ยกตัวอย่างตอนที่เรามีปัญหากับพม่าhttp://www.the-thainews.com/weekly/2545/weekly0244.htmสถานการณ์ภายในประเทศ ช่วง 10 - 16 ก.พ.44
สถานการณ์ด้านความมั่นคง
15. เมื่อ 110440 ก.พ. 44 เกิดเหตุปะทะระหว่าง จนท.ทพ.กกล.ผาเมืองกับ ทพม.ร่วมกับกลุ่มว้าแดง 2 จุด ที่บริเวณสำนักสงฆ์กู่เต็งนาโย่ง ตรงข้าม บ.ห้วยน้ำริน ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย และที่บริเวณตรงข้าม บ.ปางหนุนเก่า – บ.พญาไพร ต.เทอดไท อ.แม่ฟ้าหลวง สาเหตุจาก ทพม.ได้นำกำลังเข้าปราบปราม กกล.ไทยใหญ่ และได้รุกล้ำเข้ามาในเขตไทย ผลการปะทะที่ สำนักสงฆ์กู่เต็งนาโย่ง ทำให้ทหารไทยบาดเจ็บ 8 นาย ราษฏรไทยเสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 3 คน และมีกระสุนปืน ค.เข้ามาตกด้านหลัง สภ.อ.แม่สาย 3 นัด ฝ่ายพม่าเสียชีวิต 20 คน และบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง สำหรับการสู้รบตรงข้าม บ.ปางหนุน อ.แม่ฟ้าหลวง ที่บริเวณฐานเก่าของ กกล.ทหารไทย ถูก ทพม.นำกำลังเข้ายึดเพื่อใช้เป็นฐานเข้าโจมตี กกล.ไทยใหญ่ และควบคุม ทพ.ไทย 19 คน ตั้งแต่ 8 ก.พ. 44 ผลการปะทะ ทหารไทยสามารถยึดฐานคืนได้ และ ทพม.ยอมปล่อยตัว ทพ.ทั้งหมด ส่วน ทพม.ได้รับบาดเจ็บ 20 คน
16. หลังการสู้รบยุติ พล.จ.ตานอ่อง ผบ.ยุทธวิธี ม.พยาก ของพม่า ติดต่อคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย – พม่า (ฝ่ายไทย) ขอเปิดเจรจายุติการสู้รบที่ จ.ท่าขี้เหล็ก และตกลงลงนามในหนังสือยุติการสู้รบระหว่างกัน หลังจากนั้นทั้งฝ่ายไทยและพม่าได้ประกาศเปิดด่านชายแดน แต่เปิดทำการได้เพียง 1 ชม. ทภ.3ได้ปิดด่านแม่สายอีกครั้งเมื่อ 120730 ก.พ. 44 และไม่มีกำหนดเปิด พร้อมนำ ทหารจาก กกล.ผาเมืองเข้าประจำจุดต่าง ๆ เนื่องจากสถานการณ์ด้าน อ.แม่สาย ยังไม่น่าไว้ใจ ทพม.ยังคงเสริมกำลังและขนย้ายอาวุธเข้าตรึงชายแดนเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อตกลงร่วมกัน
17. รัฐบาลพม่าออกแถลงการณ์กล่าวหากองทัพไทยให้การสนับสนุน กกล.กลุ่มรัฐฉาน ซึ่งเป็นผู้ผลิต และลักลอบค้ายาเสพติดชายแดนไทย-พม่า ขัดขวางการปราบปรามยาเสพติดตามชายแดน พร้อมกับอ้างว่าการโจมตีที่ อ.แม่สาย เป็นการกระทำของกองทัพรัฐฉาน เพื่อทำลายความสัมพันธ์ประเทศทั้งสอง ขณะเดียวกัน พล.ท.วัฒนะชัย ฉายเหมือนวงศ์ แม่ทัพภาค 3 แถลงตอบโต้โดยกล่าวหาทหารพม่าที่ตั้งฐานอยู่ตามบริเวณชายแดนไทยกอบโกยผลประโยชน์จากการค้ายาเสพติดของกลุ่มว้าแดง รับสินบนจากผู้ประกอบการค้าตามแนวชายแดน และยังสนับสนุนกลุ่มว้าแดง ตั้งโรงงานผลิตยาเสพติดตรงข้าม จ.เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ทหารพม่าเข้าไปมีส่วนในธุรกิจการค้ายาเสพติด โรงงานผลิตยาเสพติดที่กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่พม่าเป็นสิ่งชี้ชัดเป็นอย่างดี และว่าจำนวนยาเสพติดที่ทางการไทยยึดได้ เทียบในอัตราเพียงร้อยละ 10 ของจำนวนที่ผลิตเท่านั้น
18. อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ล่าสุดมีการประชุมของคณะผู้แทนทางทหารพม่า-ไทย เพื่อยุติปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน คาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงในที่สุด เนื่องจากหลายฝ่ายมองว่าการปิดจุดผ่านแดนส่งผลกระทบต่อพม่าเป็นอันมาก เริ่มมีการขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค และน้ำมันเชื้อเพลิงในพื้นที่จังหวัดท่าขี้เหล็กของพม่า ทำให้พม่าต้องเร่งเจรจากับไทยโดยเร็ว
...
http://www.ryt9.com/news/2001-02-13/26460284/กระทรวงการต่างประเทศเชิญเอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทยเข้าพบเพื่อยื่นบันทึกช่วยจำ
กรุงเทพฯ--13 ก.พ.--กระทรวงการต่างประเทศ
วันนี้ (12 กุมภาพันธ์ 2544) เวลา 16.00 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตรรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เชิญ อู ลา หม่อง เอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทยเข้าพบเพื่อยื่นบันทึกช่วยจำ สรุปได้ดังนี้
1. เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 เวลา 17.00 น. ทหารพม่าจำนวน 500 คน ได้รุกล้ำเข้ามาในเขตไทยที่บริเวณบ้านปางหนุน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย และได้เข้าควบคุมฐานปฏิบัติการกองร้อยทหารพรานที่ 963
2. เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2544 ฝ่ายไทยได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างสันติ โดยผ่านผู้ช่วยทูตทหารไทยที่กรุงย่างกุ้ง และผู้ช่วยทูตทหารพม่าที่กรุงเทพฯ และได้มีการประชุมคณะกรรมการชายแดนไทย-พม่าส่วนท้องถิ่น หรือ TBC ที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ซึ่งผลการประชุมได้ข้อยุติว่า ทหารพม่าจะถอนกำลังออกจากฐานปฏิบัติการกองร้อยทหารพรานที่ 963 ภายในเวลา 17.00 น. ของวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2544 อย่างไรก็ตาม ทหารพม่ามิได้ปฏิบัติตามข้อตกลง
3. เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2544 เวลา 05.45 น. ฝ่ายไทยจึงได้ส่งกำลังเข้ายึดฐานปฏิบัติการกองร้อยทหารพรานที่ 963 และสามารถผลักดันกองกำลังทหารพม่าออกจากพื้นที่ประเทศไทย รวมทั้งบริเวณสำนักสงฆ์กูเต็งนาโยง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งทหารพม่าได้เข้ามายึดครองตั้งแต่ธันวาคม 2543
4. เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2544 ระหว่าง 12.00-14.00 น. ทหารพม่าได้ยิงกระสุนปืนใหญ่ และเครื่องยิงลูกระเบิดเข้ามาตกในดินแดนไทยในหลายพื้นที่ของอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย คือ วัดถ้ำผาจม วัดเวียงพาน บ้านป่าเหมือด หลังโรงพยาบาลแม่สาย และหลังวัดพระธาตุดอยวาว เป็นผลให้ราษฎรไทยเสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 8 คน และทหารไทยได้รับบาดเจ็บอีก 9 คน อีกทั้งบ้านเรือนหลายหลังและรถยนต์อีก 1 คัน ได้รับความเสียหาย
ในการนี้ รัฐบาลไทยถือว่า การกระทำดังกล่าวของทหารพม่าเป็นการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลและประชาชนชาวไทยไม่อาจยอมรับได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสัมพันธ์ไทย-พม่า และรัฐบาลไทยขอเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าดำเนินการดังต่อไปนี้
- ยุติการดำเนินการที่เป็นการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย และยับยั้งการกระทำใดๆ ที่เป็นการยั่วยุในอนาคต
- ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ราษฎรไทยที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ตลอดจน ค่าเสียหายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของราษฎรไทย
- เรียกร้องให้มีการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคไทย-พม่า (Regional Border Committee : RBC) ครั้งที่ 18 โดยเร็ว เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาชายแดนให้ลุล่วงไปด้วยดี
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ