Monday, 24 January 2011 19:45
วันนี้ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ DTI ได้ทำพิธีส่งมอบต้นแบบจรวดหลายลำกล้องแบบ DTI-1 ให้กับกองพลทหารปืนใหญ่ กองทัพบก ณ ที่ตั้งกองพลทหารปืนใหญ่ ซึ่งเป็นผลผลิตที่ได้จากการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ภายในแผนแม่บทการวิจัยและพัฒนาจรวดเพื่อความมั่นคงที่กระทรวงกลาโหมได้จัดทำขึ้น โดยในงานมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก ประธานคณะกรรมการและผู้อำนวยการของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) ผู้บังคับการกองพลทหารปืนใหญ่ รวมถึงนายทหารชั้นผู้ใหญ่จากทั้งสามเหล่าทัพ และกำลังพลของกองพลทหารปืนใหญ่เข้าร่วมในพิธี ซึ่งถือเป็นการเปิดตัวผลงานแรกของ DTI อีกด้วย
งานเริ่มต้นด้วยการกล่าวรายงานของพลโท ฐิตินันท์ ธัญญะสิริ ผู้อำนวยการของ DTI เกี่ยวกับความเป็นมาของระบบจรวดหลายลำกล้องแบบ DTI-1 ซึ่งจัดสร้างจากการได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดย DTI มีภารกิจในการจัดสร้างและพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อเข้าประจำการในกองทัพไทยต่อไป
หลังจากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ์ พร้อมด้วยนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ได้กระทำพิธีส่งมอบต้นแบบจรวดระบบนี้ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้กดปุ่มเปิดม่านเพื่อเป็นการเปิดตัวระบบจรวดแบบ DTI-1 ต่อสาธารณะชน
ต่อมาพลอากาศเอกธเรศ ปุณศรี ประธานคณะกรรมการของ DTI ได้ส่งมอบรายการยุทโธปกรณ์ให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อส่งต่อให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และส่งมอบต่อให้พลตรีสุกิจ เนื่องจำนงค์ ผู้บังคับการกองพลทหารปืนใหญ่ ในฐานะหน่วยผู้ใช้
หลังจากนั้น คณะนายทหารได้เดินชมระบบจรวดหลายลำกล้องแบบ DTI-1 ซึ่งก่อนหน้านั้น ทางกองพลทหารปืนใหญ่ได้สาธิตการตั้งยิงของระบบจรวดแบบนี้ โดยใช้กำลังพลประจำระบบจรวดของกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 711 ที่ได้รับการฝึกมาให้ทำงานกับระบบจรวดนี้ โดยระบบจรวดแบบนี้ประกอบไปด้วยรถสองคัน คันแรกเป็นรถบรรจุจรวดซึ่งมีแท่นบรรทุกจรวดจำนวน 4 นัด และอีกคันเป็นรถยิงซึ่งติดตั้งแท่นยิงที่สามารถยิงได้จำนวน 4 นัดพร้อมกับห้องควบคุมการยิงในบริเวณส่วนหน้าของตัวรถ
หลังจากได้รับตำแหน่งเป้าหมายที่ต้องทำการยิงแล้ว รถยิงจะทำการเคลื่อนเข้าสู่ตำแหน่งตั้งยิง โดยตัวรถจะมีขาตั้งไฮโดรลิคจำนวน 4 ขาซึ่งจะกดลงกับพื้นในระหว่างยิงเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับตัวรถ
กำลังพลจะใช้ข้อมูลจากหลายส่วนในการหาหลักฐานยิงหรือการหามุมทิศ มุมภาค เพื่อปรับแท่นยิงให้อยู่ในตำแหน่งที่สามารถทำการยิงได้อย่างถูกต้อง โดยนอกจากข้อมูลพิกัดของเป้าหมายที่จะทำการยิงแล้ว ยังต้องใช้ข้อมูลสภาพอากาศเพื่อทำให้ตัวลูกจรวดที่เคลื่อนที่แบบ Projectile นั้นวิ่งเข้าหาเป้าหมายได้ โดยบนตัวรถจะมีห้องควบคุมการยิงซึ่งกำลังพลจะใช้คอมพิวเตอร์ในการหาค่าต่าง ๆ ที่จำเป็นและประมวลผลออกมาเป็นหลักฐานยิง
หลังจากได้หลักฐานยิง กำลังพลจะทำการยกแท่นยิงขึ้นตามมุมทิศและมุมภาคที่ได้คำนวณเอาไว้ โดยแท่นยิงนั้นสามารถทำการยกได้ทั้งการยกแบบอัตโนมัติซึ่งจะถูกควบคุมจากในห้องควบคุมการยิงและการยกด้วยการบังคับด้วยมือโดยใช้กล้องเล็งที่ติดตั้งอยู่ข้างตัวรถ
หลังจากแท่นยิงเข้าสู่ตำแหน่งที่ถูกต้องและพร้อมสำหรับการทำการยิงแล้ว กำลังพลประจำรถจะทำการตรวจสอบระบบไฟฟ้าของแท่นยิงเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อทำให้แน่ใจว่าระบบทุกอย่างพร้อม ก่อนทำการขออนุญาตยิง
ในการยิงจริงนั้น ตัวลูกจรวดจะวิ่งออกจากแท่นยิงด้วยความเร็วราว 5 มัค หรือ 5 เท่าของความเร็วเสียง และใช้เวลาในการเดินทางเข้าสู่เป้าหมายที่ระยะยิงไกลสุดที่ 180 กิโลเมตรราว 2 นาที การยิงสามารถทำได้ทั้งการยิงทะละนัดและการยิงแบบซัลโวเป็นชุด และลูกจรวด 1 นัดมีรัศมีการทำลายได้ราว 1 สนามฟุตบอล
เมื่อยิงเสร็จสิ้น รถบรรจุจรวดสามารถทำการโหลดจรวดชุดใหม่ทั้ง 4 นัดได้ภายในเวลา 20 นาที เพื่อพร้อมสำหรับการทำการยิงอีกครั้ง ในปัจจุบันระบบจรวดหลายลำกล้องแบบ DTI-1 นั้นเป็นระบบจรวดที่ไม่นำวิถี ซึ่ง DTI มีโครงการที่จะพัฒนาระบบนำวิถีเพื่อติดตั้งกับระบบจรวดแบบ DTI-1 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำในการยิงให้มากยิ่งขึ้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าวในระหว่างการให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวในตอนหนึ่งว่า ในอดีตประเทศไทยต้งอนำเข้าอาวุธจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นการจ่ายงบประมาณออกไปยังต่างประเทศ และในหลายครั้งยังมีข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถจัดหาระบบอาวุธที่ต้องการได้ กระทรวงกลาโหมจึงมีนโยบายที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ด้วยการใช้สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาต้นแบบระบบอาวุธให้กับเหล่าทัพ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกองทัพและประเทศชาติ
ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) ได้กล่าวในตอนหนึ่งว่า การสร้างอุตสาหกรรมป้องกันประเทศถือเป็นภารกิจที่ท้าทาย แต่ถ้าทำสำเร็จ นอกจากประเทศไทยจะได้มีโอกาสในการใช้อาวุธที่ผลิตด้วยตนเองแล้ว การเป็นเจ้าของเทคโนโลยียังทำให้ประเทศไทยสามารถซ่อมบำรุงและพัฒนาระบบอาวุธของตนให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ซึ่งนอกจากการสร้างความเข้มแข็งและสร้างการพึ่งพาตนเองด้านการทหารแล้ว การวิจัยและพัฒนายังเป็นการสร้างองค์ความรู้ที่ช่วยพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ช่วยสร้างเศรษฐกิจและสร้างงานให้กับวิศกรชาวไทย โดยในอนาคต
ทัง้นี้ กองพลทหารปืนใหญ่ในฐานะผู้ใช้งานจะนำต้นแบบระบบจรวดหลายลำกล้องแบบ DTI-1 ไปทำการฝึกและทดลองใช้งาน เพื่อหาข้อบกพร่องและให้คำแนะนำแก่ DTI ในการดำเนินการพัฒนาระบบจรวดแบบนี้ในรุ่นต่อ ๆ ไป
ที่มา:ThaiArmedForce.com