เทคนิคทำให้หายโกรธ
จากเทคนิควิธีกำราบความโกรธส่วนตัวของหลวงพ่อบุดดา ถาวโร
คัดลอกจาก
http://www.tummaprateip.iirt.net/07_2_Duddha.htmความโกรธ คืออารมณ์เดือดพล่านที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในยามที่เราต้องเกี่ยวข้องผู้อื่น อ่านเทคนิควิธีทำให้หายโกรธแบบง่าย ๆท่านสามารถนำเทคนิคเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตครอบครัวและการทำงาน
วิธีที่ ๑.
ยามใดเมื่อเราโกรธ เราต้องรู้ตัวของเราเองว่า เรากำลังได้รับพิษร้ายเข้าไปแล้ว ควรสร้างความรู้สึก"สะดุ้งกลัว"ขึ้นมาทันที และ พยายามระงับความโกรธนั้นไว้ ไม่ให้พิษโกรธกำเริบแสดงเป็นกริยาอาการอะไรออกมาอย่างเด็ดขาด ด้วยการพิจารณาโทษของความโกรธให้มากที่สุด
ตัวอย่างวิธีคิด
"หากเราโง่เขลาคิดตอบโต้ผู้อื่นด้วยความโกรธเมื่อใด พิษร้ายของความโกรธก็จะเพิ่มขึ้นและหมักหมมอยู่ในใจมากขึ้นทุกที มันจะคอยออกมาเผาลนจิตใจของเราไปชั่วกาลนาน เสมือนหนึ่งเราได้สร้างนรกให้เกิดขึ้นในใจของตัวเอง " (เป็นการนำคุณธรรมข้อ "โอตตัปปะ"หรือ "ความสะดุ้งกลัว" มาอธิบาย ให้ตัวเองเห็นถึงผลร้ายของความโกรธ / สุตตันต.เล่ม ๑๓ ข้อ ๑๑ หน้า ๑๔ )
วิธีที่ ๒.
มองเห็นผลดีของการระงับความโกรธด้วยเมตตา ว่าทำให้เรานอนหลับฝันดี มีเพื่อนเยอะแยะ ใครเห็นใครก็รักไคร่ มีสุขภาพจิตดี มีความสุขตลอดเวลา โห..คุ้มค่าจริง ๆ เลย
(ดูอานิสงส์เมตตา ๑๑ ประการ / สุตตันต.เล่ม ๑๖ ข้อ ๒๒๒ หน้า ๓๖๑ )
วิธีที่ ๓.
เมื่อรู้สึกโกรธ หรือ เคืองใจใครก็ตาม ให้ตั้งสติระลึกนึกถึงความดีของคน ๆ นั้นไว้ในใจ เช่นเขาเคยทำดีอะไรให้แก่เราบ้างไหม หรือ เขามีส่วนดีอื่นๆ ที่น่าประทับใจอะไรบ้าง นึกอย่างนี้มาแทนความคิดไม่ชอบใจ ความโกรธก็จะหายไปเอง
ตัวอย่าง
"นายมีโกรธนายแดงที่พูดจาดูถูกตน แต่พอนายมีนึกถึงเมื่อครั้งนายแดงเคยช่วยมา ทาสีบ้านให้ทั้งวันเมื่อปีที่แล้ว นายมีก็หายโกรธนายแดง"
"คุณเจ ไม่ชอบหน้าคุณจอนเลย เพราะคุณจอนชอบพูดจากวนประสาท แต่คุณเจก็ พยายามคิดว่าคุณจอนถึงแกจะชอบพูดกวนประสาท แต่แกก็ยังดีที่ไม่กินเหล้าสูบบุหรี่ คิดได้ดังนี้คุณเจ ก็เกิดความรู้สึกที่ดีต่อคุณจอนขึ้นมาบ้าง "
(ดู วิธีระงับความอาฆาต ด้วยการมองเห็นความดีของเขา /สุตตันต.เล่ม๑๔ ข้อ ๑๖๑-๑๖๒ )
วิธีที่ ๔.
เมื่อโกรธคนใกล้ตัว เช่น แฟน , พี่น้อง , เพื่อนร่วมงาน หรือ โกรธคนไกลตัวเช่น นักการเมือง ฯลฯ ให้ลองนึกมโนภาพหน้าตาของเขาให้เป็นเด็กเล็ก ๆ อายุสัก 1-2 ขวบ โดยให้คิดเหมือนกับ ว่าเขาเป็นลูกของเรา สร้างความรู้สึกเอ็นดูเมตตาเหมือนพ่อแม่รักลูก ความโกรธจะหายไปเป็น ปลิดทิ้ง วิธีนี้แม้ดูง่าย ๆ และ น่าขำ แต่ก็สามารถทำให้หายโกรธได้ผลเป็นอย่างดีเลยทีเดียว
( ดูคำสอนเรื่องให้รักผู้อื่นเหมือนมารดารักบุตร /สุตตันต เล่ม๑๗ ข้อ ๑๐ หน้า ๑๑ )
วิธีที่ ๕.
คิดตั้งหลายวิธีแล้วก็ยังไม่หายโกรธ มาลองใช้วิธี "ไม่คิด" ดูก็ได้ ด้วยการ หายใจเข้าปอดลึก ๆ ยาว ๆ ทำลมหายใจให้ละเอียด (นึกจินตนาการว่าลมหายใจ ของเราเป็นอะไรบางอย่างที่ละเอียด อ่อน บางเบา ในขณะที่หายใจ ) หายใจเข้า ออกติดต่อกันสัก ๑๐ ครั้ง ความโกรธก็จะสลายหมดไป กลายเป็นความสบายใจมาแทนที่
(ดูอานิสงส์อานาปาสติ ทำให้เกิดปีติ สุข จิตใจสงบระงับ ร่าเริง / สุตตันต.เล่ม ๖ ข้อ ๒๘๘ ข้อ ๑๗๐)
วิธีที่ ๖.
วิธีนี้ง่ายที่สุด เหมาะสำหรับเพื่อนสนิท หรือ คู่รัก ในยามที่เกิดความไม่เข้าใจกัน หรือ ทะเลาะกันจนต่างฝ่ายต่างโกรธ นั่นคือ "การให้ของขวัญ" เป็นวิธีแก้ไข ปัญหาความโกรธที่ได้ผลดีอีกวิธีหนึ่ง วิธีนี้เป็นการแสดงออกที่ทำให้หายโกรธ ทั้งผู้ให้และผู้รับ
(ดูสังคหวัตถุ ๔ คือ การให้ พูดจาไพเราะ ช่วยเหลือเจือจาน ร่วมทุกข์ร่วมสุข สมานไมตรีไว้ตลอดกาล/ สุตตันต.เล่ม๓ ข้อ๒๖๗ หน้า๒๒๐)
วิธีที่ ๗.
ให้มองว่าทั้งตัวเราและคนที่เราคนโกรธ ต่าง เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น คือ ไม่มีใครสามารถรอดจากความทุกข์ แก่ เจ็บ ตายได้สักคน ให้คิดจินตนาการ มองเห็นคนที่เรากำลังโกรธอยู่ เห็นภาพในอนาคตสมมุติว่าเขากำลังป่วยหนัก ใกล้ตาย เขาจะต้องพบกับความทุกข์ทรมานแค่ไหน จากนั้นให้หวนคิดถึงตัวเราเองว่า เราเองสักวันหนึ่งก็ต้องพบกับความทุกขทรมานและความตายเหมือนเขาเช่นเดียวกัน พวกเราล้วนตกอยู่ภายใต้ชะตากรรมเดียวกันด้วยกันทั้งนั้น แล้วจะมามัวโกรธกันอยู่ทำไมกัน
(ดูบทสวดมนต์แผ่เมตตา) ข้อ ๒๘๘ ข้อ ๑๗๐)
วิธีที่ ๘.ใช้วิธีกราบพระเพื่อระงับความโกรธ
การกราบพระทำให้จิตใจเกิดความอ่อนน้อม หมดความมานะถือตัว สภาพจิตใจเช่นนี้ ความโกรธเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้นหากท่านใช้วิธีระงับโกรธหลายวิธีแล้วยังไม่ได้ผล ขอแนะนำให้ใช้วิธีกราบพระ ท่านว่าได้ผลชงัดนัก วิธีง่าย ๆ เมื่อใดที่โกรธ ให้ก้มลงกราบพระทันที และในขณะที่ท่านกราบพระ ให้นึกถึงใบหน้าของ คนที่ท่านโกรธ ท่านจะพบด้วยตนเองว่าตราบใดที่ท่านยัง กราบพระอยู่ ความโกรธจะไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้เลย
( จากเทคนิควิธีกำราบความโกรธส่วนตัวของหลวงพ่อบุดดา ถาวโร )
มีคำสอนของหลวงปู่บุดดาอีกมากที่
http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_budda/lp-budda-index.htm