Review : Asus N82JQ Notebook & USB 3.0 Performance
Share | Tweet |
Asus N82JQ
…สวัสดีครับ หลังจากที่ผมได้ทำการปล่อยของ ไปเป็นระลอกเล็กๆในคราวที่แล้ว ซึ่งก็เป็นโน๊ตบุ๊กในระดับเมนสตรีมแทบจะทั้งนั้น หลายท่านที่ตามๆอ่าน หรือเปิดมาผ่านๆก็คงจะเบื่อ ไม่ค่อยมีของแรงๆให้ชมกัน สำหรับวันนี้ ผมก็เลยตัดสินใจ ไม่รู้และจำไม่ได้ว่าลัดคิวหรือไม่ แต่น่าจะถึงเวลาได้แล้วครับ ที่จะเป็นคิวของโน๊ตบุ๊กในรุ่น N82JQ จากแบรนด์ที่พวกเรานักโอเวอร์คล๊อกหลายๆท่านน่าจะรู้จักกันดีอย่าง Asus มาให้ได้ชมกัน ซึ่ง N82 นี้ จริงๆแล้วก็ถือได้ว่าเป็นโน๊ตบุ๊กขนาด 14 นิ้วแบบ Versatile ตลาดๆทั่วไป ที่มีทีเด็ดที่ซีพียู Core i7 และมี USB 3.0 ติดมาให้ในตัวเลย ซึ่งก่อนอื่น เราก็มาดูเสป็คโดยรวมๆกันก่อนดีกว่าครับ …
Processor | Intel Core i7 620M |
Chipset | Intel HM55 |
Memory | 4GB DDR3-1333MHZ |
Graphics Adapter | Intel GMA HD (On chip) + NVIDIA Geforce GT335 |
Display | 14″ (1366×768) |
Harddisk | 500gb 7200rpm SATA-II |
Optical Drive | DVD-RW |
Network | Atheros IEEE802.11 B/G/N |
Connection Port | cardreader SD/MMC, USBx3 (x1 USB3.0), VGA, HDMI, RJ45 |
Battery | 63wh |
Weight | 2.4kg |
OS Bundled | Windows 7 Home Premium |
…สเป็คของ Asus N82 เครื่องนี้บอกได้เลยครับว่า เป็นโนตบุกอรรถประโยชน์ขนาดจอ 14 นิ้ว ที่ผมพร่ำบอกอยู่เรื่อยไปว่า จอขนาดนี้แหละ ขายดี ใครๆก็ใช้ ใช้งานในบ้านในห้องก็สบาย ออกไปใช้ข้างนอกถึงแม้จะใหญ่แต่ก็พอหิ้วได้ ไม่ลำบากเหมือนพวกจอ 15-17 นิ้ว พร้อมกับซีพียูพลังสูงอย่าง Core i7 620M พร้อมกราฟฟิคการ์ด Geforce GT335 ผนวกกับเทคโนโลยี Optimus ที่จะช่วยทำให้เราสามารถสลับเปลี่ยนใช้งานระหว่างตัวกราฟฟิคออนบอร์ด กับตัว NVIDIA ได้อย่างลื่นไหล และที่สำคัญสำหรับวันนี้และวันข้างหน้า ก็คือ พอร์ต USB3.0 ที่มีมาให้ในตัวเลยทีเดียวครับ
บอดี้นั้นก็มี Texture ที่ดูมีลูกเล่นน่าสนใจ สวยงามและไม่น่าเบื่อ ผิวก็ไมได้เป็นผิวมันๆเรียบๆธรรมดา เป็นลายตาม Texture ไปด้วยนั้นแหละครับ
ถึงแม้ว่าตัวเครื่องจะจัดใส่ทั้งซีพียูและกราฟฟิคการ์ดมาเต็มอัตตราศึกเท่าที่เครื่อง 14 นิ้วจะใส่มาได้ แต่ว่าขนาดความหนา ก็ไม่ได้หนาจนเกินไป
เปิดออกมาก็จะพบกับสีด้านในเป็นคนละโทนกับภายนอก วัสดุน่าใช้มากๆครับ บริเวณจุดพักข้อมือ วัสดุจะเป็นคล้ายๆกับหนังสังเคราะห์ หรืออะไรสักอย่าง เมื่อวางมือลงไปแล้วจะรู้สึกหนืดๆ ให้ความรู้สึกเหมือนพวกกระเป๋าหรือเครื่องหนังเลยทีเดียว
คีย์บอร์ดปุ่มยก มีจังหวะในการกดที่ค่อนข้างเร็วตามสไตล์โน๊ตบุ๊กทั่วๆไป ช่วงกดค่อนข้างสั้น มีอาการคลอนบ้างเล็กๆน้อยๆ แต่ถ้าไม่ใส่ใจอะไรก็ใช้งานได้ดีครับ ด้วยความที่ตัวเครื่องมีขนาด 14 นิ้ว ก็ถือได้ว่าเพียงพอทำให้ตัวเครื่องสามารถวางปุ่มคีย์บอร์ดทั้งหมดให้มีระยะห่างที่กำลังดีได้
ทัชแพด ก็มี Texture อีก สวยงามอีกแล้ว ตัวปุ่มกดเป็นปุ่มแท่งเดียว กดยากพอสมควรเหมือนกัน แต่เสียงที่ได้จากการกดก็ดูหนักแน่นดีกว่าเครื่องทั่วๆไป ส่วนทัชแพดก็ให้ความแม่นยำในระดับหนึ่ง ไม่มากนัก ตามสไตล์โน๊ตบุ๊กจากแบรนด์นี้ครับ
แวะมาดูด้านข้างเครื่อง ก็จะพบกับช่องลมระบายความร้อน พอร์ต VGA out , HDMI และ USB3.0 จะเป็นอันที่มีสีฟ้าๆน้ำเงินๆ แบบในรูปนี้ พอร์ตเดียวเท่านั้นนะครับ
ส่วนอีกด้านหนึ่งจะเป็นไดร์ฟ DVD-RW พร้อมกับมีฝาปิดพอร์ตที่เหลือไว้
มาดูใต้ฝา ก็จะพบกับ RJ45 สำหรับสายแลน และ USB 2.0 อีกสองพอร์ต พอร์ตหนึ่งจะสามารถใช้เสียบ e-SATA ได้อีกด้วย
ส่วนด้านหน้าก็จะมีสวิชเปิดปิดระบบไวเรส ที่โน๊ตบุ๊กสมัยนี้ถ้าไม่มีปุ่มนี้ ผมว่าเชยมาก กับสลอต Cardreader สำหรับ MMC/SD/MS
ฝาใต้เครื่องก็เปิดออกมาได้สองจุด คือเมมโมรี กับฮาร์ดไดร์ฟ
แบตเตอร์รี่ ขนาดค่อนข้างจะจุไฟพอสมควรเลยทีเดียวครับ 63Wh ซึ่งโนตบุกปกติทั่วๆไปจะจุไฟอยู่ที่ราวๆ 40-50Wh เท่านั้นครับ
ขึ้นเขียง เอ้ย ตาชั่ง ก็หนัก 2.43 กิโลกรัม
น้ำหนักจริงที่คุณจะต้องแบกมันไปใช้งานที่อื่น ก็จะอยู่ที่ 2.86 กิโลกรัม สำหรับโน๊ตบุ๊ก 14 นิ้วแล้ว ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ครับ
USB 3.0 Flash Drive Check !! By ADATA !
…ก่อนที่จะเข้าไปชมในส่วนของประสิทธิภาพของตัวเครื่องในแบบฉบับที่ผมเคยทำมาเป็นปกติ ที่จะเน้นหนักไปในเรื่องของพลังในการประมวลผล ของซีพียูและกราฟฟิคการ์ด ผมก็ขอนำเสนอในเรื่องของประสิทธิภาพกันแบบคร่าวๆ USB 3.0 กันก่อนก็แล้วกันนะครับ เมื่อเรามีระบบที่เป็น USB 3.0 แล้ว ที่ขาดไม่ได้ก็คืออุปกรณ์ความเร็วสูงที่ใช้บัส USB 3.0 ซึ่งที่ผมได้รับมาพร้อมกับเจ้า N82JV เครื่องนี้ก็คือ ADATA N002 USB 3.0 Flashdrive ครับ เป็นขนาด 128 GB
…ฉลากบนกล่องก็บอกชัดเจนครับว่า รองรับทั้ง USB 3.0 และ SATA II ดังที่ผมได้เคยเขียนถึง USB3.0 ในครั้งที่ได้ไปดูงาน Computex ที่ไต้หวันมาแล้วว่า แฟลชไดร์ฟแบบ USB3.0 ทุกวันนี้ที่มีขายในท้องตลาด โดยโครงสร้างแล้ว มันจะเป็นแฟลชเมมโมรีที่ใช้ชิปควบคุมผ่านบัสแบบ SATA II ทั้งนั้นครับ แต่ที่นำมาใช้งานกับ USB3.0 ก็คือจะมีการใช้ชิปแปลงอินเตอร์เฟสมาอีกทีหนึ่ง สาเหตุที่ยังต้องเป็นแบบนี้ก็เพราะว่าตอนนี้ยังไม่มีบริษัทไหน เริ่มทำอินเตอร์เฟส USB3.0 สำหรับแฟลชเมมโมรีแบบตรงๆมาเสียทีครับ
…ดังนั้นจึงไม่น่าใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็นแฟลชไดร์ฟแบบ USB3.0 จะมีขนาดที่ใหญ่กว่าแฟลชไดร์ฟ USB2.0 ธรรมดาๆที่เราคุ้นเคยกัน หรืออาจจะมาในรูปแบบของ External HDD แบบ ADATA รุ่นนี้เลยก็เป็นไปได้เหมือนกัน
สายของ USB 3.0 ครับ ด้านขวามือจะเป็นส่วนที่ไว้เสียบเข้ากับพอร์ตที่คอมพิวเตอร์ของเรา ส่วนซ้ายมือจะเป็นส่วนสำหรับเสียบกับตัวอุปกรณ์ ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในพัฒนาการของระบบ USB ในเรื่องของสายสัญญาณและการเข้าหัวของสายสัญญาณอีกเช่นกัน
On USB 2.0 Mode
ประสิทธิภาพของตัวแฟลชไดร์ฟในโหมด USB 2.0 นั้นก็ออกมาเป็นแบบปกติครับ คือจะติดคอขวดของอินเตอร์เฟส 2.0 ที่จะมีความเร็วสูงสุดป้วนเปี้ยนอยู่ที่ราวๆ 27-30mb/s เท่านั้น ยิ่งพูดถึงความเร็วเขียน ก็จะยิ่งตกลงมากันใหญ่เลยครับ
On USB 3.0 Mode
พอมาถึงในโหมด USB 3.0 แล้ว เจ้า Flash Drive ตัวนี้ก็เริ่มออกฤทธิ์แล้วครับ ซัดไปเลยความเร็วอ่านเฉลี่ยที่ 106.1MB/S กับ Access Time ที่ต่ำติดดินกว่าเดิมอีก ค่า Access Time นี่ยิ่งต่ำยิ่งดีนะครับ
…ถามว่าความเร็วในระดับนี้ ถือว่าเร็วไหม ก็ตอบได้เลยครับว่า เร็วกว่า USB2.0 กว่า มากๆๆ และความเร็วระดับนี้ ก็แทบจะไม่ต่างอะไรไปจากการต่อแฟลชเมมโมรีแบบนี้เข้ากับอินเตอร์เฟสที่เราคุ้นเคยอย่าง S-ATA กันแล้วครับ ซึ่งจริงๆแล้ว เท่าที่ผมเคยพบเคยเจอมา แฟลชไดร์ฟแบบ USB 3.0 นี้จะสามารถทำความเร็วในการอ่านได้มากถึงราวๆ 160-170MB/s เลยทีเดียวนะครับ อันนี้ก็ยังถือได้ว่า เป็นการทดสอบโชว์กันแบบน้ำจิ้มๆไปก่อน ถ้ามีโอกาสอีกเมื่อไหร่ ก็จะนำมาทดลองใช้ดูเล่นๆกันอีกครับ
Performance
- รายละเอียดจาก CPUZ
...ซีพียู Core i7 620M ทำงานที่ความเร็ว 2.67GHZ พร้อมเทคโนโลยี Turbo boost เข้าไปอีก สิ่งที่ i7 นั้นมีเหนือกว่า i5 ตระกูล 5xx นั้นก็คือเรื่องของขนาด L3 cache ที่มีมากถึง 4mb และ ความสามารถในการควบคุมเมมโมรีที่ความเร็วสูงกว่า ในที่นี้คือ DDR3 1333MHz และกราฟฟิคการ์ดที่ติดมาให้ก็ไม่ธรรมดาเช่นกันครับ เป็น GT335 ที่มี ROP 8 ชุด และ 72Unified shaders พร้อมเทคโนโลยี Optimus ที่ซึ่งจะได้อธิบายอีกครั้งด้านล่างนี้ …(ยกยอดมาจากรีวิวของซัมซุงเลยนะครับ)
…ตัวเครื่องโนตบุก ที่รองรับเทคโนโลยี NVIDIA OPTIMUS นั้น จะเป็นการประสานการทำงานระหว่าง Graphics processor ที่เป็นชิปแยกอย่าง Geforce กับ Graphics processor ภายในตัวซีพียู โดยส่วนใหญ่แล้ว ระบบที่ใช้ Optimus นั้นจะใช้งานแสดงผลผ่าน Graphics processor ภายในซีพียู Intel เป็นหลัก และจะมีการเรียกใช้ชิป Geforce ที่เป็นชิปแยก เมื่อมีการใช้งานในด้านของกราฟฟิค โดยระบบจะทำการเปลี่ยนและสลับการทำงานโดย อัตโนมัติ โดยไม่มีอาการจอภาพมืดดับ ดีเลย์ หรือรีสตาร์ตเครื่อง และนอกจากนี้ ผู้ใช้ก็จะสามารถเลือกใช้งานตัวประมวลผลกราฟฟิคได้เองด้วยเช่นกัน ผิดกับระบบสลับการทำงานของกราฟฟิคที่สมัยก่อนผู้ผลิตโนตบุกจะพัฒนากันเอง ที่การสลับการทำงานของกราฟฟิคนั้นจะยังมีอาการจอภาพมืด ดีเลย์ หรือในบางครั้งต้องการรีสตาร์ตเครื่องด้วย
…ซึ่งผลลัพท์ที่ได้ก็คือ เราจะได้ใช้ Notebook ที่มีทั้งประสิทธิภาพกราฟฟิคที่ดีจากชิปของ NVIDIA ที่ซึ่งอาจจะมีการบริโภคพลังงานที่สูงกว่ากราฟฟิคแบบอินติเกรต และในเวลาที่ต้องการใช้งานแบบแสตนบายกับแบตเตอร์รี่ยาวๆ ก็สลับไปเลือกใช้กราฟฟิคอินตริเกรตเพื่ออัตตราการสิ้นเปลืองพลังงานที่ต่ำกว่านั้นเองครับ
สามารถเลือกใช้งานด้วยการคลิกขวาจากตัวไอคอนของโปรแกรมได้เช่นกัน แต่ต้องไปตั้งค่าเปิดเมนูแบบนี้ใน nvidia control panel เสียก่อน
- Super PI 1m
เข้ามาดูในเรื่องของประสิทธิภาพ ประเดิมด้วย Super PI 1M ก็ซัดไป 13.463 วินาที แรงกว่าโนตบุก 14 นิ้วอยู่หลายรุ่นมากๆแล้ว
- Cinebench R10
คะแนน Cinebench ก็ยังคงแรงมากๆ แรงกว่าโนตบุกมาตรฐานๆสำหรับทุกวันนี้อยู่พอสมควร ในการทดสอบทุกการทดสอบที่เกี่ยวกับพลังในการประมวลผล มาจากการเลือกใช้กราฟฟิค Geforce 310 นะครับ
- Cinebench R11.5
สองแต้มนิดๆ แต่สังเกตคะแนน Open GL นี่ทำออกมาได้ไม่ขี้เหร่เลยนะครับ
Batterry Eater (95-5) ทดสอบในโหมดประหยัดพลังงาน
การทดสอบ ล็อคความเร็วซีพียูในโหมดประหยัดพลังงานให้ได้ความเร็วต่ำที่สุด เลือกใช้กราฟฟิค Integrated และทดสอบด้วยโปรแกรม Batterry Eater ในโหมด Classic ซึ่งซีพียุและกราฟฟิคจะทำงานเต็ม 100% เวลาที่ได้ สามารถบ่งบอกได้ถึงเวลาที่สามารถนำเครื่องออกไปใช้งานในสถานการจริงได้ค่อน ข้างใกล้เคียง
http://vmodtech.com/main/wp-content/uploads/northbridge/asusn82/b/8_11_2010_1/Report.html
117 นาที หรือ 1 ชั่วโมง 57 นาที ก็ถือได้ว่าทำได้ไม่เลวครับ กับซีพียูแรงๆอย่าง Core i7 620 แต่เอาจริงๆแล้วก็คือกินไฟจุพอสมควร เพราะแบตเตอร์รี่นั้นขนาดก็ไม่ใช่น้อยๆ ใหญ่ถึง 63Wh เลยทีเดียว
Sisoft Sandra
PCmark 05
คะแนนในส่วนของ PCmark ผมติดปัญหานิดหน่อย เนื่องจากไดร์ฟเวอร์ Optimus ยังไม่สมบูรณ์ดีในเครื่องที่ผมทดสอบ จึงทำให้ผมต้องทำการทดสอบกับกราฟฟิคออนบอร์ด คะแนนที่ทำออกมาได้ก็ถือว่าไม่เลวครับ สังเกตที่คะแนน CPU ดีดี แรงเกินหน้าเกินตาเครื่อง 14นิ้ว มากๆ
3Dmark06
3Dmark06 นานๆทีจะได้เห็นคะแนนแบบนี้ใน Notebook นะครับ การทดสอบอันนี้ก็จะทดสอบกับ GT335 นะครับ ไม่ใช่ GMA HD แบบที่ตัวโปรแกรมมันโชว์
.
.
…Asus N82JQ นั้นก็เป็นโน๊ตบุ๊กอเนกประสงค์ ระดับกลางๆ ที่ให้เสป็คมาแบบไม่ธรรมดาเลยจริงๆ ทั้งเรื่องของความแรงจากซีพียู Core i7 620 และกราฟฟิคการ์ด GT335 พร้อมเทคโนโลยี Optimus ที่ผมบอกว่ามันเป็นเครื่องระดับกลางๆ ก็เพราะด้วยราคาของมัน ที่ตั้งเอาไว้ที่เพียงราวๆ 40000 บาทเท่านั้น เรียกได้ว่าคุ้มค่ามากๆ สำหรับราคาระดับนี้ ได้ทั้ง USB3.0 และความแรงจากทั้งซีพียูและการ์ดจอครับ บอดี้ก็ทำออกมา มี Texture ที่น่าสนใจมากๆครับ สุดท้ายแล้ว เครื่องรุ่นนี้จะถูกใจผู้ใช้หรือไม่ ก็อยากจะให้ลองไปสัมผัสตัวจริง กันก่อนที่จะตัดสินใจซื้อนะครับ เพราะจริงๆแล้วผมยังคงรู้สึกว่า ถึงแม้ภายใน จะมีประสิทธิภาพ และฟีเจอร์ที่น่าสนใจหลายๆอย่างในโน๊ตบุ๊กรุ่นนี้ แต่ในเรื่องของรูปลักษณ์ และตัวถังในจุดต่างๆ อันนี้จะเป็นรสนิยมส่วนตัวจริงๆ
.
.
ขอขอบคุณ Asustek THAILAND
ADATA