วันนี้ขอเพิ่มหลักฐานการเสียดินแดนครับ
ใครจะอ่านหรือไม่ ผมขอเผยแพร่ข่าวนี้ก่อนละกัน ในฐานะพลเมืองไทยที่ดี
----------------------------
หมุดปริศนา.."ไทยถอยร่นหลังสันปันน้ำ"
คม ชัด ลึก
13 ก.ค. 2553
คมชัดลึก : ถึงแม้จะมีเอกสารชี้แจงจากกระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับหมุดปริศนาที่เข้ามาโผล่อยู่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา 73 หมุด รุกล้ำเข้ามาในเขตไทย 12.5 กิโลเมตร โดยกระทรวงการต่างประเทศปฏิเสธว่า หมุดนี้ไม่ใช่หมุดที่แบ่งอาณาเขตไทยกับกัมพูชา แต่เป็นหมุดขยายโครงข่ายจีพีเอส (GPS) ซึ่งหมุดดังกล่าวจะฝังไว้ทั้งฝั่งไทยและกัมพูชา ทว่าก็ยังเป็นข้อกังขาของชาวบ้านว่า เหตุใดเจ้าหน้าที่ภาครัฐจึงไม่สามารถให้คำตอบที่กระจ่างชัดแก่พวกเขา ?!!
"คม ชัด ลึก" ลงพื้นที่พิสูจน์ข้อเท็จจริงใน 4 จังหวัดชายแดน ได้แก่ อุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ เกี่ยวกับหมุดปริศนา โดยมุ่งหน้าไปที่บ้านภูมิชลอน จ.ศรีสะเกษ ที่ตั้งปราสาทเขาพระวิหาร มี กำลังทหารกองทัพภาคที่ 2 ตั้งด่านสกัดทางขึ้นปราสาทบริเวณผามออีแดงอย่างเคร่งครัด จากการตรวจสอบกับทหารและชาวบ้านภูมิชลอนได้รับคำตอบว่า ขณะนี้บริเวณปราสาทเขาพระวิหารและบริเวณรอบๆ รวมถึงบันไดทางขึ้น คนไทยไม่สามารถเข้าไปในบริเวณนี้ได้อีกต่อไป
ปัจจุบันมีกำลังทหารและชาวกัมพูชาเข้ามายึดครองพื้นที่ดังกล่าว และระหว่างวันที่ 7-25 กรกฎาคมนี้ จะมีการฉลองชัยชนะที่ยูเนสโกตัดสินเรื่องการครอบครองปราสาทเขาพระวิหารให้ เป็นของกัมพูชาด้วย !?!
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ไม่ได้มีแค่ชาวบ้านภูมิชลอนถูกผลักดันไม่ให้เข้าไปทำกินในพื้นที่รอบๆ ปราสาทเขาพระวิหารเท่านั้น แต่พื้นที่กว่า 750 กิโลเมตรตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา คนไทยชายขอบถูกผลักดันออกจากแนวสันปันน้ำ ซึ่งเป็นแนวชายแดนเดิมแทบทั้งหมด
"สิงห์สุวรรณภร สาครไพรสนณ์" เลขาธิการเครือข่ายทวงคืนแผ่นดินแม่ เล่าว่า ราวเดือนสิงหาคม 2552 มีชาวบ้านพบหมุดปริศนาบริเวณสันเขื่อนห้วยเมฆา บ้านสายตรี 4 ใต้ หมู่ 7 ต.บึงเจริญ อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ห่างจากแนวเขตเดิม 12.5 กิโลเมตร ชาวบ้านรู้สึกแปลกใจอย่างมาก เพราะหมุดดังกล่าวระบุว่าเป็นแนวเขตแบ่งดินแดนไทยและกัมพูชา ชาวบ้านพยายามตรวจสอบว่ามีหมุดลักษณะนี้ที่ไหนอีกหรือไม่ก็พบหมุดลักษณะดัง กล่าวอีกหลายจุด เครือข่ายทวงคืนแผ่นดินแม่พยายามตรวจสอบว่าหมุดเหล่านี้มีที่มาที่ไปอย่างไร โดยตรวจสอบกับชาวบ้านประมาณปี 2550 มีเจ้าหน้าที่กรมแผนที่ทหารเป็นผู้เอาหมุดดังกล่าวมาฝังไว้ ชาวบ้านสอบถามก็ได้รับคำตอบว่า เป็นภารกิจลับของทางการทหารจึงไม่ได้สนใจอะไร
ต่อมามีความผิดปกติเกิดขึ้น โดยปี 2552 เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเริ่มผลักดันชาวบ้านไม่ให้เข้าไปหลังแนวหมุด พร้อมกับเพิ่มเจ้าหน้าที่ในส่วนอื่นๆ ลงไปในพื้นที่ เช่น เจ้าหน้าที่ป่าไม้ กรมการปกครอง โดยเคร่งครัดกับคำสั่งข้างต้นมาก มีการจับกุมชาวบ้านที่เข้าไปทำมาหากินในพื้นที่ต้องห้าม ตรงกันข้ามกับชาวกัมพูชาที่เริ่มขยับเข้ามาปักหลักทำกินติดแนวชายแดนมากขึ้น สิงห์สุวรรณภรบอกว่า ถ้าจะพูดให้ถูกก็คือมีการล่วงล้ำเข้ามาในเขตไทยตลอดแนวชายแดน 7 จังหวัด ตั้งแต่อุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี และตราด
"เครือข่ายทวงคืนแผ่นดินแม่พยายามตรวจสอบความผิดปกติที่เกิดขึ้นก็ทราบ ว่า หมุดทั้งหมดที่โผล่มามีความเกี่ยวพันกับข้อสัญญาเอ็มโอยู (MOU) ปี 2543 ทั้งไทยกับกัมพูชามีข้อสัญญาใช้ชายแดนร่วมกัน แต่ทั้งสองประเทศถือแผนที่กันคนละฉบับ ถ้าใช้แผนที่ของกัมพูชาในสัญญา พื้นที่หลังแนวสันปันน้ำของไทยจะตกเป็นของกัมพูชา ดังนั้น เพื่อความสบายใจรัฐบาลจะต้องออกมายืนยันว่า หมุดเหล่านี้เป็นอะไรกันแน่ และจะมีผลสืบเนื่องอย่างไรหลังจากนี้ไป" สิงห์สุวรรณภรกล่าว
เลขาธิการเครือข่ายทวงคืนแผ่นดินแม่บอกว่า ข้อกังขาของชาวบ้านตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ยังไมได้รับคำตอบที่ชัดเจน และรัฐไม่สามารถให้ความกระจ่างได้ในสิ่งที่ประชาชนสงสัย จะมีก็แต่เพียงหลังการเข้าไปสอบถามแต่ละครั้งทางทหารก็จะเข้ามาเปลี่ยนชื่อ หมุด เช่น หมุดที่ห้วยเมฆาครั้งแรกที่เจอระบุว่า เป็นเขตแดนไทย-กัมพูชา พอมีการทวงถามก็เปลี่ยนเป็นหมุดขยายโครงข่าย เมื่อเข้าไปถามซ้ำอีกว่าเป็นโครงข่ายอะไรก็ไม่ได้รับคำตอบ แถมยังมีการลบชื่อหมุดออก ไม่นานหมุดก็ถูกกลบด้วยยางมะตอยแทน
"บุญมี ศีลศิริ" ชาวบ้านภูมิชลอนวัย 45 ปี ที่หาเลี้ยงชีพด้วยการหาของป่าขายมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตาทวด ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ตั้งแต่มีการปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปในพื้นที่ทับซ้อน เขาและนายพรานคนอื่นๆ ไม่สามารถเข้าไปหาของป่าได้เหมือนอย่างเคย
บุญมีบอกว่า คนชายแดนอย่างเขาไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง และที่ดินที่ใช้ทำกินก็ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้ จึงต้องอาศัยอยู่ตามป่าเขาตลอดแนวชายแดน หาเลี้ยงชีพด้วยการหาของป่าเล็กๆ น้อยๆ มาขาย แต่วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป เขากับเพื่อนร่วมอาชีพไม่สามารถเข้าไปในป่าได้อีกต่อไป เจ้าหน้าที่ทหาร ป่าไม้ รวมถึงเจ้าหน้าที่ส่วนอื่นๆ สกัดกั้นไว้ทั้งหมด ที่ผ่านมามีชาวบ้านหลายคนฝ่าฝืนถูกจับดำเนินคดี เพราะไม่รู้จะทำมาหากินอะไร จึงเข้าไปในพื้นที่ทับซ้อน บางคนหนักถึงขั้นถูกจับในพื้นที่ของตัวเองด้วยซ้ำไป
"ใครทนอยู่ได้ก็อยู่ต่อไป ส่วนที่ทนไม่ไหวก็ออกนอกพื้นที่ไปหางานต่างถิ่นทำ" บุญมีกล่าวปลงๆ ถึงชีวิตที่เปลี่ยนไป
หนึ่งในคนที่ผันตัวเองจากแม่ค้าขายของริมบันไดทางขึ้นปราสาทเขาพระวิหาร มาเป็นพนักงานบัญชีในตัวเมืองศรีสะเกษ คือ "สินิตรา" ชาวบ้านภูมิชลอนโดยกำเนิด ก่อนหน้านี้เธอกับครอบครัวค้าขายอยู่เชิงปราสาทเขาพระวิหาร แต่พอเกิดเรื่องพิพาทขึ้น เธอและแม่ค้าคนไทยถูกผลักดันออกจากพื้นที่ จึงต้องออกมาหางานทำเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชนแทน
"ตอนนี้พวกเราเดือดร้อนมาก คนไม่มีความรู้ก็ออกมาเป็นกรรมกรรับจ้างแบกหามรายวัน ไม่สามารถเข้าไปทำมาหากินได้ตามปกติ" สินิตรากล่าวทิ้งท้าย
ที่มา
http://www.komchadluek.net/detail/20100713/66354/%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%99%E0%B8%B2..%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%96%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3.html----------------------------
วันนี้มี คม ชัด ลึก อีกฉบับนะครับที่กล้าเล่นเรื่องนี้ เดี๋ยวจะหาว่าข่าวแหล่งเดียว และคงไม่ต้องถามหาข่าวแบบนี้จาก ไทยรัฐ ข่าวสด มติชน เดลินิวส์ นะครับ