iqpressrelease
|
|
« เมื่อ: 01 กุมภาพันธ์ 2023, 12:10:40 » |
|
"ไซเบอร์ทรัสต์ เจแปน" รวมไพรเวทคีย์ของ "ควอนทินิวอัม" เป็นองค์ประกอบในการออกใบรับรองอุปกรณ์ IoT
ผู้ออกใบรับรองเชิงพาณิชย์รายแรกของญี่ปุ่นประกาศรวมโซลูชันควอนตัม ออริจิน ของควอนทินิวอัม เพื่อเสริมแกร่งการรักษาความปลอดภัยอุปกรณ์ IoT จากภัยคุกคามทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ควอนทินิวอัม (Quantinuum) บริษัทด้านการประมวลผลควอนตัมแบบบูรณาการระดับแนวหน้าของโลก ประกาศว่า บริษัท ไซเบอร์ทรัสต์ เจแปน จำกัด (Cybertrust Japan Co., Ltd.) ผู้ออกใบรับรองชั้นนำในประเทศญี่ปุ่น ได้รวมควอนตัม ออริจิน (Quantum Origin) ซึ่งเป็นไพรเวทคีย์ที่ตั้งค่าความปลอดภัยอย่างรัดกุมด้วยการประมวลผลควอนตัม เป็นองค์ประกอบในการออกใบรับรองอุปกรณ์ IoT เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการสื่อสารจะเป็นไปอย่างปลอดภัยทั้งในปัจจุบันและอนาคต
โครงสร้างการรับรองแบบใหม่ของไซเบอร์ทรัสต์ เจแปน สำหรับการออกใบรับรองอุปกรณ์ IoT จำนวนมากด้วยความเร็วสูงในปริมาณมาก มีการใช้อัลกอริทึมการเข้ารหัสหลังยุคควอนตัม (PQC) ที่ผ่านการคัดเลือกโดยสถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NIST) เพื่อช่วยยกระดับการปกป้องอุปกรณ์จากภัยคุกคามขั้นสูงในปัจจุบัน ด้วยการรวมโซลูชันควอนตัม ออริจิน ของควอนทินิวอัม ซึ่งเป็นโซลูชันการเข้ารหัสเพียงหนึ่งเดียวที่ใช้พลังของคอมพิวเตอร์ควอนตัมเพื่อสร้างคีย์ที่ตั้งค่าความปลอดภัยอย่างรัดกุมด้วยการประมวลผลควอนตัม
"การรวมควอนตัม ออริจิน ทำให้ลูกค้าของเรามั่นใจได้ว่าสามารถสร้างโซลูชัน IoT นวัตกรรมใหม่บนแพลตฟอร์มที่ไว้วางใจได้ เพื่อมอบความรวดเร็วและความปลอดภัยในระดับที่สูงขึ้น รวมทั้งสนับสนุนอัลกอริทึมหลังยุคควอนตัม ด้วยเหตุนี้ ลูกค้าและพันธมิตรจึงสามารถใช้และจำหน่ายบริการรับรองของเราได้ อย่างปลอดภัยในระยะยาว" ยาสุโตชิ มางาระ (Yasutoshi Magara) ประธานและซีอีโอของไซเบอร์ทรัสต์ เจแปน กล่าว "เราต้องการส่งเสริมกิจกรรมที่มุ่งสร้างสังคมที่มั่นคงปลอดภัยร่วมกับควอนทินิวอัม"
โดยทั่วไปแล้ว อุปกรณ์ IoT ต้องใช้ใบรับรองเพื่อรับรองการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์หรือเครือข่ายอื่น ๆ เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นอุปกรณ์ที่เชื่อถือได้ ความท้าทายในการออกใบรับรองและจัดการใบรับรองของอุปกรณ์เหล่านี้มีความซับซ้อน เนื่องจากมีอุปกรณ์จำนวนมหาศาลที่พยายามเชื่อมต่อกับเครือข่ายและจำเป็นต้องเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว มาตรการรักษาความปลอดภัยจึงต้องมีความแข็งแกร่ง ขณะเดียวกันก็ต้องรองรับการสื่อสารแบบเรียลไทม์ด้วย
"ไซเบอร์ทรัสต์ เจแปน และควอนทินิวอัม แสดงให้เห็นว่าโซลูชันที่ใช้การประมวลผลควอนตัมขั้นสูงอย่างควอนตัม ออริจิน สามารถรวมเข้ากับโครงสร้างการรับรองได้อย่างราบรื่น เพื่อเสริมแกร่งการสร้างคีย์และการออกใบรับรอง ไซเบอร์ทรัสต์ เจแปน เป็นผู้ออกใบรับรองรายแรกในโลกที่สนับสนุนการสร้างคีย์ที่ตั้งค่าความปลอดภัยอย่างรัดกุมด้วยการประมวลผลควอนตัมโดยใช้ควอนตัม ออริจิน" ดันแคน โจนส์ (Duncan Jones) หัวหน้าฝ่ายความปลอดภัยทางไซเบอร์ของควอนทินิวอัม กล่าว "ในขณะที่การใช้อุปกรณ์ IoT เติบโตขึ้น บริษัทต่าง ๆ ต้องมั่นใจว่าอุปกรณ์ของตนมีการป้องกันที่ล้ำสมัยจากการโจมตีทางไซเบอร์ที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งคุกคามทรัพย์สินและข้อมูลที่มีค่าที่สุดของบริษัท โดยควอนตัม ออริจิน เป็นโซลูชันเดียวในโลกที่สร้างคีย์เข้ารหัสโดยใช้คอมพิวเตอร์ควอนตัม ช่วยให้ลูกค้ามีความสามารถที่เหนือชั้นในการเสริมแกร่งมาตรการรักษาความปลอดภัยที่มีอยู่เดิม และลดความเสี่ยงจากการถูกโจมตีด้วยการเข้ารหัสขั้นสูง"
แพลตฟอร์ม Secure IoT ของไซเบอร์ทรัสต์ เจแปน ปกป้องอุปกรณ์ปลายทางตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การออกแบบเซมิคอนดักเตอร์ การใช้งานอุปกรณ์ ไปจนถึงการกำจัดอุปกรณ์ในขั้นสุดท้าย โดยแพลตฟอร์ม Secure IoT สร้างใบรับรองความปลอดภัยของกระบวนการผลิตเพื่อปกป้องฮาร์ดแวร์ ทำให้กระบวนการผลิตสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และรับประกันข้อบกพร่องในระยะยาว นอกจากนั้นยังใช้แพลตฟอร์มการจัดการอุปกรณ์เพื่ออัปเดตระบบปฏิบัติการและซอฟต์แวร์อย่างปลอดภัย รวมถึงรักษาความปลอดภัยข้อมูลที่สร้างและส่งผ่านโดยอุปกรณ์ต่าง ๆ
เกี่ยวกับไซเบอร์ทรัสต์ เจแปน
ไซเบอร์ทรัสต์ เจแปน (Cybertrust Japan) คือผู้ออกใบรับรองเชิงพาณิชย์รายแรกของญี่ปุ่น โดยให้บริการรับรองและรักษาความปลอดภัย รวมถึงบริการ Linux/OSS สำหรับโดเมนภายในองค์กร บนคลาวด์ และแบบฝัง โดยอาศัยเทคโนโลยีเคอร์เนล MIRACLE LINUX และองค์ความรู้เกี่ยวกับซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส (OSS) บริษัทผสานรวมเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ากับความเชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยเชิงลึก เพื่อส่งเสริมบริการที่สนับสนุนความน่าเชื่อถือของบริการลูกค้า ด้วยการพิสูจน์ความถูกต้องของ "คน สิ่งที่จับต้องได้ และสิ่งที่จับต้องไม่ได้" สำหรับ IoT และภาคส่วนที่ล้ำสมัยอื่น ๆ โดยไซเบอร์ทรัสต์ เจแปน มุ่งมั่นสร้างสังคมที่มั่นคงปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีที่มีความเชี่ยวชาญสูงและเป็นกลางสำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที
เกี่ยวกับควอนทินิวอัม
ควอนทินิวอัม (Quantinuum) คือบริษัทด้านการประมวลผลควอนตัมแบบบูรณาการรายใหญ่ที่สุดในโลก ก่อตั้งขึ้นโดยการรวมกันระหว่างฮาร์ดแวร์ชั้นนำระดับโลกของฮันนี่เวลล์ ควอนตัม โซลูชันส์ (Honeywell Quantum Solutions) กับมิดเดิลแวร์และแอปพลิเคชันชั้นนำของเคมบริดจ์ ควอนตัม (Cambridge Quantum) โดยควอนทินิวอัมยึดมั่นในวิทยาศาสตร์และการขับเคลื่อนองค์กรเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อเร่งการประมวลผลควอนตัมและการพัฒนาแอปพลิเคชันในด้านเคมี ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การเงิน และการยกระดับประสิทธิภาพ จุดมุ่งหมายขององค์กรคือการสร้างโซลูชันควอนตัมเชิงพาณิชย์ที่ปรับขนาดได้เพื่อแก้ปัญหาที่เร่งด่วนที่สุดในโลกในด้านต่าง ๆ เช่น พลังงาน การขนส่ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสุขภาพ บริษัทมีพนักงานมากกว่า 480 คน รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ 350 คน ที่ประจำการอยู่ในสำนักงาน 9 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น
|