"อิวิคต้า” มดคันไฟ พิษร้ายกัดถึงตาย" คณะวนศาสตร์ มก. เผยข้อมูลล่าสุดของมดคันไฟตัวใหม่ “อิวิคต้า” ที่กำลังแพร่พันธุ์เข้าสู่เอเชีย มีพิษร้ายทำให้หมดสติและถึงขั้นเสียชีวิตได้
รศ.ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า มดคันไฟตัวใหม่ หรือ มดคันไฟอิวิคต้า (Solenopsis invicta) มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ต่อมาได้แพร่กระจายไปเกือบทั่วโลก และเริ่มขยายพันธุ์เข้ามาในเอเชียเมื่อ 2-3 ปีนี้ พบได้ในไต้หวันและฮ่องกง และคาดว่าจะเข้ามาสู่ประเทศไทยในไม่ช้านี้ มดคันไฟอิวิคต้า สามารถปรับตัวและขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว จนประเทศที่มีการระบาดของมดคันไฟอิวิคต้า ต้องมีการจัดตั้งศูนย์เตือนภัยขึ้นมาเพื่อยับยั้งการขยายพันธุ์ บรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่โดนต่อย และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการกัดกินพืชผักต่างๆ
“มดคันไฟอิวิคต้าชอบสร้างถิ่นอาศัยบริเวณที่มีน้ำไหลเวียน มีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 550 มิลลิเมตร / ปี อาทิ พื้นที่การเกษตร สวนป่า ทุ่งหญ้า ฝั่งแม่น้ำลำคลอง ชายฝั่งทะเล ทะเลทราย และสนามกอล์ฟ มักสร้างถิ่นอาศัยแบบเป็นรังหรือเป็นจอมโดยใช้มูลดิน ซึ่งจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 1 เมตร ความสูงประมาณ 4 – 24 นิ้ว ส่วนมดคันไฟที่มีอยู่ในไทยจะสร้างรังเรียบๆ กับพื้น ไม่มีจอม และมีจำนวนประชากรมากถึง 500,000 ตัวต่อรัง ขณะที่มดคันไฟธรรมดาจะมีเพียง 10,000 ตัวต่อรัง”
รศ.ดร.เดชา กล่าวต่อว่า สำหรับรูปร่างหน้าตาภายนอกของมดคันไฟอิวิคต้านี้ แทบจะไม่มีความแตกต่างจากมดคันไฟที่พบเห็นในไทย แต่จะมีผิวลำตัวเรียบและสดใสกว่า และถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่ามีฟันตรงกลางริมฝีปากบน ซึ่งส่วนใหญ่จะมองด้วยตาเปล่าไม่ค่อยเห็นต้องอาศัยแว่นขยายช่วย
เมื่อถามถึงผลกระทบต่อมนุษย์นั้น พบว่า เหล็กในจากมดชนิดนี้ มีพิษสะสมทำให้เกิดอาการไหม้และคันอย่างรุนแรง พิษจะออกฤทธิ์อยู่นานเป็นชั่วโมงและเป็นเม็ดตุ่มพองซึ่งกลายเป็นหนองสีขาว เมื่อตุ่มหนองนี้แตกก็สามารถมีแบคทีเรียเข้าไปและเป็นแผลเป็น
“ คนที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรงจะก่อให้เกิดอาการหมดสติและเสียชีวิตได้ มดชนิดนี้มีความก้าวร้าวสูงมาก เมื่อมันต่อยจะฉีดสารพิษกลุ่ม alkaloid ทำให้เนื้อเยื่อตาย มีรายงานว่าทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา มีประชาชนประมาณ 25,000 คน ที่ต้องหาหมอเพื่อรักษาจากการโดนต่อยของมดชนิดนี้ และด้วยวิธีการโจมตีเหยื่อแบบรุมต่อยเป็นร้อย ๆ ตัว ทำให้เหยื่อที่มีขนาดไม่ใหญ่มากได้รับบาดเจ็บถึงขั้นวิกฤติได้เลย”
เมื่อถามถึงผลกระทบต่อภาคการเกษตร รศ.ดร.เดชา ระบุว่า ในสหรัฐอเมริกามดชนิดนี้ สร้างความเสียหายทางการเกษตรได้ในวงกว้าง ด้วยการเข้าไปทำลายระบบรากของพืช เช่น ถั่วเหลือง พืชตระกูลส้ม ข้าวโพด กะหล่ำ มันฝรั่ง ถั่วลิสง ทานตะวัน ข้าวฟ่าง มะเขือ ถั่วเขียว เป็นต้น และทำความเสียหายในเครื่องมือการเกษตร สัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า พื้นที่สาธารณะ อุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ รถยนต์ ปัจจุบันมดชนิดนี้สร้างความเสียหายมากกว่า 320 ล้านเอเค่อร์ใน 12 รัฐทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกาและเปอร์โตริโก้
อย่างไรก็ตาม ในอเมริกามดคันไฟชนิดนี้ เป็นตัวห้ำหั่นที่ดีเยี่ยมในธรรมชาติ และเป็นการควบคุมทางชีววิธี สำหรับศัตรูพืชหลายชนิด เช่น หนอนเจาะต้นอ้อย มวนที่เป็นศัตรูข้าว แมลงหางหนีบ เพลี้ยอ่อน ด้วงงวง หนอนคืบถั่วเหลือง หนอนกินใบฝ้าย ต่อสน แต่มดชนิดนี้ก็ยังเป็นตัวทำลายแมลงพวกผสมเกสร เช่น ผึ้งที่สร้างรังใต้ดิน และยังกินเมล็ด ใบ ราก เปลือก น้ำหวาน น้ำเลี้ยง เชื้อรา และมูลต่าง ๆ เป็นอาหารด้วย ซึ่งจะสร้างมูลค่าความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการเกษตรนับพันล้านบาทต่อปี
รศ.ดร.เดชา กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีแนวโน้มสูงที่มดคันไฟชนิดนี้จะเข้ามาในไทยด้วยการติดมากับเรือสินค้า หรือการขนส่งอื่นๆ ดังนั้นหากพบให้รีบทำลาย หรือส่งตัวอย่างมาให้นักวิชาการตรวจสอบ ก่อนที่จะแพร่พันธุ์ โดยสามารถส่งตัวอย่างมดที่สงสัยได้ที่ พิพิธภัณฑ์มด ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทรศัพท์ 0-2579-0176 ต่อ 510
ที่มา สยามรัฐออนไลน์