Review : CoolerMaster LAN case 240 Mini-Tower chassis : Page 1 (1/1)

Article by Northbridge On April 12, 2012 7,845 views
Review : CoolerMaster LAN case 240 Mini-Tower chassis

...วันนี้ก็ถือว่าพักเรื่องของแรงๆกันสักพักแล้วมาชมกับบทรีวิวของเคสจากทาง CoolerMaster ในรุ่น LAN case 240 กันครับ LAN case 240 นั้นเป็นเคสขนาดที่น่าจะพอเรียกได้ว่าเป็น Mini-Tower ภายในสามารถในเมนบอร์ดขนาด ATX และพาวเวอร์ซัพพลายไซส์ปกติได้ แต่ขนาดภายนอกนั้นจะมีขนาดค่อนข้างเล็กกว่าเคสขนาด Mid-Tower ทั่วไปอยู่ค่อนข้างมากเลยทีเดียว

...ถึงแม้ว่า CoolerMaster นั้นจะเป็นแบรนด์ไต้หวัน แต่เชื่อหรือไม่ครับว่าแบรนด์ CoolerMaster นั้นได้ไปแจ้งเกิดที่เกาหลีอย่างสง่างาม ที่ต้องท้าวความถึงเรื่องนี้ก็เพราะ Lan Case 240 นั้นเดิมทีถูกออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อร้านอินเตอร์เนทคาเฟ่ในประเทศเกาหลี โดยการออกแบบนั้นเน้นความเรียบง่าย ขนาดพอเหมาะ ในขณะที่ยังสามารถบรรจุเมนบอร์ดสำหรับระบบที่มีประสิทธิภาพที่ดีได้ในระดับหนึ่ง และก็ยังต้องมีฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยในการป้องกันขโมยมือบอน มางัดแงะอุปกรณ์ภายในเคสไปอีกด้วย และที่สำคัญ ราคาจะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ทำให้เป็นภาระต้นทุนที่มากเกินไปสำหรับร้านอินเตอร์เนทคาเฟ่

...ดังนั้นแล้วท่านก็อาจจะไม่ได้เห็นแคทตาล็อคออนไลน์ในเว็บไซต์ของ CoolerMaster Global หรือ CoolerMaster Thailand กันครับ

...Lancase 240 นั้นมีขนาด (diemension) อยู่ที่ 180(W) x 410.8(H) x 356(D)mm ซึ่งถือว่าเป็นขนาดที่ค่อนข้างเล็ก สามารถวางไว้บนโต๊ะทำงาน หรือจะซ่อนเอาไว้บริเวณใต้ลิ้นชักของโต๊ะทำงานก็น่าจะพอได้ น้ำหนักนั้นไม่มากครับ อยู่ที่ 3.4 กิโลกรัม เหล็กเป็นแบบที่เคสทั่วไปใช้กันคือเป็นเหล็กแผ่น SECC ไม่ระบุความหนา ซึ่งจากการสัมผัสของผมแล้วก็พบว่าเนื้อสีที่เคลือบมานั้นก็มีการเคลือบมาหนาในระดับหนึ่งแต่ยังไม่ถือว่าน่าประทับใจเสียเท่าไร ตัวเหล็กอาจจะไม่ได้หนามากนัก

...หน้ากากด้านหน้านั้นเป็นพลาสติก ABS ที่เรียกได้ว่าเป็นหน้ากากที่ปิดตาย ไม่สามารถเปิดช่องอะไรออกมาได้ แน่นอนว่ามันไม่สนับสนุนการติดตั้งออฟติคัลไดร์ฟขนาด 5.25 นิ้วแน่ๆครับ พอร์ตเชื่อมต่อถูกติดตั้งไว้ด้านบน ดังที่เห็นในภาพ มี USB 1.1 สองพอร์ต และแจ๊คสำหรับหูฟังและไมค์ตามมาตรฐาน AC97 มาให้หนึ่งชุด

ฝาด้านข้างที่สามารถเปิดออกได้นั้นก็จะมีช่องระบายอากาศเหมือนๆกับเคสเดสก์ทอพทั่วๆไป รวมไปถึงรูสำหรับล็อคกุญแจ โดยที่การล็อคนั้นจะต้องทำการขันสกรูด้านหลังเคสให้เรียบร้อยเสียก่อน

...กลไกการล็อคนั้นก็เหมือนกับตู้ล็อคเกอร์เหล็กทั่วๆไปนั้นแหละครับ กุญแจก็จะแถมมาให้ในกล่องอุปกรณ์จุกจิกในตัวเคส สังเกตว่าเหล็กภายในไม่ได้ถูกพ่นสีมา เรียกว่าเป็นการลดต้นทุนในส่วนที่ไม่จำเป็น เพราะคอมพิวเตอร์ร้านอินเตอร์เนท คงจะไม่ได้มีเอาไว้โชว์ภายในให้ใครดูอยู่แล้ว

ด้านหลังนั้นก็จะสังเกตได้ว่าไม่ได้มีการพ่นสีมาเช่นกัน มีข้อสังเกตคือส่วนประกอบที่เป็นเหล็กสำหรับแผงด้านหลังนี้จะใช้เหล็กแผ่นค่อนข้างบางเมื่อเทียบกับชุดโครงสร้างหลักของเคส

สังเกตตรงนี้จะพบว่าฝาข้างสามารถเปิดออกได้เพียงด้านเดียว ส่วนอีกด้านหนึ่งจะถูกล็อคปิดตายไว้ด้วยลูกรีเวตทั้งหมดสองลูก แทนที่จะเป็นน็อตเแบบเคสทั่วๆไป

...ภายในเคสโดยภาพรวมๆ จะพบว่าสามารถติดตั้งเมนบอร์ดขนาด ATX เต็มๆใบได้ โดยที่จุดติดตั้งฮาร์ดดิสก์นั้นจะถูกติดตั้งไว้ด้านหน้าเคสในลักษณะวางขึ้น ซึ่งไม่ต้องคิดถึงการติดตั้งลูกที่สองหรือสามครับ เพราะใน Lan Case 240 สามารถติดตั้งได้แค่ลูกเดียว

ภาพเมือ่าวางเมนบอร์ดขนาด Full ATX ลงไปแล้ว สามารถวางลงไปได้อย่างพอดีๆครับ มุมนี้จะเห็นพัดลมขนาด 80mm แถมมาให้ติดไว้ด้านหลัง

...ถึงแม้ว่าหน้ากากด้านหน้าจะมีรูระบายอากาศ แต่ก็ไม่สามารถติดตั้งพัดลมอะไรได้ครับ นอกเสียจากท่านจะย้ายฮาร์ดดิสก์ ดัดแปลงไปติดตั้งที่อื่น แล้วบริเวณถาดฮาร์ดดิสก์จะพอมีรูระบายอากาศให้ติดตั้งพัดลมดูดเข้าได้อยู่

...การติดตั้งกราฟฟิคการ์ดขนาดยาวๆผมคิดว่าคงเป็นปัญหาแน่ครับ ตามสเป็คระบุว่าสามารถติดตั้งการ์ดขนาดความยาวสูงสุดได้ 10.41 นิ้ว หรือ 264.45มม. ซึ่งก็น่าจะยาวเพียงพอสำหรับการ์ดระดับ mainstreme ทั่วๆไปที่นิยมใช้กันในร้านอินเตอร์เนทคาเฟ่ที่อาจจะมีบริการเกมด้วย

.

.

...LAN Case นั้นเรียกได้ว่าเป็นเคสที่เกิดมาเพื่ออินเตอร์เนทคาเฟ่จริงๆดังที่ได้กล่าวไปในตอนต้นครับ การออกแบบในหลายๆจุด อาจจะไม่ถูกในเหล่าบรรดานัก DIY อย่างเราๆกันเสียเท่าไร แต่สำหรับร้านเกมหรือร้านอินเตอร์เนทที่ต้องการเคสราคาไม่แพง ดีไซน์ที่ดูแล้วเรียบง่ายและมีสไตล์ดีกว่าเคสราคาถูกจากประเทศจีนหลายๆรุ่น ขนาดไม่ใหญ่โตเกะกะและสามารถติดตั้งอุปกรณ์ได้เหมือนเครื่องพีซีปกติ LAN Case 240 นั้นเรียกได้ว่าเป็นตัวเลือกที่ดีตัวหนึ่งครับ ถึงแม้ว่าจะมีจุดด้อยหลายๆอย่างดังที่บอกไปทั้งในเรื่องของงานพ่นสีที่ภายในยังคงเป็นงานชุบสังกะสีธรรมดาๆมาไม่ได้มีการพ่น และพาแนลด้านหลัง รวมไปถึงเหล็กหลายๆส่วนยังไม่ได้ให้ความรู้สึกหนักแน่นแข็งแรงมากนัก แลกกับราคา 890บาท ก็เรียกได้ว่าอาจจะมีความสมเหตุสมผลอยู่ในตัวอยู่แล้ว สำหรับวันนี้ก็คงลาไปก่อน สวัสดีครับ

.

.

ขอขอบคุณ CoolerMaster