Review : Sony Walkman Z series (Z1050) : Page 2 (2/3)
...มาถึงรีวิวในส่วนของการใช้งาน เริ่มจากตัวจอที่เป็นจอขนาด 4.3นิ้ว TFT LCD และมี backlid แบบ LED เรียกได้ว่าให้ความสว่างและความคมชัดในระดับที่เรียกว่าดีครับ มุมมองของจอภาพนั้นพอใช้งานได้ในระดับที่คนสองคนจะมาดูหน้าจอพร้อมๆกัน (ถ้าสักสามคนจะเริ่มเห็นจุดบอด) ส่วนตัวแล้วผมยังคิดถึงหน้าจอแบบ OLED ในสมัยของ Walkman X series อยู่มากกว่า แต่เข้าใจว่า OLED มีต้นทุนที่สูงกว่ามาก และความคมชัดก็ไม่ได้หนีไปจาก TFT LCD ในตัวนี้มากนักครับ
อินเตอร์เฟสโดยรวมนั้นยังคงความเป็น android 2.3 ไว้ค่อนข้างเหนียวแน่น จะมีที่แปลกๆตาไปก็คือบริเวณส่วนของปุ่มควบคุมหลักบนหน้าจอ (ไม่ใช่ซอฟท์คีย์ทั้งสามตัวด้านล่างนะครับ) ที่จะมีชอร์ตคัทให้เลือกเข้า app สำหรับเล่นเพลงเฉพาะของ Walkman เอง
หรือนอกจากนี้หากท่านยังคงอยากจะใช้ความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ Walkman แบบสมัยก่อน ก็สามารถเข้าไปที่ Original app ก็จะได้หน้าตาของอินเตอร์เฟสง่ายๆแบบนี้ให้ได้ใช้งานกัน
App เล่นเพลงของ Walkman นั้นมีความพิเศษกว่า app ตัวอื่นๆที่ไว้เล่นเพลงบนแอนดรอยในหลายๆจุดครับ ตั้งแต่ระบบ Library ที่ใช้งานได้ง่าย สามารถเลือกแยกประเภทเพลงได้ดี การจัดเรียง Cover Art ที่สวยงาม รวมไปถึงฟีเจอร์ที่มีมาตั้งแต่ยุคก่อนๆอย่าง SenseMe Channel ที่โปรแกรมจะทำการวิเคราะห์เพลงแต่ละเพลงแล้วจัดเอาไว้ให้เป็นหมวดหมู่ ตามอารมณ์และจังหวะของเพลง
เรื่องภาษาไทยยังคงมีปัญหาอยู่บ้างกับไฟล์ที่ไม่ได้ตั้งชื่อด้วย Unicode
ตัว App ขณะเล่นเพลง ถึงแม้ว่าเพลงจะไม่มีไฟล์รูปหน้าปก แต่ก็มีการจัดเรียงตัวอักษรถ้อยคำต่างๆที่เกี่ยวกับอัลบัมนั้นๆได้อย่างลงตัว ดูแล้วไม่ใช่การออกแบบชุ่ยๆแน่นอนครับ
การเล่นเพลงนอกจากจะทำผ่านทางหน้าจอหลักด้วยการเข้า app Music Player แล้ว ยังสามารถทำได้ผ่านทางปุ่ม W Control ที่จะเป็นการ Popup หน้าจอควบคุมการเล่นเพลงขนาดเล็กมา ในขณะที่เราล็อคตัวเครื่องอยู่ (ไม่ต้องสไลด์ปลดล็อค ใช้งานได้เลย)
หรือว่าจะตั้งค่าให้ W control เป็นแบบสไลด์เพื่อเปลี่ยนเพลง ก็ได้เช่นกัน
...มันมีเหตุผลหลายอย่างครับ ที่เมื่อหากคุณใช้ Walkman เครื่องนี้แล้ว คุณไม่ควรที่จะไปใช้โปรแกรมเล่นเพลงอะไรอย่างอื่นอีกนอกจากของทาง Sony เอง อย่างหนึ่้งก็คือเรื่องของการตั้งค่า โซนี่ได้ติดเอาฟีเจอร์ทางด้านเสียงมาให้หลายตัวทั้ง DSEE (เพิ่มคุณภาพเสียงย่าน treble สำหรับไฟล์คุณภาพต่ำ) Clear Stereo (ป้องกันการเกิด Cross talk ระหว่างชาแนลซ้ายกับขวาของหูฟัง) ส่วน xLOUD และ Clear Phase นั้นจะเป็นฟีเจอร์สำหรับลำโพง loud speaker ซึ่งผมลองเปิดๆปิดๆดูแล้วก็ไม่รู้ว่าผมหูไม่ถึง หรือมันไม่ค่อยจะมีความต่างจริงๆกันแน่ ?
...นอกจากนี้ก็ยังมีฟีเจอร์ VPT Surround ที่สามารถปรับตั้งค่าจำลองสภาพแวดล้อมการฟังได้หลากหลาย ตัวที่ผมชอบเลือกใช้มากที่สุดคือ Studio เนื่องจากผมรู้สึกว่าฟังแล้วมันทำให้เสียงคนร้องนั้นแผดออกมาชัดเจนกระแทกหูสะใจมากขึ้นครับ แต่จริงๆแล้วหากต้องการมิติของเสียงให้เหมือนกับนั่งฟังสเตอริโอชั้นดีอยู่ที่บ้าน หรือกำลังดูดนตรีสดอยู่ตรงหน้า แนะนำให้ลองแบบ Live ดูครับ จะให้มิติเสียงที่ดีมากๆ โดยที่คุณภาพไม่ได้ลดลงไปเลยแม้แต่น้อย โดยรวมๆแล้ว VPT สามารถทำหน้าที่ของมันได้ดีครับ ที่ต้องพูดก็เพราะผมเคยเจอเครื่องเล่นบางอย่าง ที่เปิดโหมดเซอราวพวกนี้แล้วฟังเสียงแล้วมันออกแนวน่ารำคาญมากกว่าจะสร้างความสำราญให้กับผม
นอกจากนั้นก็ยังมี Equalizer มาหให้ปรับเล่นกัน สามารถปรับได้ 5 ย่านความถี่ และมีแบบสำเร็จรูปมาให้เลือกอยู่ 4 แบบ
สรุปแล้ว App เพลงของเจ้า Walkman เนี่ย ใช้ๆไปเถอะครับ รับรองว่าจะติดใจในความลื่นไหลและสวยงาม รวมไปถึงลูกเล่นมากมาย
นอกจาก app Walkman แล้วก็ยังมีแอพอีกตัวหนึ่งที่มีประโยชน์กับชีวิตก็คือแอพสำหรับทดสอบการเชื่อมต่อ WiFi ครับ ทำให้การเชื่อมต่อหรือตั้งค่าต่างๆไม่จำเป็นจะต้องเข้าไปลึกถึงส่วนของ Setting ของระบบปฏิบัติการ
และแน่นอน โซนี่ใจกว้างพอที่จะให้ Walkman ของพวกเขาฟัง FM ได้ด้วย แต่ต้องเสียบหูฟังนะครับถึงจะฟังได้ เพราะตัวหูฟังมันจะเป็นสายอากาศไปในตัว