท่ากับการ์ดขนาดที่ใช้ในโน๊ตบุ๊คในปัจจุบัน และสามารถใช้โปรโตคอลแบบเดียวกับที่ OS ในปัจจุบันสามารถใช้งานได้อีกด้วย โดยจะมีความเร็วมากกว่า mSATA และมีขนาดเล็กกระทัดรัดกว่า (ในด้านความยาว) เมื่อเทียบกับ mSATA

...เท่าที่ได้พูดคุยกันในหลาย ๆ เรื่อง ผมก็ดีใจครับว่าผู้จัดการงานขายท่านนี้ (คุณไบรอัน) เห็นถึงศักยภาพของภูมิภาคเอเชียใต้ โดยเฉพาะในไทย ที่เขากล่าวว่า ผู้ใช้ในบ้านเราก็มี power user ที่ถวิลหาสมรรถนะ และคุณภาพ มากกว่าจะมองหาแต่ของราคาถูก เพราะเมื่อถามเขาไปถึงเรื่องของในตลาดระดับล่าง ก็ดูเหมือนว่าทาง Plextor จะยังไม่ได้มีความสนใจในเรื่องนี้เลย

...คุณไบรอัน ยอมรับอยู่ว่า ผลิตภัณฑ์ของ Plextor นั้นมีราคาค่อนข้างแพง แต่เขาได้กล่าวว่า คุณไม่สามารถจะซื้อ Mercedes-Benz ได้ในราคาที่คุณซื้อ Toyota

...ทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์ไดร์ฟ SSD จาก Plextor นั้นได้มีวางจำหน่ายในประเทศไทย ผ่านตัวแทนจำหน่าย “ARC” หรือ แอสเซนตี้ รีซอสเซส ที่เราคุ้นเคยกันดี โดยผลิตภัณฑ์ของ Plextor เฉพาะที่วางจำหน่ายในประเทศไทย คุณไบรอันได้กล่าวว่า เราให้การรับประกันถึง 5 ปี ซึ่งจริง ๆ แล้วในบางภูมิภาค อาจจะได้การรับประกันเพียงแค่ 3 ปีสำหรับบางผลิตภัณฑ์ แต่เพราะเขามั่นใจในคุณภาพผลิตภัณฑ์ของเขาจริง ๆ  และแน่นอนว่า หากเกิดผลิตภัณฑ์มีปัญหา เสีย เปลี่ยนตัวใหม่เท่านั้นกับทาง เอสเซนตี้ รีซอสเซส คอมพานี (ARC) โดยตรง ซึ่งทาง Plextor ไว้วางใจให้เป็นผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทยเพียงหนึ่งเดียว และไม่มีแพลนที่จะเปิดช่องทางการจำหน่ายผ่านผู้แทนรายอื่นอีก เพราะต้องการให้ทาง เอสเซนตี้ เป็น “Authorized Distributor” แต่เพียงผู้เดียว เพื่อมาตรฐานในการบริการที่เป็นหนึ่งเดียวกันครับ และเขาให้ความเชื่อมั่นในการทำงานที่เป็นมืออาชีพของทางแอสเซนตี้ มาก  ๆ  อีกด้วย

...ทั้งนี้ก็ต้องขอขอบคุณทาง Acsenti Recourses และคุณ Bryan Chen ที่ได้ให้โอกาสเราได้พูดคุย สัมภาษณ์ ในเรื่องของผลิตภัณฑ์ SSD ที่กำลังร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ ตัวผมเองก็หวังว่าบทสัมภาษณ์นี้ จะทำให้หลาย ๆ ท่านได้ทราบถึงความตั้งใจจริงในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของทาง Plextor ด้วยครับก