ควอนทินิวอัม เปิดตัว "เอช 2" คอมพิวเตอร์ควอนตัมประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่เคยมีมา ก้าวสำคัญสู่การประมวลผลควอนตัมที่ทนต่อความผิดพลาด
การสร้างและการดัดแปลงอนุภาคอันยอน (anyon) ประเภทนอนอาบีเลียน (non-Abelian) ซึ่งนำไปสู่คิวบิตเชิงโทโพโลยี ถือเป็นก้าวสำคัญของการประมวลผลควอนตัมที่ทนต่อความผิดพลาดทั้งหมด
ควอนทินิวอัม (Quantinuum) มีความภูมิใจและตื่นเต้นที่จะประกาศก้าวสำคัญของการประมวลผลควอนตัมที่ทนต่อความผิดพลาด (Fault Tolerance) โดยความสำเร็จนี้เกิดขึ้นจากการเปิดตัวคอมพิวเตอร์ควอนตัมรุ่นเอช 2 (System Model H2) ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ควอนตัมประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่เคยมีมา
การเปิดตัวอย่างเป็นทางการของโปรเซสเซอร์ควอนตัมเอช 2 ของควอนทินิวอัม ซึ่งได้รับขุมพลังจากฮันนี่เวลล์ (Honeywell) เป็นผลพวงของการทำงานร่วมกับพันธมิตรระดับโลกหลายราย และมีความสำคัญต่อการสร้างและดัดแปลงอนุภาคอันยอนประเภทนอนอาบีเลียน โดยการควบคุมอนุภาคอันยอนประเภทนอนอาบีเลียนที่แม่นยำถือเป็นแนวทางในการใช้คิวบิตเชิงโทโพโลยีสำหรับคอมพิวเตอร์ควอนตัมที่ทนต่อความผิดพลาดมาอย่างยาวนาน
คุณโทนี อัตต์ลีย์ (Tony Uttley) ประธานบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของควอนทินิวอัม กล่าวว่า "ด้วยระบบรุ่นที่สองของเรา เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของคอมพิวเตอร์ควอนตัม โดยคอมพิวเตอร์ควอนตัมรุ่นเอช 2 แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการบรรลุผลลัพธ์ที่มีค่าซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยคอมพิวเตอร์ควอนตัมเท่านั้น นอกจากนี้ การพัฒนาโปรเซสเซอร์เอช 2 ยังเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาคอมพิวเตอร์ควอนตัมที่ทนต่อความผิดพลาดทั้งหมดอีกด้วย"
คุณโทนีกล่าวเสริมว่า "สิ่งนี้เป็นข้อพิสูจน์ที่สวยงามถึงขุมพลังของฮาร์ดแวร์ซีรีส์เอช (H-Series) ของเรา รวมถึงตอกย้ำจุดมุ่งหมายหลักของเราในการช่วยให้ลูกค้าสามารถจัดการกับปัญหาที่คอมพิวเตอร์ทั่วไปไม่สามารถแก้ไขได้ นวัตกรรมนี้จะกลายเป็นส่วนสำคัญของสังคม และเรารู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เห็นว่าเทคโนโลยีนี้สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างไร"
หนึ่งในการทดลองแรกที่ดำเนินการกับคอมพิวเตอร์ควอนตัมรุ่นเอช 2 โดยคณะนักวิทยาศาสตร์จากควอนทินิวอัม ร่วมกับคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) และสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (Caltech) แสดงให้เห็นถึงสถานะใหม่ของสสาร ซึ่งเป็นสถานะที่มีการจัดเรียงเชิงโทโพโลยีแบบนอนอาบีเลียน การค้นคว้าวิจัยในด้านนี้ดำเนินมาอย่างเงียบ ๆ ต่อเนื่องนานหลายปีแล้วโดยทีมงานของควอนทินิวอัม ซึ่งมีทีมงานหลักอยู่ในเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ภายใต้การนำของดร. เฮนริก เดรเยอร์ (Henrik Dreyer)
คุณสมบัติที่แตกต่างและการควบคุมที่แม่นยำของโปรเซสเซอร์เอช 2 ส่งผลให้สถานะโทโพโลยี (คิวบิตที่มีความจุเกตจำกัด) ถูกสร้างขึ้นในลักษณะที่สามารถควบคุมคุณสมบัติได้อย่างแม่นยำแบบเรียลไทม์ ซึ่งนำไปสู่การสร้าง การถักทอ และการกำจัดอนุภาคอันยอนแบบนอนอาบีเลียน
ผลการทดลองดังกล่าวซึ่งได้รับการเผยแพร่ในรูปแบบบทความทางวิทยาศาสตร์ก่อนตีพิมพ์ฉบับเต็มบนแพลตฟอร์มอาร์ไคฟ์ (arXiv) ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับงานของควอนทินิวอัม ซึ่งนำไปสู่การค้นคว้าวิจัยในสาขาใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับฟิสิกส์ของสสารควบแน่น ซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากใช้คอมพิวเตอร์ทั่วไปเพียงอย่างเดียว เมื่อรวมกับรหัสแก้ไขข้อผิดพลาดควอนตัม (QEC) อื่น ๆ แล้ว (ดูที่นี่และที่นี่) เราได้แสดงให้เห็นว่า ฮาร์ดแวร์ของควอนทินิวอัมจะสามารถทนต่อความผิดพลาดได้อย่างดีเยี่ยมในอนาคตอันใกล้นี้
อ่านข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับเต็มได้ที่
https://www.thaipr.net/it/3335139