หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: รายงานชี้แรงงานอายุ 45 ปีขึ้นไปเป็นส่วนสำคัญของตลาดแรงงาน  (อ่าน 412 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
iqpressrelease
Vmodtech Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 3688


อีเมล์
« เมื่อ: 10 ตุลาคม 2023, 11:11:52 »

รายงานฉบับใหม่เผยให้เห็นว่า อคติของนายจ้างทำให้ผู้สมัครงานในช่วงกลางของอาชีพ (midcareer) และผู้สมัครงานสูงวัย ถูกประเมินค่าต่ำกว่าความเป็นจริง
ความกังวลไปเองว่าแรงงานอายุ 45 ปีขึ้นไปจะไม่สามารถใช้เทคโนโลยีได้ ทำให้นายจ้างมองข้ามผู้สมัครที่มีประสบการณ์ แม้ว่าจะทำงานดีมากก็ตาม
เจเนอเรชัน (Generation) เครือข่ายไม่แสวงหาผลกำไรระดับโลกที่มุ่งส่งเสริมการจ้างงาน และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เสนอแนะว่า นายจ้างจำเป็นต้องเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับผู้สมัครงานในช่วงกลางของอาชีพ (midcareer) และผู้สมัครงานสูงวัย

รายงานในหัวข้อ "โอกาสในช่วงกลางของอาชีพ รับมือกับความท้าทายของแรงงานสูงวัย" (Midcareer Opportunity: Meeting the challenges of an ageing workforce) ได้สรุปข้อมูลเชิงลึกที่ได้มาจากการรวบรวมข้อมูลโดย OECD และจากการสำรวจนายจ้าง ผู้สมัครงาน และลูกจ้างหลายพันคนใน 8 ประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยการวิจัยในยุโรปได้รับทุนจาก Google.org และการวิจัยในสหรัฐอเมริกาได้รับทุนจาก Clayton, Dubilier & Rice

ผู้ที่มีอายุระหว่าง 45-64 ปี คิดเป็นสัดส่วน 40% ของแรงงานทั้งหมดในประเทศสมาชิก OECD ณ ปี 2563 เทียบกับเพียง 28% ในปี 2533 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบุคลากรมากความสามารถในช่วงอายุดังกล่าวมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

"แรงงานสูงวัยถือเป็นทรัพยากรที่มีค่า เมื่อพิจารณาจากทักษะ ประสบการณ์ และความมุ่งมั่นตั้งใจของแรงงานกลุ่มนี้" คุณสเตฟาโน สการ์เปตตา (Stefano Scarpetta) ผู้อำนวยการฝ่ายการจ้างงาน แรงงาน และกิจการสังคมของ OECD กล่าว "การรักษาคนกลุ่มนี้ไว้ถือเป็นกุญแจสำคัญในการรักษามาตรฐานการครองชีพระดับสูงในประเทศสมาชิกของเรา ปัจจุบัน ธุรกิจต่าง ๆ กำลังประสบความยากลำบากในการสรรหาบุคลากร จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องพยายามมากขึ้นเพื่อทำให้พนักงานทุกคนมีอาชีพการงานที่ประสบความสำเร็จและยืนยาว โดยไม่มีอคติเรื่องอายุ"

อย่างไรก็ตาม รายงานแสดงให้เห็นว่านายจ้างไม่คว้าโอกาสนี้ โดยนายจ้างเกือบ 40% ต้องการจ้างคนอายุ 20-29 ปี และเกือบครึ่งหนึ่ง (47%) ต้องการจ้างคนอายุ 30-44 ปี ขณะที่มีเพียงหนึ่งในสาม (35%) ที่ต้องการจ้างคนอายุ 45-54 ปี และมีเพียง 13% ที่ต้องการจ้างคนอายุ 55-65 ปี

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่มีอายุ 45-64 ปี จึงมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในกลุ่มผู้ว่างงานระยะยาว โดยในประเทศที่สำรวจ ได้แก่ สาธารณรัฐเช็ก ฝรั่งเศส เยอรมนี โรมาเนีย สเปน สวีเดน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา คนช่วงวัยดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 44% ของผู้ว่างงานระยะยาวในปี 2563 เพิ่มขึ้นจาก 36% ในปี 2543

แม้ว่านายจ้างจะให้ความสำคัญกับประสบการณ์ แต่ข้อได้เปรียบนี้ก็ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป โดยในการสำรวจ ผู้จัดการฝ่ายบุคคลมีแนวโน้มที่จะสัมภาษณ์ผู้ที่มีประสบการณ์ 5 ปี พอ ๆ กับผู้ที่มีประสบการณ์ 25 ปี

สาเหตุสำคัญคือความกังวลว่าผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปจะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ โดยนายจ้างมากกว่าครึ่ง (52%) มองว่าคนอายุ 30-44 ปีมีทักษะด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการทำงาน แต่มีเพียง 30% ที่มีมุมมองเช่นนี้ต่อคนอายุ 45 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ นายจ้างยังเชื่อว่าผู้สมัครงานในช่วงกลางของอาชีพและผู้สมัครงานสูงวัยมีแนวโน้มน้อยกว่าคนอายุน้อยในการลองเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ

อย่างไรก็ดี ยังคงมีความย้อนแย้งเกี่ยวกับอายุของพนักงาน โดยพบว่านายจ้างให้ความสำคัญมากกับพนักงานอายุ 45 ปีขึ้นไปที่มีอยู่แล้วในองค์กร โดยนายจ้าง 89% มองว่าพนักงานในช่วงกลางของอาชีพและพนักงานสูงวัยที่อยู่ในองค์กรอยู่แล้ว สามารถทำงานได้ดีพอ ๆ กันหรือดีกว่าพนักงานอายุน้อย และเรียนรู้ได้เร็วพอ ๆ กัน (83%)

"นายจ้างกำลังมองข้ามผู้สมัครงานมากความสามารถที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป" คุณโมนา มัวร์เชด (Mona Mourshed) ซีอีโอระดับโลกของเจเนอเรชัน กล่าว "มีหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่าพนักงานอายุ 45 ปีขึ้นไปสามารถประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้ โดยนายจ้างสามารถเติมเต็มตำแหน่งงานที่จำเป็นและเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรได้ด้วยการเปลี่ยนแนวปฏิบัติในการจ้างงานเพื่อรองรับผู้สมัครงานทุกวัย"

ผู้สมัครงานในช่วงกลางของอาชีพและผู้สมัครงานสูงวัยรู้สึกถึงอคติด้านอายุอย่างชัดเจน โดยไม่คำนึงถึงระดับการศึกษา ผู้สมัครงานมากกว่าครึ่งหนึ่ง (53-54%) รู้สึกว่าการหางานทำได้ยาก โดยอายุคืออุปสรรคที่พบบ่อยที่สุด

ผลการวิจัยยังตอกย้ำถึงความไม่สอดคล้องกันระหว่างสิ่งที่นายจ้างให้ความสำคัญมากที่สุดกับการวางตัวในที่ทำงานของพนักงานที่อยู่ในช่วงกลางของอาชีพและพนักงานสูงวัย

อ่านข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับเต็มได้ที่ https://www.thaipr.net/it/3394101
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป: