Review : Acer Aspire P3 Ultrabook + Tablet : Usage (2/2)

Article by Northbridge On July 25, 2013 24,647 views
Review : Acer Aspire P3 Ultrabook + Tablet
 < 1 2

.

การใช้งาน

...ดังรูปเป็นการใช้งานเครื่องในโหมดที่น่าจะเรียกได้ว่า เหมาะสมสำหรับการทำงานทั่วๆไปที่เรามักจะทำกันบนเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีปกติ ซึ่งด้วยความที่ Aspire P3 นั้นใช้ซีพียู Core i5 เหมือนกับอัลตราบุคทั่วๆไป ทำให้มันสามารถรันโปรแกรม X86 ทั่วๆไปบนวินโดวส์ได้อย่างลื่นไหลครับ แต่ถ้าหากจะใช้งานเป็นเวลานานๆ สำหรับ P3 ก็อาจจะติดปัญหาตรงที่ว่า หน้าจอนั้นไม่สามารถปรับองศาการรับภาพในแบบอื่นๆได้แบบที่โน๊ตบุ๊กทั่วๆไปที่มีบานพับจอสามารถทำได้

...จะเห็นได้ว่าผมสามารถรันโปรแกรมทดสอบอย่าง 3Dmark ได้สบายๆ กับเครื่องที่มีีรูปร่างหน้าตาที่เรียกว่าน่าจะเป็นแท็บเล็ต มากกว่าเป็นคอมพิวเตอร์พีซีปกติ ระหว่างนั้นผมก็ได้ทดลองเปิดเพลงฟังไปด้วย ระบบเสียง dolby home theater นั้นก็ให้ซุ่มเสียงที่พอใช้การได้ในระดับของมันครับ การใช้งานในโหมดโน๊ตบุ๊คแบบรนี้ จะทำให้ได้เสียงที่ทุ้มและก้องมากกว่าการถือใช้งานแบบแท็บเล็ตเล็กน้อย เพราะลำโพงอยู่บริเวณด้านล่างเครื่อง (ใต้ปุ่ม Windows)

...ส่วนตัวคีย์บอร์ดนั้น ใช้การเชื่อมต่อกับตัวเครื่อง ผ่านทางระบบ Bluetooth ซึ่งจะใช้งาน ต้องทำการกดปุ่มเพื่อทำการเปิดคีย์บอร์ดขึ้นมาใช้งานก่อนครับ ซึ่งปุ่มกดบนคีย์บอร์ดนั้น ก็วางเรียงมาได้ในตำแหน่งที่เหมาะสม มีปุ่มเป็นแบบ 5 แถว (ปุ่ม F1-F12 ต้องกด fn) จังหวะการกดนั้นก็เรียกได้ว่าออกแนวบางๆตื้นๆ ปุ่มนั้นมีการตอบสนองได้ดีเลยทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับคีย์บอร์ดที่มีความบางขนาดนี้

ตัวโคเวอร์นั้นจะทำหน้าที่เป็นขาตั้งไปในตัวครับ ดังภาพด้านบน ส่วนคีบ์บอร์ดนั้น ในตัวจะมีแบตเตอร์รี่ ที่สามารถชาร์จได้ทางสาย Micro USB ครับ

...โคเวอร์สามารถพับไปด้านหลัง เพื่อการใช้งานในรูปแบบของแท็บเล็ต แต่คีย์บอร์ดนั้นจะไม่ปิดการทำงานให้นะครับ ก่อนที่จะพับไปด้านหลังนี้ ต้องทำการปิดคีย์บอร์ดเสียก่อน เพื่อไม่ให้ปุ่มกดถูกกดโดยไม่ได้ตั้งใจ

...การใช้งานในรูปแบบของแท็บเล็ตแล้ว ด้วยน้ำหนักตัว 800 กรัม ไม่รวมโคเวอร์ ก็เรียกได้ว่า หนักกว่าแท็บเล็ต 10 นิ้วทั่วๆไปในตลาดอยู่พอสมควร การใช้งานถือมือเดียว อาจจะทำได้ไม่สะดวกนัก แต่สำหรับการใช้งานแบบนั่งอ่านคล้ายๆกับท่าอ่านหนังสือ ดังภาพนั้น ก็เรียกได้ว่าทำได้ดีเลยทีเดียวครับ

ปิดท้ายด้วยรูปนี้ ด้วยแอพพลิเคชั่นที่โหลดมาจาก Windows Store เป็นเช็คลิสต์ของเครื่องบินครับ ใช้งานได้สะดวกดีเลยทีเดียว

.

CPU-Z & GPU-Z system information

ซีพียูก็เป็น Core i5 3339Y ที่มี L3 cache ถึง 3MB ด้วยกัน เรียกได้ว่าสเป็คเหมือนๆกับโน๊ตบุ๊กขนาดปกติ เพียงแค่กินไฟน้อยกว่า และมีความถี่สัญญาณนาฬิกาที่ต่ำกว่าเท่านั้นเองครับ

เมมโมรีขนาด 4GB ที่ถูกแชร์ไปให้กราฟฟิค Intel HD4000 ไปส่วนหนึ่ง ทำงานที่ความเร็ว DDR 1600MHz

กราฟฟิคแบบฝังอยู่ในตัวซีพียู Intel HD4000 ที่เท่าที่เคยทดสอบที่ผ่านๆมือมา ก็เรียกได้ว่าสามารถเล่นเกมภาพสวยๆ และเกมออนไลน์ใหม่ๆได้ดีในระดับหนึ่งครับ

PCmark 7

ผมทดลองเอาผลการทดสอบของ PCmark7 มาให้ชมกันซึ่งก็ทำได้อยู่ในระดับของอัลตราบุคระดับกลางๆทั่วไปในตลาดครับ

Cinebench R11

คะแนนของ Cinebench R11 ก็ทำออกมาได้พอสมควร ให้สังเกตที่ OpenGL score มาถึง 11.79fps ซึ่งผมลงความเห็นว่า คะแนนระดับนี้ ก็พอที่จะเล่นเกมที่มีระบบกราฟฟิคในยุคนี้ โดยปรับเซ็ตติ้งในระดับ low เกือบทั้งหมด แต่ความละเอียดเต็มจอได้โอเคเลยทีเดียวครับ

.

.

...เรียกได้ว่าเป็น "combination" ที่ลงตัวมากๆ ในด้านการออกแบบของเครื่องอัลตราบุคสมัยใหม่เครื่องหนึ่งเลยทีเดียวครับ ทั้งประโยชน์ใช้สอยที่ยังคงไว้ได้ครบ ในแง่สมรรถนะก็เรียกได้ว่าทำได้ดี และมีความคล่องตัวในการใช้งานในรูปแบบของแท็บเล็ต ติดตัวมาอีกด้วย ซึ่งส่วนตัวผม ถ้าให้เลือกพกเจ้า P3 ไปใช้งานในวันหยุดพักผ่อน หรือวันที่ต้องเดินทางด้วยระบบขนส่งสารธารณะ ผมก็คงจะไม่หยิบเอาเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ตเครื่องอื่นไปด้วยอีกแน่นอนครับ

...ในด้านสมรรถนะ เรียกได้ว่าหายห่วง ด้วยตัวซีพียู Core i5 หรือแม้จะเป็นรุ่นเล็กสุดที่เป็น Pentium ผมก็ยังคงกล้าบอกได้ว่า ไม่น่าเป็นห่วง เพราะเป็นสถาปัตยกรรมแบบ Ivy-Bridge หมดแล้ว (เป็นสถาปัตยกรรมในซีพียูที่โน๊ตบุ๊กส่วนใหญ่ในตลาดใช้กัน) และเจ้า SSD 120GB ก็เรียกได้ว่าทำหน้าที่ของมันได้ดีเลยทีเดียว ความจุก็อยู่ในระดับกลางๆที่พอใช้งานลงโปรแกรมได้ประปราย และเก็บข้อมูลได้บ้าง และตอบสนองจากการ resume จากโหมด sleep ได้อย่างรวดเร็ว

...แต่อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยข้อจำกัดในด้านการออกแบบ และฟอร์มแฟคเตอร์ของเครื่อง P3 นั้นยังคงขาดการเชื่อมต่อบางอย่างไป อย่างเช่นพอร์ตแลน RJ45 และพอร์ต USB ที่มีมาให้เพียงแค่พอร์ตเดียว ก็ยังคงเป็นจุดที่เป็นข้อเสียของอัลตราบุคในรูปแบบนี้ครับ ส่วนจุดด้อยอื่นๆก็คงจะเป็นเรื่องของคีย์บอร์ด ที่ถึงแม้จะสะดวกในการใช้งานพิมพ์ต่างๆได้อย่างรวดเร็ว แต่ขาดความคล่องตัวในการพับเก็บ และยังคงต้องคอยมากดปุ่มปิด เมื่อจะพับไปใช้งานในโหมดของแท็บเล็ตอยู่ วัสดุตัวเครื่องถึงแม้จะทำออกมาได้ดี แต่ตัวโคเวอร์ที่แถมมาให้นั้น ผมคิดว่าดีไซน์ยังไม่โดดเด่นและคุณภาพยังอยู่ในเกณฑ์กลางๆ ไม่ถึงกับดีจนน่าตกใจครับ

...จุดที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับอัลตราบุคลูกผสมแท็บเล็ต ที่มีขายอยู่ในตลาด ก็คือเรื่องของราคา ที่สำหรับในรุ่น Core i5 จะอยู่ที่ 27,900 บาท และมาพร้อมกับคีย์บอร์ดในตัวเลยนั้น เรียกได้ว่าคุ้มค่า เพราะหากเทียบกับเครื่องที่มีรูปแบบคล้ายๆกันอย่าง Surface ของไมโครซอฟท์ จะเห็นได้ว่าขานั้น มีราคาที่แพงกว่าอยู่พอสมควร และตัวคีย์บอร์ด ก็ต้องซื้อแยกออกมาต่างหากอีกด้วยครับ

รุ่น Pentium / RAM 2GB / SSD 60GB ราคา 19,900 บาท

รุ่น Core i3 / RAM 4GB / SSD 60GB ราคา 23,900 บาท

รุ่น Core i5 / RAM 4GB / SSD 120GB ราคา 27,900 บาท

 < 1 2