Review : BenQ GW2250 : Page 1 (1/1)
...เอะอะ อะไรหันไปทางไหน ผมว่าทุกท่านก็คงจะชินชาและเอียนกับคำว่า "LED Monitor" กันมากๆเลยทีเดียว จริงๆผมเองก็อยากจะย้ำแล้วย้ำอีกครับว่ามันไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น และไม่มีอะไรผิดแผกไปจากคำว่า "LCD" แค่ LED มันดูเท่ห์กว่า และดูทำให้เป็นเครื่องมือทางการค้าได้ดีกว่าก็เท่านั้น LED Monitor ทุกวันนี้นั้นจริงๆแล้วมันคือ LCD ที่มีการนำเอาพาแนล LCD ธรรมดานี่แหละครับแล้วเปลี่ยนจากที่สมัยก่อนเขาใช้หลอดแบกไลท์เป็นหลอดแท่งๆ (จะหลอดอะไรก็แล้วแต่) เปลี่ยนมาใช้เป็นหลอดผลิตผลจากเซมิคอนดักเตอร์อย่าง LED แน่นอนครับ BenQ GW2250 เป็นจอ LCD ที่ใช้พาแนลแบบ "VA" ที่มีการนำเอาเทคโนโลยี LED มาใช้ในการ backlit ตัวจอนั้นเอง
BenQ GW2250 เป็นหน้าจอขนาด 21.5 นิ้ว ความละเอียดใช้งานได้เต็มที่ที่ 1080P หรือ 1920x1080 พิกเซล (16:9) มี Contrast Ratio ที่ 5000:1 Native และ 20M:1 Dynamic และ Response time ที่ 16ms และ 4ms แบบ Grey to grey ครับ
ตัว บอดี้นั้นก็มาในลักษณะที่เรียบง่าย สบายๆ ขาตั้งเป็นแบบสามารถปรับมุมก้มและเงยได้ ส่วนแผ่นหลังจอนี้สามารถติดตั้งจอแบบ VESA Mount ได้ (ติดตั้งบนผนัง)
...เมนู ต่างๆสามารถกดได้จากปุ่มด้านข้าง ซึ่งเป็นปุ่ม hard buttons ธรรมดาๆ แต่มีการสกรีนลาเบลไว้ด้านหน้าตัวเครื่องอย่างสวยงามพอสมควรครับ เมนูที่ใช้ที่เด่นๆก็คงจะเป็นเรื่องของ Senseye 3 ที่จะมีลักษณะ preset โทนสีและค่าคอนทราส รวมไปถึงความสว่างที่ตั้งไว้ให้ถึง 6 preset ด้วยกันให้เลือกใช้ได้ตามใจชอบ Standard, Movie, Game, Photo, sRGB และ Eco ซึ่งเท่าที่ผมทดลองปรับดูก็พบว่าในโหมด Movie Game Photo นั้นลักษณะจะไม่ค่อยต่างกันมาก คือเน้นสีสันที่ดุดัน ส่วนถ้าหากที่ standard โทนสีขาวนั้นจะออกพุ่งกระแทกตามากๆเลยทีเดียว (เทียบกับจอพาแนล TN ที่ผมใช้อยู่ประจำ) และนิสัยของจอตัวนี้เท่าที่พบก็คือมันจะมีอาการอมเขียว-เหลือง อยู่เล็กน้อยครับ คอนทราสจะไม่จัดเหมือนพวกพาแนล TN ส่วนโหมด sRGB นั้นจะให้ลักษณะโทนที่พึ่งพาได้ คือออกจะกลางๆไม่ค่อยฉูดฉาด และ Eco ก็จะเป็นโหมดที่เน้นการประหยัดพลังงานโดยลดค่าความสว่างลงเล็กน้อย ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเหมาะกับการเปิดแสตนด์บายในออฟฟิศ
การเชื่อมต่อนั้น BenQ GW2250 มีชุด power supply อยู่ภายในตัว ซึ่งจะทำให้ขนาดนั้นอาจจะดูแล้วหนาไปบ้างเท่าที่เห็น แต่ก็ทำให้ไม่ต้องวุ่นวายต่ออะแดปเตอร์เอาข้างนอก นอกจากนี้ยังมีช่องสำหรับเสียบหูฟังและเสียบสัญญาณเสียงสำหรับลำโพงภายในตัว ที่คุณภาพเสียงก็จัดอยู่ในเกณฑ์พอฟังได้ไม่ได้หวือหวาอะไรครับ (มีรุ่นที่ไม่มีลำโพงและมีลำโพงให้เลือกในตัวขายจริง)
การเชื่อมต่อสัญญาณภาพทำได้ทั้ง DVI-D และ DSUB ซึ่งภายในกล่องนั้นก็มีสายแถมมาให้ทั้ง DVI และ DSUB แบบไม่ขี้เหนียวแบบจอราคาถูกบางยี่ห้อเลยครับ
มาถึงเรื่องของการแสดงผลจริงๆที่ผมคิดว่าเล่าให้ฟังเป็นคำพูดน่าจะง่ายกว่าถ่ายรูปให้ดู ลักษณะสีสันของพาแนลแบบ VA ใน GW2250 (เป็น VA ตัวแรกที่ผมเคยได้ลอง) พบว่าสีนั้นมีความจัดจ้านน้อยกว่าหน้าจอแบบ TN อยู่บ้างเล็กน้อย แต่ด้วยความดีความชอบด้วยเอนจินของ Senseye 3 ทำให้การแสดงผลสีสันนั้นทำได้ค่อนข้างดีพอสมควรครับ
กล่าวเรื่องแรกคือพาแนลแบบ VA นั้นมีต้นกำเนิดมาคือเพื่อแก้ข้อบกพร่องของหน้าจอแบบ TN แบบเดิมๆที่มีมุมมองรับภาพที่ค่อนข้างแคบ (วัตถึประสงค์เดียวกับ IPS) โดยที่ถ้าจะว่ากันโดยทั่วๆไปก็คือ VA จะมีมุมมองรับภาพที่อยู่ในระดับกึ่งกลางระหว่างหน้าจอแบบ TN กับ IPS โดย IPS โดยส่วนใหญ่จะให้มุมมองที่ดีที่สุด และ TN จะแคบที่สุด
ถึงแม้ว่า BenQ GW2250 นั้นจะมีสเป็คที่เคลมมาว่าสามารถมีมุมมองรับชมภาพได้กว้างถึง 178 องศา (แทบจะเท่าๆกับจอ IPS) แต่ถ้าเอากันตามความรู้สึกของผมแล้ว ยังไงผมก็ยังคงชอบพาแนลแบบ IPS มากกว่า VA ด้วยความรู้สึกที่ดีกว่าครับ
.
.
...ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่เพิ่มเข้ามาในตลาดบ้านเรา แทนที่จะมีเพียงแต่หน้าจอพาแนลแบบ TN หรือ IPS ให้เลือกกัน วันนี้เราก็ได้สัมผัสกับพาแนลแบบ VA ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีอีกแขนงหนึ่งในโลกของจอ LCD ที่ผมคิดว่าในแง่ของมุมมองการรับภาพ ดีกว่าแบบ TN ชัดเจนเลยทีเดียว ซึ่งข้อเสียของพาแนลแบบนี้ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของ response time ที่ช้ากว่าแบบ TN อยู่พอสมควร สำหรับคนที่นิยมการดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ก็อาจจะไม่ชอบนัก แต่สำหรับผมแล้วผมแยกความแตกต่างระหว่าง response time ของจอสมัยนี้ไม่ออก จึงไม่ขออธิบายนะครับว่ามันเป็นอย่างไร
...กล่าวโดยสรุปแล้วคือ GW2250 นั้นเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการจอที่มีมุมมองรับภาพกว้างๆ สีสันกำลังพอเหมาะพอดี ใช้งานเป็นจอคอมพิวเตอร์ในออฟฟิศได้สบายๆ ผนวกกับใช้งานเพื่อความบันเทิงได้พอสมควร สำหรับวันนี้ก็คงต้องลาไปก่อน สวัสดีครับ
.
.